– ออโต้ริกชอว์นิวเดลี –
เขาเอามือตบหน้าผากตัวเองแรงๆ แสดงความไม่พอใจต่อเรา ผู้โดยสาร ที่ไม่ยอมจ่าย 1000 รูปีตามที่เขาขอ
เราสี่คนนั่งอยู่บนเบาะหลังของยานพานะรูปร่างคล้ายตุ๊กตุ๊ก ร่างกายอ่อนเปลี้ย ทั้งเพราะเดินเที่ยวเยอะ และเพราะเหน็ดเหนื่อยกับการต่อรองกับคนท้องถิ่นมาสองวันติดกัน
พี่ใหญ่ของกลุ่มตะโกนกลับไปอย่างเกรี้ยวกราด ปกติแล้วเขาเนิบๆ นิ่งๆ เสียงสนทนาเหมือนอ่านกาพย์กลอนอันวิจิตร แต่ครั้งนี้ต้องระเบิด เพื่อให้อินเดียชนแห่งนิวเดลีรู้ว่า “เห้ย พวกกูก็มีอารมณ์เหมือนกันนะ!”
เช้าวันที่สองในอินเดีย พวกเราไม่ได้ใสไร้เดียงสาอีกต่อไป แต่ทว่าก็ยังไม่ปีกกล้าขาแข็งพอ ในตอนสายของวัน ออโต้ริกชอว์สามคันเข้ารุมล้อมเมื่อเราต่อรองราคา ท้ายที่สุดเราเลือกคุณลุงสูงวัย ตัวผอมบาง ริ้วรอยบนใบหน้าหนาลึก เพราะความรู้สึกว่า เขาดูเป็นคนดีที่สุด
“Hello my friend!” หากเป็นแผ่นดินอื่น คำพูดนี้คงทำให้นักท่องเที่ยวอบอุ่นใจในต่างแดน แต่เมื่อเราได้ยินมันซ้ำๆ และนำไปสู่สถานการณ์น่าลำบากใจบ่อยเข้า เรากลับสะดุ้ง หันไปมองก็มีแต่ออโต้ริกชอว์ หรือไม่ก็นายหน้าของคนเหล่านั้น อินเดียชนคนทำงานทั่วไปเดินฉับไวตามจังหวะชีวิต เร็วเกินกว่าจะสนใจพวกเรา มีแต่พวกที่มองเห็นเราเป็นธนบัตรเดินได้ ที่เดินเข้ามาเกาะแกะอยู่นาน บางทีก็ทำตัวเหมือนกาวที่ติดหนึบ
มองหน้าลุง ตกลงราคาเหมาทั้งวันอยู่ที่ 400 รูปี พาขับเที่ยว 4 ที่ เป็นอันว่าวันนี้วางใจได้
แต่ในช่วงบ่ายแก่ เราสี่คนคลาดกัน เสียเวลาอยู่นาน ลุงคนขับทำท่าทางหัวเสีย พูดภาษาฮินดี ทั้งก็รู้ดีว่าเราไม่ใช่คนอินเดีย
“ต้องการอะไรวะ” คือคำถามที่เราทั้งสี่ต้องพ่นออกมาดังๆ
เกือบหมดแสงของวัน เขามาจอดหน้าสถานที่สุดท้ายที่ตกลงกันไว้ เราเหนื่อย แบบที่ไม่อยากจะขยับเดินไปไหน ชายหนุ่มคนเดียวของกลุ่มจึงบอกลุงว่า โอเค พอแล้ว เดี๋ยวจะจ่าย 400 ตามที่ตกลง
เขากลับหันหลังมาบอก
“วันเท่าซั้น รูปี”
อึ้ง.. นี่มันมากกว่าสองเท่า
เราต่อล้อต่อเถียงกันอยู่นานจนรู้สึกเสียเวลา และตกเป็นเป้าสายตาของคันอื่นๆ
ชายหน้าตาใจดีคนหนึ่งโฉบเข้ามา พูดคุยฮินดีกับคุณลุงให้จนยอมๆ กันไปในที่สุด หันมาบอกเราว่า “เพราะลุงแกแก่แล้ว อาจจะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารภาษาอังกฤษ”
เราคิดในใจว่า “หรอวะ ตั้งใจโกงชัดๆ ตอนนั้นก็ชูนิ้วมือสี่นิ้ว จดตัวเลขกลมๆ ในกระดาษให้ดู จะไม่รู้ได้ยังไง๊”
หันไปขอบคุณชายผู้ช่วยเหลือคนนั้น และเดินจากมา
เขาไม่ยอมให้เราไป…
บี๊บๆ ออโต้ริกชอว์กดแตร
มากับฉันสิ เดี๋ยวพาไป 400 รูปี “ไม่ไป” ไม่ไปหรอ แล้วคุณจะไปไหน กลับโรงแรมหรอ โรงแรมอยู่ไหนล่ะ คำปฏิเสธใดๆ ก็สามารถต่อยอดกลายเป็นคำเสนอที่เขารอสนอง
…. มาอีหรอบเดิมอีกแล้ว
ไม่ไปๆ เราโบกมือ
“my friends!!” เขาตะโกนในสายลม เข้าหูซ้าย ทะลุรูทวารเราออกไป
ไม่ เพื่อนกันไม่ทำแบบนี้
![]() |
กลุ่มคนขับออโตริกชอว์ที่สถานีรถไฟ ใจดี และไม่เซ้าซี้ |
– สุรพี on the train –
เธอนั่งบนเบาะนอนเดี่่ยวริมหน้าต่าง เอาหัวพิงกระจก คุยโทรศัพท์มือถือด้วยท่าทีสำรวม ยิ้มบางๆ บนใบหน้าคมสวย เดินทางไปจ๊อดห์เปอร์เพียงลำพัง
เราคงไม่ได้คุยกัน ไม่ได้รู้จักกัน ไม่ได้แลกเปลี่ยนรอยยิ้มกัน
หากว่า เพื่อนของเราไม่ได้อยู่ใน waiting list ของขบวนรถไฟ
รายชื่อผู้โดยสารแปะไว้บนทางเข้าขบวนรถ เรามากันสี่ แต่มีเพียงสาม ที่ระบุอยู่บนนั้น
รถไฟออกตัวมาไกล ผู้ตรวจตั๋วเดินมา ไขข้อสงสัยให้กระจ่าง
“รายชื่อคุณอยู่ใน waiting list นั่นหมายความว่า คุณต้องไปนอนอีกโบกี้ที่จัดแยกไว้”
มันอยู่ไกลไหม.. ไกลมาก อยู่อีกฟากของขบวน
เราสบตากันอย่างกังวลใจ ไม่มีใครอยากแยกไปไกล
เราหันไปมองหญิงสาวฝั่งตรงข้าม เธอช่วยเจรจากับนายตั๋วให้ แต่ก็ไม่สำเร็จ ได้แค่ต่อรองว่าขอนั่งอยู่ตรงนี้จนกว่าเจ้าของที่จะมา
บทสนทนากับสาวสวยแห่งจ๊อดห์เปอร์จึงดำเนินต่อ
เธอเป็นวิศวกรอยู่ที่นิวเดลี นานๆ ครั้งจะกลับไปเยี่ยมบ้านที่มีชื่อเรียกขานว่า “เมืองสีฟ้า”
แล้วตัวเธอล่ะชื่ออะไร “ซู้หร่ะบี้”
อ๋อ สุรพี เราคิดเองเออเองเพื่อให้จำชื่อง่ายๆ
เมื่อพวกเราหยิบเสบียงที่ประกอบด้วยขนมปังตัดขอบแฟบๆ กลิ่นเหมือนสบู่ในกระเป๋า และน้ำพริกแห้งเหนียวในบรรจุภัณฑ์พลาสติกออกมา สุรพีก็มองอย่างสนใจ เราชวนเธอกิน แต่เธอเป็นมังสวิรัติ เธอยื่นแผ่นแป้งที่ทำเองให้แทน บอกว่าเป็นสูตรใส่เครื่องเทศคูมิน ทำให้แป้งมีกลิ่นหอม
เธอเปิดกล่องเหล็กออก กลิ่นหอมจาง ทำให้ความเกรงใจไม่มีเหลือ
เราฉีกแบ่งกัน เคี้ยวอย่างอร่อย พยักหน้าว่า ฝีมือใช้ได้จริงๆ แล้วหันกลับมามองเสบียงอันแห้งเหี่ยวของตัวเอง
“looks like rubber” หญิงสูงวัยชาวสแกนดิเนเวียน เจ้าของที่นั่งข้างเรา แสดงความเห็นต่อน้ำพริกเหนียวๆ เกาะก้นถ้วย พวกเราหัวเราะอย่างเห็นด้วย
“ไช ไช ไช” เสียงตะโกนกังวานของคนขายชาดังมาตามทางเดิน สุรพีออกเงินซื้อชาเลี้ยงเราทั้งหมด รวมทั้งสาวสแกนดินเนเวียน เสียงพูดคุยเงียบลง เราประคองถ้วยไชบอบบางในมือ
นั่นน่าจะเป็นครั้งแรกที่ต่อมรับรสเราได้สัมผัสไช ชาละมุนกลิ่นเครื่องเทศของอินเดีย
มันอุ่นประทับใจแต่แรกเจอ
“ธันยะวาดะ สุรบี” เราขอบคุณเธอ
– ค่าเสียหายจากการรอ –
เราตาลีตาเหลือกจนมาถึงสถานีรถไฟตอนสองทุ่ม เหตุเพราะก่อนนี้เข้าใจผิดว่าต้องขึ้นรถไฟที่สถานีอะกรา แต่พอให้คนท้องถิ่นดูตั๋ว เขาทำหน้าอึ้ง บอกว่าไม่ใช่ สถานีนี้อยู่ไกลออกไปมากๆ เลย จะไปทันหรือเปล่าไม่รู้
ถ้าตกรถไฟ หมายความเราจบ เพราะไปไม่ถึงวารานสี ที่ที่เราจะต่อเครื่องบินกลับเดลี
วิ่งแบบหมีขาวที่โดนน้ำร้อนลวก เป้ขนาดใหญ่อยู่บนสองบ่า เรามาหยุดหอบอยู่ข้างราง ถามเจ้าหน้าที่ในชุดสีแดงว่าขบวนที่ระบุในตั๋วมาหรือยัง
“ยังๆ เดี๋ยวคุณรอตรงนี้นะ แล้วผมจะบอกเอง”
โอ้ ใจดีจัง โอเค วางใจได้แล้วทีนี้ พวกเราวางกระเป๋ากองบนพื้นสถานี
1 ชั่วโมงผ่านไป เราเริ่มเหม่อมองชีวิตที่ผ่านมาผ่านไป โน่นคนขายหนังสือพิมพ์ โน่นแม่จูงลูกหน้าตาเขรอะ นั่นนักท่องเที่ยวคู่รักชาวญี่ปุ่น ฯลฯ ทำไมมันนานจังวะ!
ขบวนแล้วขบวนเล่า เทียบจอด แต่ไม่ใช่ขบวนของเรา เจ้าหน้าที่ชุดแดงหันมามอง โบกมือว่า ยังไม่ใช่ๆ
เมื่อรถไฟเทียบจอด เราถอนใจโล่งอก ทยอยวางเป้สอดใต้ที่นั่ง
มองหน้ากันเงียบๆ ความเหน็ดเหนื่อยส่งถึงกันผ่านสายตา
“200 รูปี เพราะว่ารถไฟเลท เลยเพิ่มราคาตามชั่วโมง” ชายชุดแดงโผล่มากลางวง ยื่นมือ ใช้ปลายนิ้วโป้งชี้ลูบกันเป็นสัญลักษณ์ขอเงิน
พวกเราเงยหน้าไปเนือยๆ “รถไฟเลท แล้วทำไมต้องเป็นเราที่จ่ายเพิ่ม?”
สุดท้ายก็เข้าใจ เขาไม่ใช่เจ้าหน้าที่สถานี แต่เป็นคนรับจ้างนักท่องเที่ยวคอยบอกขบวนที่ถูกต้องให้ เรายืนยันจะไม่จ่าย เพราะไม่รู้ และไม่ได้ตกลงกันไว้
“ใครๆ ก็จ่ายทั้งนั้น ฝรั่งคู่นั้นก็จ่าย” เขาไม่ยอมเลิก สะบัดมือลงมา
“ยูโน.. วีอาร์พัวร์” เราตอบอย่างนั้น หวังให้เขาจากไป แต่เพื่อนร่วมวงกลับหัวเราะอย่างกลั้นไม่อยู่
รถไฟเคลื่อนตัวออก เรารวบรวมเศษตังค์บางส่วนให้ไม่ถึง200 เขาหันไปมองนอกหน้าต่างที่เคลื่อนไหวอย่างกังวล แล้วก็ยอมออกไป
“ยังไงแม่งก็ต้องออกไปอยู่แล้ว ไม่น่าให้เลย”
– ราจู ผู้ยิ่งใหญ่บนสามล้อ –
เขาฝ่าวงล้อมออโต้ริกชอว์คันอื่นที่เสนอราคาบ้าเลือด บอกสั้นๆ ง่ายๆ ว่าราคานี้ขาดตัว และจะไม่เซ้าซี้
มันไม่ได้ถูกจนเราพอใจ แต่บางอย่างในแววตาเขาบอกว่า มีบางสิ่งที่ถูกต้อง ในการตัดสินใจร่วมทางกันครั้งนี้
ราจูเป็นคนขับที่ตรงไปตรงมาที่สุดเท่าที่เราเคยเจอ ดูเหมือนเขาขับรถเพราะชอบ มากกว่าเพราะแร้นแค้น เสื้อโปโล และกางเกงขายาวสีพื้น หมวกแก้ปที่สวมเอียงข้าง แสดงชัดว่าราจูไม่เหมือนคนทั่วไป เขาแนะนำเราในการต่อกรกับคนท้องถิ่น ออกตัวต่อราคาให้เมื่อเห็นว่าคนขายขายแบบน่าเกลียด ออกเงินให้แทนเมื่อเราไม่มีเศษตังค์ และที่สำคัญคือไม่พยายามโก่งค่าบริการ เมื่อพาไปสถานที่อื่นเพิ่มเติม
“จ่ายเท่าที่อยากจ่าย” นั่นคือคำเสนอของเขา
จากคนขับสามล้อถีบศตวรรษที่ 20 สู่ออโตริกชอว์ในปัจจุบัน ในขณะที่คนขับอื่นๆ เพิ่มมูลค่าตัวเองด้วยคำพูดและเล่ห์เหลี่ยม ราจูทำให้เรารู้ว่าต้องจ่ายมากเพียงใด ด้วยบริการของเขาเอง
ระหว่างเส้นทางยาวไกล ราจูไม่ได้พูดเรื่องพื้นๆ ทั่วไป เขาพูดถึงปรัชญาการใช้ชีวิต เขาทำงานเมื่ออยากทำ พอใจกับจังหวะชีวิตที่กำหนดเองได้ รักการบริการ วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของคนขับอื่นๆ ที่มีแต่ลดทอนค่าของตัวเอง
เมื่อถามว่า เขามีครอบครัวหรือไม่
มีสิ แต่อยู่ที่มุมไบ ลูกชายสองในสามคนเรียนจบมหาวิทยาลัย มีงานการทำในเมืองใหญ่ อีกคนเปิดกิจการร้านขายของเพราะไม่ชอบเรียนหนังสือ นานๆ ทีเขาก็ไปเยี่ยม แต่เขาอยู่อะกรา เนื่องจากอยากประกอบอาชีพนี้
ผมสีขาวติดหัว และรอยย่นบนหางตา สะท้อนบนกระจกมองหลัง ทำให้สงสัยอยู่หน่อยๆว่า จำเป็นหรือไม่ที่วันนี้ เขาต้องมาขับรถให้เรา