แค่เริ่มต้นเบาๆ เราก็ได้ชิมรสชาติที่แตกต่างในอาเซียนแล้ว ทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย
เราตั้งใจจะมาเขียนเรื่องวรรณกรรม 3 เรื่องแรกที่ปรากฏอยู่ใน Anthology ของซีไรต์ เรายอมรับว่าไม่ใช่นักวิจารณ์วรรณกรรมที่ไหน (แค่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้) แต่ก็ถือว่ามาเล่าสู่กันฟังเท่าที่ภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่นของเราจะอ่านเข้าใจ ในฐานะที่มีโอกาสได้ครอบครองหนังสือเล่มนี้
#1 Asia Reads
เรื่องแรกมาจากนักเขียนชาวอินโดนิเซีย ชื่อ Afrizal Malna จากจาการ์ตา เมืองที่กำลังจะมีเทศกาลวรรณกรรมอาเซียนวันที่ 15 มีนาคมที่กำลังจะถึง เรื่องนี้เป็นบทกวีสั้นๆ หน้าเดียว ประมาณ 3 บท ชื่อว่า Asia Reads ใจความของบทกวี เป็นการระลึกให้เห็นภาพที่ขัดแย้งกันของเทคโนโลยีและตลาดโลกที่เข้ามาครอบงำความเป็นเอเชีย ทั้งในแง่ความเชื่อ (“gods”) และวัฒนธรรม (“words”) เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรารู้สึกได้ตั้งแต่ชื่อเรื่องก็คืออัตลักษณ์ความเป็นเอเชีย ที่ไม่ได้ผูกติดอยู่ที่ประเทศของกวีเท่านั้น
Malna ใช้ศัพท์อย่าง “TV antennae” (เสาทีวี) “gasoline” และ “petroleum” มาสอดแทรกเล่นล้อกับสิ่งพื้นบ้านที่อยู่ในถิ่นฐานเอเชียแต่เดิม อย่างความเชื่อเรื่องบรรดาเทพเจ้าหลายองค์ที่ถูกทำให้เป็นตำนานเก่าครึด้วยเสาทีวี หรือถ้อยคำ (วรรณศิลป์) ที่ตอนนี้เจือกลิ่นน้ำมันดิบ แม้จะไม่ได้ทำภาพของเทคโนโลยีจากภายนอกเหล่านี้ดูเลวร้ายถึงขั้นเป็นปิศาจ แต่ผู้อ่านย่อมจะรู้สึกถึงความเป็นอื่น ไม่เข้ากัน ที่เข้ามาแทรกแซงจิตวิญญาณแท้เดิม ระหว่างนี้เราก็จะพบภาพการแทนที่สิ่งที่เป็นธรรมชาติด้วยตลาดและอุตสาหกรรม ในตอนท้ายของบทกวีคือการหวนให้นึกถึงเสียงคำรามของมหาสมุทร ที่จะกลับมาปลุกพลังสร้างสรรค์อีกครั้ง และจบปิ๊ง ด้วยคำว่า Asia. ที่บรรทัดสุดท้าย เป็นการเน้นย้ำใจความบทกวีอีกครั้ง
อุปสรรคของการอ่านบทกวีนี้คือ หนึ่ง เราไม่รู้ว่าฉันทลักษณ์ของอินโดนีเซียเป็นอย่างไร จึงไม่อาจเสพความงามได้อย่างที่ควรเป็น สอง ภาษาที่แปลมา แม้จะเป็นภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากลก็ตาม แต่ก็มีการสลับไปใช้คำโบราณซึ่งต้อง ‘เปิดดิคแปบ’ ก่อนจะมาถึงบางอ้อ (ที่สุดท้ายอาจจะเข้าใจคาดเคลื่อนไปอย่างช่วยไม่ได้) สุดท้ายคงเป็นเรื่องที่ผู้แปลไม่ได้เลือกคำกลอนให้มีสัมผัส อารมณ์ที่ได้ก็เลยเหมือนอ่านกลอนเปล่า แต่ถึงอย่างนั้นการใช้ภาพพจน์ของกวีก็ทำได้ดี ข้ามพรมแดนภาษาจริงๆ
Afrizal Malna ได้รับรางวัลซีไรต์เมื่อปี 2010 อายุขณะนั้นก็คือ 53 ปี นอกจากเป็นกวีแล้วเขายังเขียนเรื่องสั้น มีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารหลายฉบับของอินโดนีเซีย ในวิกิพีเดียยังระบุว่าเขาเป็นนักเคลื่อนไหวด้วย
#2 Their Names
อีกหนึ่งบทกวี คราวนี้มาจากประเทศฟิลิปปินส์ ประพันธ์โดยกวีและนักเขียนชื่อ Michael Coroza เขาจบถึงระดับปริญญาเอกด้านวรรณกรรมฟิลิปปินส์และการแปล นอกจากนี้ยังได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นผู้รื้อฟื้นรูปแบบกลอน (จะเรียกว่าฉันทลักษณ์ได้ไหมนะ) แบบดั้งเดิมของฟิลิปปินส์ที่เรียกว่า balagtasan
มาพูดถึงบทกวีของเขาในเล่มนี้ดีกว่า ชื่อว่า Their Names .. อืม แค่ชื่อก็ชวนสงสัยแล้วว่า ใคร ชื่อใคร อะไร ยังไง แต่บอกเลยว่าพออ่านไปแล้วเราก็ยังงงอยู่ดีว่าพูดถึงใคร
“พวกเขา” ที่ Coroza อาจหมายถึงบรรพชนที่เป็นต้นแบบให้คนรุ่นเขา ซึ่งเราเองไม่แน่ใจว่าหมายถึงบรรพชนที่เป็นกวีฟิลิปปินส์หรือบรรพชนที่ไปรบทัพจับศึก อันนี้อาจจะต้องไปดูประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์เพื่อความเข้าใจ ดูเหมือนว่า บรรพชนเหล่านี้จะเป็นสาเหตุที่หล่อหลอมให้คนรุ่นหลังอยากเดินตาม แม้จะเห็นอยู่ตำตาให้ช้ำใจว่าอนุสาวรีย์ของพวกเขาดูไร้ค่า เป็นที่เหยียดหยามของเหล่าสรรพสัตว์และคนเมาซึ่งไม่ได้รู้เลยว่าอนุสาวรีย์นี้คืออะไร เป็นตัวแทนของใคร และมีค่าควรนับถืออย่างไร กลอนจบด้วยการแสดงให้เห็นความขัดแย้งในใจ ว่าสุดท้ายแล้ว เราจะเดินตามคนรุ่นก่อนหน้าต่อไปแม้จะต้องสู้กับความเห็นแก่ตัวที่อยู่ภายในลึกๆ ที่อยากจะดิ้นออกมา
โดยรวมแล้ว เราไม่ค่อยเข้าใจบทกวีนี้เท่าอันแรก อาจจะเพราะพรมแดนความเข้าใจประวัติศาสตร์ของชาติอื่นนั้นยังมีอยู่จริง หรือไม่เข้าใจบริบทของผู้เขียนขณะแต่งกลอนนี้ออกมา แต่อย่างน้อยเรื่องนี้เรายังพบจังหวะของบทกลอนอยู่บ้าง
Coroza ได้รางวัลซีไรต์เมื่อปี 2007 ตอนเขาอายุ 38 ปี นอกจากทำงานเขียนของตัวเองแล้ว ในอีกด้าน เขามีบทบาทในด้านการแปลวรรณกรรม
#3 The Capital
เป็นเรื่องสั้นของวาณิช จรุงกิจอนันต์ ทั้งๆ ที่อ่านเป็นภาษาอังกฤษ แต่เรากลับสนุกกับเรื่องนี้ได้ไม่ยาก เพราะพอพูดคำไหนในบริบทไทยๆ เราก็เห็นภาพทันทีว่าหมายถึงอะไร หน้าตายังไง คุณวาณิชได้ซีไรต์ตอนอายุ 36 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2527 หรือ ค.ศ. 1984
อย่างที่ชื่อเรื่องบอก เรื่องนี้คือเรื่องของชีวิตชาวกรุงเทพฯ ที่ผ่านมากี่ พ.ศ. เราก็ยัง อ๋อ ไปกับเนื้อเรื่องได้ เพราะมันแทบไม่เปลี่ยนไปเลย
ตัวละครเอกต้องรีบหนีฝนกลับบ้านหลังเลิกงาน รีบจับรถเมล์ แม้ว่าจะเบียดเสียดเป็นปลากระป๋องก็ต้องยอมไปตามมีตามเกิด เพราะเมฆฝนมันบีบบังคับ เรื่องสั้นกินความยาว 11 หน้านี้คือบันทึกการเดินทางอืดเฉื่อยแสนทรมานในรถเมล์ร้อนกรุงเทพฯ “เมืองหลวง” ที่เราคุ้นเคยดี อ่านไปก็เพลิน แม้เนื้อเรื่องจะไม่ได้เดินไปไหนไกล เพราะเหมือนมีใครสักคนมาบ่นนินทากรุงเทพฯ คนสนิทนี้ให้เราฟัง แล้วเราก็ได้แต่พยักหน้าหงึกๆๆ ใช่ว่ะๆๆ สมัยโน้นก็เป็นหรอ… ให้ตาย อืมๆๆ (30 ปีแล้วนะครับโผมมมม)
สิ่งที่เราได้จากเรื่องนี้คือ เรารู้สึกว่า รถเมล์ คือ Melting pot ของหลายชนชั้น ผู้เขียนอธิบายเครื่องแบบของคนบนนั้นว่า มีทั้งคนที่หน้าตาเหมือนมาจากอีสานและน่าจะทำงานก่อสร้าง มีชายหนุ่มพนักงานบริษัท มีนักศึกษา มีแม่ค้าแผงลอย และยังมีพนักงานขายในห้างสรรพสินค้า นั่ง-ยืนแออัดอยู่ในรถคันเดียวกัน ในจราจรที่เกือบอัมพาต และ….โคตรร้อน
ทุกคนเหนื่อย หงุดหงิด ตั้งคำถาม — ทำไมกูต้องมาอยู่ที่นี่วะ? แต่ก็ไม่มีใครลงจากรถ
และแล้วเพลงลูกทุ่งที่ดังขึ้นจากปากชายคนหนึ่งก็ทำให้บรรยากาศดีขึ้น ตัวเอกผู้เล่าเรื่อง พอได้ยินเพลงนั้นก็รู้สึกคิดถึงบ้านและคนรักในชนบท ในหัวเต็มไปด้วยภาพมโนแสนสวยงาม แต่กลายเป็นว่า หลังจากร้องเพลงจบ ได้เสียงปรบมือจากคนบนรถ ผู้ให้ความบันเทิงกลับต้องร้องไห้ และเดินลงจากรถไป
คำถามที่หนึ่ง ในขณะที่ไม่มีใครอยากอยู่กรุงเทพฯ ทำไมพวกเขาก็ยังไม่ไปไหน คงเป็นความรู้สึกเดียวกับว่า ถ้าลงรถเมล์คันนี้ไป ก็ไม่เห็นทางอื่นที่จะนำตัวเองไปสู่ปลายทางได้ ผลลัพธ์ก็คือความเบียดเสียด แก่งแย่ง (มีฉากที่ตัวเอกใช้ขากันคนอื่น เพื่อจองตำแหน่งที่นั่งบนรถเมล์ด้วย) แต่ขณะเดียวกัน ก็ก่นด่าสิ่งที่ตัวเองเผชิญตลอดทาง
คำถามที่สอง ชนบทสวยงามจริงไหม เนื่องจากเราอ่านเรื่องสั้นนี้ในศักราชนี้ เราจึงส่ายหัวบ้าง เมื่อบอกว่าชนบทสวยงามอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะคงเศร้าแย่ ถ้าตัวเอกและคนบนรถพบว่า บ้านเขาตอนนี้ก็ไม่เหมือนเดิมแล้วนะ อย่างน้อย นั่นคือสิ่งที่เรารู้สึกกับบ้านเกิดของเรา
คนรักที่ว่าจะไปหาเขาก็ไม่จำเป็นต้องรอเรากลับไปซะหน่อย
อีกอย่างหนึ่งที่ตลกแปร่งๆ ก็คือ เมื่อต้องอ่านเนื้อเพลงลูกทุ่งเป็นภาษาอังกฤษ จะทำยังไงก็ไม่ซึ้งได้อารมณ์เหมือนที่ตัวละครเอกรู้สึกสักที!
—
ยังเหลืออีก 32 เรื่อง จะอ่านหมดไหม โปรดติดตาม..