02 Beyond borders

สำหรับวันนี้ บทรีวิวหนังสือ Beyond Borders จะมาพูดถึงเรื่องที่ 4-6 ซึ่งประกอบด้วยนักเขียนชาวมาเลเซีย ลาว และกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่อาณาเขตติดไทยทั้งหมดเลย

#4 Are You Still Playing Your Flute?

งานเขียนชิ้นนี้เป็นบทกวี (อีกแล้ว) เขียนโดยกวีหญิงชาวมาเลเซีย ชื่อ Zurinah Hassan ประกอบด้วยกลอน 3 บท ทุกบทจะขึ้นต้นด้วยประโยคคำถาม “Are You Still Playing Your Flute?” เช่นเดียวกับชื่อบทกวี น่าจะเป็นเทคนิคที่เรียกว่า anaphora

ความน่าสนใจของบทกวีนี้อย่างแรกเลยคือ รู้สึกว่าอ่านแล้วมันมีจังหวะในแต่ละวรรค มีการแบ่งสัดส่วนชัดเจน แม้ว่าจะไม่มีสัมผัส แต่เนื้อหาหรือรูปประโยคค่อนข้างมีสัดส่วนเสมอต้นเสมอปลายตั้งแต่บทแรกถึงบทที่สาม

บทแรก เป็นบทเปิดที่บรรยายความงามของการเป่าขลุ่ยไม้ไผ่ พูดถึงความโหยหาถึงเสียงบรรเลงนั้นที่ประกอบจากช่องเรียวบางในขลุ่ย ลมหายใจ จังหวะนิ้วมือ และสายลม บทนี้จึงเปิดมาด้วยอารมภาพที่เป็นบวก แต่ก็เจือความเศร้าว่าเหตุใดจึงเป็นได้แค่สิ่งที่ต้องโหยหา

บทที่สอง เริ่มมีการบรรยายบรรยากาศปัจจุบัน หมู่บ้านที่เงียบสงัดและถูกทิ้งร้าง ไร่นาเสียหาย แม้แต่ช่วงเวลาที่จะได้ชื่นชมธรรมชาติยังกลายเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม บทนี้คงเริ่มเป็นการขมวดปมให้เกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับความสวยงามที่สูญหาย

บทที่สาม กวีใช้คำว่า “you” อีกครั้ง เพื่อตั้งคำถามกับผู้เป่าขลุ่ย ซึ่งตรงนี้ เราก็คิดว่าความรู้สึกที่โหยหาเสียงขลุ่ยน่าจะมีความหมายในทางลบ บทกวีจบลงด้วยการบอกชะตากรรมคนรอบตัวของผู้เล่า บรรดาน้องชายต่างไร้งานทำและจิตใจหดหู่ ผู้คนในประเทศขัดแย้งกันเพราะการเมือง และเหล่ามิตรสหายก็โดนฆ่าฟัน มองในแง่นี้ ดูเหมือนผู้เป่าขลุ่ยที่ว่าน่าจะมีส่วนรู้เห็นในผลลัพธ์เหล่านี้ เหตุใดการกระทำที่ดูรื่นเริงจึงถูกผูกโยงกับเหตุการณ์น่าสลดใจ เราก็ยังไม่เข้าใจนัก

Zurinah Hassan ได้รับรางวัลซีไรต์เมื่อปี 2004 หรือเมื่อเธออายุ 55 ปี ถือว่าไม่ใช่น้อยๆ ในฐานะกวีหญิงที่ได้รับรางวัลมามากต่อมากแล้วก่อนหน้านั้น สำหรับคอกวีที่อยากอ่านงานของเธอในภาษาอังกฤษ เธอก็มีบล็อกเป็นของตัวเองที่ http://zurinah1306.blogspot.com/

#5 American Bones

อาจจะคุ้นชื่อนี้กันมาบ้าง เพราะนี่คือเรื่องสั้นจากงานซีไรต์ของนักเขียนชาวลาว บุนทะนอง ชมไชผน หรือ สหายไฟ ชื่อหนังสือกระดูกอเมริกันที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว แต่เราก็เพิ่งได้อ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในภาษาอังกฤษ

เรื่องสั้นเริ่มต้นด้วยประโยคขอความช่วยเหลือของผู้บุกรุก นั่นคือทหารอเมริกัน แม้จะเป็นการขอความช่วยเหลือแต่ก็เป็นสำนวนของคนที่คิดว่าตัวเองเหนือกว่า

บุตตาแก้ว ตัวละครเอกผู้เล่าเรื่อง มองเห็นความหยิ่งทะนงดูถูกคนอื่นของเจ้าหน้าที่อเมริกันในปัจจุบันที่ไม่เคยเปลี่ยนไปจากคนรุ่นก่อนเลย พูดจาดูถูกคนลาวในภาษาของตัวเองโดยไม่ทันได้คิดว่าคนลาวนั้นฟังรู้เรื่อง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เสียดสีในเนื้อเรื่องอย่างโดดเด่นก็คือ แท้จริงแล้ว คนลาวนั้นเหนือกว่าทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องอาหารการกินที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงกว่าคนต่างถิ่น การอยู่ในธรรมชาติโดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์มากมาย (ไม่บ้าแก็ตเจ็ตเหมือนพวกอเมริกัน) ความอ่อนแอเหล่านี้ ทำให้พวกเขาไม่แปลกใจเลยที่อเมริกาจะยึดประเทศลาวไม่ได้ และถ้าพูดถึงในปัจจุบัน ชาวอเมริกันเองก็ยังมีจิตใจกระหายสงคราม ในขณะที่ชาวลาวซึ่งถูกมองว่า “ด้อยกว่า” กลับมีความเมตตามากพอที่จะช่วยขุดหากระดูกทหารอเมริกันเพื่อส่งกลับไปให้ญาติพี่น้อง พูดง่ายๆ คือมีมนุษยธรรมมากพอที่จะช่วยเหลือคนที่พวกเขาเกลียดเข้ากระดูกดำ

สงครามจบลง พ่อแม่พี่น้องชาวลาวตายไปเป็นเบือ จึงไม่ต้องแบกรับความรู้สึกผิดที่ลูกชายตัวเองได้ไปคร่าชีวิตของใครๆ อย่างที่พ่อแม่อเมริกันต้องรู้สึกอยู่จนทุกวันนี้

แล้วลาวจะด้อยกว่าตรงไหน นับเป็นอารมณ์ขันที่กัดเจ็บ แบบคันยิบๆ ของผู้มีคุณธรรมมากกว่า

ตอนจบผู้เขียนเล่นล้อกับท่อนเปิด ด้วยการให้บุตตาแก้วพูดเป็นภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารกับคนอเมริกันด้วยรูปประโยคเดียวกัน (“I am Lao. I can speak your language.” ในขณะที่คนอเมริกันสมัยก่อนจะพูดกับพวกเขาว่า “I am American. I cannot speak your language.” ไม่คิดจะเรียนรู้ภาษา แล้วยังมีหน้ามาขอความช่วยเหลือ) แต่สิ่งที่บุตตาแก้วขอ ไม่ใช่แสดงความเห็นแก่ตัว แต่เป็นการขอเพื่อชีวิตของมนุษย์ทุกคน เขาขอให้ฝ่ายอเมริกันเลิกก่อสงคราม เพราะหากมันเกิดขึ้นอีกครั้ง ความรุนแรงของมันในครั้งนี้อาจจะทำให้ไม่มีแม้แต่กระดูกเหลือไว้ให้เก็บ

เป็นการจบแบบเจ็บๆ สั้นๆ ล้อเลียนอย่างผู้ชนะที่ยังไม่เลิกเจ็บใจแต่ก็พยักหน้าว่า โอเค ให้อภัยก็ได้ เราว่าชั้นเชิงการเขียนมีโครงสร้างดีและเฉียบคม แต่กับบางคนอาจจะรู้สึกว่ามันแอบเหยียดชาติพันธุ์แบบขั้วตรงข้าม อารมณ์ประมาณว่า แกเหยียดมา ฉันก็เหยียดกลับ คำว่าสันติภาพก็เลยกลายเป็นคำพูดเท่ๆ ที่เราไม่รู้ว่ามันจะเป็นจริงได้ไหม

บุนทะนอง ได้ซีไรต์ตอนอายุ 58 ปี นั่นคือเมื่อปี 2011 นี่เอง ในประวัติย่อของเขา (อย่างที่เราคาดเดาได้จากชื่อสหายไฟ) บ่งบอกว่างานเขียนของเขามุ่งเน้นไปที่เรื่องความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันของมนุษย์ และมีนัยยะการเมืองเยอะทีเดียว

#6 Buried Treasure

เรื่องนี้อ่านง่ายมาก เป็นเรื่องสั้นความยาวแค่สามหน้าและโครงเรื่องไม่ซับซ้อน เหมือนอ่านนิทาน เป็นผลงานของนักเขียนชาวกัมพูชาชื่อ Sok Chanphal เรื่องราวก็มีอยู่แค่ว่าตัวเอกฝันเห็นสมบัติใต้ต้นปาล์ม วันถัดมาก็พบว่าชาวบ้านในหมู่บ้านต่างก็ฝันเหมือนกัน แล้วก็แย่งกันขุด เจ้าหน้าที่รัฐโผล่มา ใช้อาวุธปืนยิงขู่ บอกให้ทุกคนถอยออกมา

ในเรื่องสั้นๆ นี้ เราจึงเห็นความสามัญในภูมิภาคอาเซียนถึงสองอย่าง อย่างแรกคือความเชื่อเรื่องสิ่งลี้ลับ การนับถือผีสาง  แม้ว่าจะไม่แน่ใจว่าจะเชื่อฝันได้หรือไม่ การพิสูจน์ว่าจริงหรือเท็จ ไม่ได้มาจากการขุดแล้ว “เจอ” หรือ “ไม่เจอ” แต่สรุปได้ทันทีจากข้อเท็จจริงที่ว่า “คนทั้งหมู่บ้านฝันเหมือนกันหมด” นั้นมันก็ต้องมีแน่ๆ!

ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐโผล่มาแบบฉลาดๆ ทำราวกับว่าจะมายุติความวุ่นวายจากเรื่องงมงาย แต่ที่แท้เขาก็เป็นตัวแทนของอำนาจรัฐแบบเชยๆ ที่ใช้อำนาจแข็ง (hard power) นั่นคือปืนและเครื่องแบบที่มี ข่มขู่ให้ชาวบ้านร้านตลาดถอยไป แล้วตัวเองก็บอกว่า “ถ้ามันมีสมบัติจริง มันก็เป็นสมบัติของชาติ” อ่านท่อนนี้แล้วตลกมากเมื่อนึกถึงบ้านเมืองตัวเอง เล่นบทคูลๆ เหนือๆ แล้วก็เป็นตาอยู่ที่มาเดี๋ยวเดียว คว้าพุงเพียวๆ ไปกิน …แบบมีฟอร์มซะด้วย

ตัวละครอีกตัวที่โผล่มาแป๊บเดียว แต่สะท้อนระบบอุปถัมภ์ชัดเจนมากก็คือ ผู้ใหญ่บ้าน ที่ควรจะปกป้องผลประโยชน์ของลูกบ้าน แต่กลับบอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำถูกแล้ว มาสร้าง “ความสงบเรียบร้อย” ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐได้ใจ หันไปบอกว่า ดีมาก เดี๋ยวจะแบ่งสมบัติให้ (อ้าว เดี๋ยว! เมื่อกี้บอกว่าเป็นสมบัติของชาติไม่ใช่เหรอ!?)

เทคนิคการเล่าเรื่องไม่ซับซ้อนและจบแบบทวิสต์เอนดิ้ง ง่ายๆ ก็คือเมื่อขุดไปเจอหีบเหล็กที่ทุกคนหมายปอง ตัวละครเอกก็เดินออกมาเพราะคิดว่าตัวเองต้องไม่ได้ส่วนแบ่งแน่ๆ แต่กลับกลายเป็นโชคดี เขารอดชีวิตจากระเบิดในหีบนั้นที่ดังตามหลังมา

Sok Chanphal เป็นนักเขียนซีไรต์อีกคนหนึ่งที่ได้รางวัลตั้งแต่อายุยังน้อย เขาได้รางวัลนี้ไปเมื่อปี 2013 ซึ่งเขามีอายุเพียง 29 ปีเท่านั้น นอกจากเขียนนวนิยายออกมาถึง 5 เล่มแล้ว เขายังเป็นนักเขียนบทละคร และเป็นนักแต่งเพลงที่เป็นที่นิยมอีกด้วย

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.