วันนั้นเรานั่งคุยกับชาวเมียนมาร์อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เขาว่ากันว่าเป็นสายเลือดหลักของกรุงรัตนโกสินทร์
เมย์ ตะ ข่าย (May Thet Khine) หยิบกระดาษและดินสอขึ้นมา “โอเค เราต้องเขียนไปด้วยเพื่อจะได้มีสมาธิตอบคำถาม” น้ำเสียงเธออ่อนโยนแต่จริงจัง เธอตอบภาษาอังกฤษคล่องแคล่วตามแบบฉบับหญิงสาวชาวย่างกุ้ง
ไม่ใช่ความแตกต่างหรอก แต่เป็นความกลมกลืนที่ดึงดูดเรา เมย์ทำงานขลุกอยู่กับโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ มาได้พักใหญ่ๆ ใช้สรรพนาม “พี่” “น้อง” และยังพูด “ค่ะ” อย่างเป็นธรรมชาติ เข้าใจบริบทสังคมไทยดี จนอาจบอกได้ว่าประเทศไทยก็กลายเป็นบ้านหลังที่สองของเธอแล้ว ดวงตางดงามจากต่างแดนของเธอสะท้อนเงาต้นไทรข้างร้านก็องดิดในยามเย็น

ต้นกล้าจากเมืองไกล
อาจจะขัดแย้งกับทัศนคติของคนไทยส่วนใหญ่อยู่บ้าง และแม้ปัญหาแรงงานเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือในประเทศเมียนมาร์ก็ยังคงมีอัตราสูงอย่างที่คิดๆ กัน แต่ความเป็นจริงแล้วมีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยในประเทศนี้ที่ได้รับการศึกษาซึ่งมีคุณภาพสูง กลายมาเป็นกำลังทางปัญญาที่สำคัญของประเทศ และเราคิดว่า เมย์ ตะ ข่าย คือหนึ่งในนั้น
ย้อนไปเมื่อปี 2551 หลังจากเรียนจบปริญญาตรีด้านเทคนิคการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเทคนิคการแพทย์ย่างกุ้ง เมย์ใช้เวลา 3 ปีเต็มต่อจากนั้น เก็บประสบการณ์ทำงานในห้องแล็บโรงพยาบาล และหาโอกาสไปพบเจอผู้คนโดยการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีหรือที่เรียกว่า peoHIV เกิดความคิดว่าโครงการเหล่านี้สำคัญต่อสังคมเมียนมาร์มาก เพราะหากประชาชนขาดความเข้าใจและไม่หาทางป้องกัน โรคระบาดก็จะกระจายไป ในวงกว้าง จากตรงนี้เองที่เธอเริ่มคิดอยากจะพัฒนาการศึกษาของตัวเองให้ดีขึ้น
“เราเริ่มสนใจจะเรียนต่อปริญญาโทด้านสาธารณสุขศาสตร์ โดยดูจากประโยชน์ที่สังคมจะได้รับด้วย”
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ช่วยนำพาดอกบัวดอกนี้ให้มาเบ่งบานในดินแดนสยาม
สายใยในโรงพยาบาล
“ตอนนี้เราทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่สนับสนุนด้านวัฒนธรรม (Cultural support officer) ก็คือการจัดการวัฒนธรรมที่แตกต่างของผู้คนในโรงพยาบาล คำคำนี้อาจจะดูประหลาด เวลาพูดว่าฉันเป็นครู เป็นหมอ หรือวิศวกร คนก็จะรู้จัก แต่กับตำแหน่งนี้ คนที่ได้ยินก็จะงง”
เรื่องจริงที่ต้องทึ่งก็คือโรงพยาบาลบางแห่งกรุงเทพฯ อาจมีจำนวนผู้ป่วยชาวเมียนมาร์มากกว่า 3,000 รายในช่วงเวลาเพียง 2-4 เดือน หน้าที่ของเมย์ก็คือประสานงานระหว่างผู้ป่วยเหล่านี้กับทีมแพทย์และพยาบาล เริ่มจากสอบถามอาการและนำส่งแพทย์ในแผนกที่เหมาะสม
“ชาวเมียนมาร์เช่นเดียวกับชาวไทยที่มีภาษาของตัวเอง ภาษาอังกฤษจึงไม่ใช่ภาษาแม่ของพวกเรา”
ถึงแม้ว่าชาวเมียนมาร์ที่มาใช้บริการจะค่อนข้างมีฐานะดีและสื่อสารภาษาอังกฤษได้บ้าง แต่หน้าที่ของเมย์ก็เป็นมากกว่าล่าม เพราะการสื่อสารที่นี่ต้องมีศัพท์การแพทย์ยุบยิบมากมาย หากไม่มีความรู้ด้านการแพทย์เลยก็ไม่ใช่ว่าจะมาทำหน้าที่นี้ได้ง่ายๆ เธอต้องอยู่ตรงนั้น เคียงข้างผู้ป่วยเสมอเมื่อใดที่ต้องพูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์
วันที่ฝนพรำ
จริงอยู่ หน้าที่ของเมย์คือการพูดคุย ดูเหมือนสนุกสนาน แต่ก็มีบางวันที่ฟ้าทะมึนและฝนพรำ
“เพราะในบางครั้งเราก็มีหน้าที่เจรจาต่อรองระหว่างคนสองฝ่าย โดยเฉพาะคนสองฝ่ายที่มีวัฒนธรรมต่างกัน และยังต้องทำให้คนไข้พึงพอใจ ต้องรับฟังทั้งคำขอ และการตำหนิการให้บริการ” เธอบอกว่าทำงานแบบนี้ต้องมีจิตใจบริการ และเครียดมากๆ เพราะไม่ได้ทำงานกับสิ่งของในห้องแล็บอีกต่อไป แต่ทำงานกับผู้คนที่มีหัวจิตหัวใจ ซึ่งถือเป็นงานที่ยาก
“โดยเฉพาะคนที่ป่วยด้วย” เราแหย่เล่น แต่คำตอบของเธอก็ทำให้เราชะงัก
“แต่เรารู้สึกดีที่ได้ช่วยเหลือคนที่ป่วยไข้นะ” เธออธิบายต่อไปถึงหลักศาสนาพุทธซึ่งสอนให้เธอมองเห็นข้อดีของการทำงานทุกอย่าง “พอได้เห็นรอยยิ้มจากคนที่เราช่วย ก็เกิดช่วงเวลาที่เราอยากสู้ต่อไปในวันพรุ่งนี้ ถือเป็นงานที่เครียดแต่ก็มีความสุขด้วย เราคิดว่าชีวิตมันไม่ใช่แค่การทำงานหาเงิน แต่ต้องเป็นงานที่ทำแล้วคนอื่นเห็นคุณค่า”
เธอหยุดคิด ก่อนพูดต่ออย่างระมัดระวังว่า “มันอาจจะไม่สำคัญสำหรับคนทั่วไป ก็ขึ้นอยู่กับมุมมอง แต่สำหรับเรามันสำคัญ … เราอาจจะโลภก็ได้นะ” เธอทำเสียงขี้เล่นที่ประโยคหลัง แล้วหัวเราะเบาๆ ทิ้งท้าย
หยั่งรากในบ้านเกิด
แน่นอนว่าการอยู่ในประเทศไทยไม่ใช่คำตอบระยะยาวของเธอ ในเมื่อจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธออยากเรียนต่อก็คือการได้สร้างประโยชน์ให้เพื่อนร่วมชาติ เมย์วางแผนไว้ว่าหากมีโอกาส เธอจะเรียนต่อให้ถึงปริญญาเอก ไม่ใช่ว่าเธอบ้าปริญญา เธอมีเหตุผลที่เราต้องตั้งใจรับฟังเสมอ
“เราอยากสอนหนังสือและอยากตั้งโครงการการกุศลเล็กๆ สิ่งที่ยากก็คือเรื่องเงิน และต่อให้มีเงินก็เถอะ การตั้งองค์กรแบบนั้นก็ต้องรู้จักคนมากพอ ซึ่งการเรียนต่อก็จะทำให้เราได้สร้างสายสัมพันธ์กับคนเก่งๆ ในประเทศที่จะมาทำงานด้วย คนที่มีแนวทางชีวิตเหมือนกันกับเรา”
หลายปีที่มาใช้ชีวิต ทั้งเรียนหนังสือและทำงานในกรุงเทพฯ เมย์ชื่นชมอาหารการกินที่หลากหลายและการเดินทางที่สะดวกสบายกว่าประเทศบ้านเกิดเธอ (ในตอนนี้)
แต่เธอก็ยังยืนยันว่า “แน่นอน เราอยากอยู่กับพ่อแม่มากกว่า”