จำปาดะในปัจจุบันขณะ

“ทยอยกันไปเอาปิ่นโตกลับกันนะครับ” สำเนียงปักษ์ใต้ลอยแว่วผ่านลำโพงวัด

“อันไหนไม่ใช่ของเติ้น ก็ไม่ต้องเอากลับ นี่เรามาทำบุญกัน”

เสียงครืดคราดของเก้าอี้พลาสติกดังในลานปูนของศาลา เบื้องหน้าคณะสงฆ์

โฆษกยังคงกล่าวต่อ “อ้อ แต่สำหรับใครที่หาไม่พบ ก็ไม่ต้องแช่งกันนะครับ สูญก็คือสูญ เตรียมใจไว้ว่า ซื้อใหม่ มาทำบุญกัน สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ” เสียงเขาแผ่วจางลงไป เพราะถูกกลบด้วยการพูดคุยจ้อกแจ้กจอแจ ตามประสาคนใต้ช่างจ้อ

เราตักกินผัดหมี่สีส้มโปรยไข่เจียวที่ชื้นแฉะเล็กน้อยเพราะน้ำฝน ชาวบ้านเริ่มหิ้วปิ่นโตออกมาจากศาลาแล้วหาซื้อขนมในบริเวณวัด แม่ค้าส่งหมูปิ้งใส่ถุงพลาสติกให้ พอหันไปก็เห็นกล้วยทอดและจำปาดะทอดนอนซับน้ำมันส่งเสียงจิกจักๆ สะเด็ดความร้อนระอุ

ในบริเวณวัดอุทัยชนาราม ตำบลกะแดะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก้อนกรวดเกือบทุกก้อนเปียกปอนด้วยสายฝน

เป็นสายฝนที่พรมละอองแผ่วบางมาตั้งแต่เมื่อคืน ชาวบ้านนั่งอยู่ใต้ชายคาที่คับแคบอย่างอุ่นหนาฝาคั่งเพื่อหลบฝน พวกเขามาทำพิธีที่เรียกว่า ทำบุญตายาย หรือ “ประเพณีงานบุญสารทเดือนสิบ”

เมื่อเช้านี้ เรามองรายชื่อบรรพบุรุษฝ่ายตาและยายของเราในแผ่นกระดาษ น่าประหลาดใจว่า มีมากกว่าสิบรายชื่อที่ถูกไล่ย้อนขึ้นไป ลูกหลานจดจำและสืบทอดรายชื่่อเหล่านี้มาเสมอ และหากลืมเลือน เพื่อนข้างบ้านก็คือญาติมิตรที่เราจะไปสอบถามฟื้นความจำกันและกันได้

เรามองรายชื่อฝ่ายยาย (หรือที่เราเรียกเป็นภาษาจีนว่า แหนะ) บางส่วนมีรายชื่อนำหน้าเป็นเด็กชายและเด็กหญิง เช่น ด.ญ.เอ้งโยว ด้วยเพราะโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้พวกเขามีโอกาสใช้ชีวิตเพียงช่วงสั้นๆ อาจไม่มีโอกาสได้พบหน้าลูกหลานตัวเองด้วยซ้ำ แต่ก็ได้รับการบันทึกเอาไว้ เพื่อให้ได้รับการอุทิศส่วนกุศลถ้วนหน้า

เครื่องถ่ายเอกสารส่งรายชื่อเหล่านั้นออกมาสิบชุด ไว้ใช้ในคราวต่อๆ ไป

หลังพระสวด เปลวไฟในอ่างสีเขียวเผาไหม้รายชื่อบรรพบุรุษที่ชาวบ้านนำไปรวบรวมใส่ไว้ในตอนแรกทั้งหมดจนกลายเป็นเถ้าสีดำ มีสายสิญจน์ระโยงระยางลงมาเกาะขอบอ่าง

เราเดินออกมาสู่ที่โล่ง

บนพื้นหญ้า มียกพื้นขึ้นสูงด้วยเสาทั้งสี่ด้าน พาดด้วยไม้กระดานง่ายๆ สูงประมาณระยะเอื้อมมือถึง บนนั้นมีบรรดาชุดของไหว้ตายาย ทั้งถ้วยโฟม แก้วน้ำ ถุงพลาสติกบรรจุขนม และธูปที่มีควันลอยเอื่อย แต่ไม่อาจต่อกรกับละอองฝนปรอย

“ข้างในนั้นมีขนมลา” เดต้วน น้าผู้ชายชี้ให้ดู “เค้าเชื่อกันว่า บรรพบุรษบางคนอาจไปเกิดเป็นเปรต จะกินอาหารธรรมดาไม่ได้ เลยต้องใส่ขนมลาที่มีลักษณะเป็นเส้นๆ ให้สอดเข้าไปในปากรูเข็มของเปรตได้” แต่ข้อมูลแหล่งอื่นก็ว่า มันถูกถักทอเป็นผืนเหมือนแพรพรรณ ส่งเป็นเครื่องนุ่งห่มไปให้คนในนรก ยกพื้นที่สูงขึ้นไป ก็เป็นการอำนวยความสะดวกให้บรรดาเปรตที่ตัวสูงชะลูด จะก้มลงมากินที่พื้นก็ไม่ถนัดนัก

นึกขึ้นมาได้ว่าตอนเชงเม้ง เราอาจจะเผากงเต๊กไปให้บรรพบุรุษบนสวรรค์ แต่ประเพณีของคนใต้นี้ได้คาดคะเนถึงความไม่แน่นอนของชีวิตหลังความตาย

ใครกันบอกได้ว่าพวกเขาจะไม่ตกจากสวรรค์แล้วกลายเป็นสิ่งที่มีบุญน้อยยิ่งกว่ามนุษย์ นี่เป็นเพียงการเผื่อใจไว้ก่อน วางใจบนความไม่แน่นอน ไม่ได้ถือเป็นการสาปแช่งดูหมิ่นบรรพบุรุษตัวเอง

ทำอย่างไรได้ หลังความตายเป็นอย่างไร ใครจะกล้ายืนยัน

เราหยิบจำปาดะทอดเข้ามากัด เผยให้เห็นเม็ดรสหอมมันสีขาวผ่อง

โฆษกกล่าวออกไมโครโฟนวัด เตือนคนที่ทำปิ่นโตหาย “อย่าเที่ยวไปสาปแช่งใคร สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจนะพี่น้อง สูญก็หาใหม่ ของอะไรหายก็หาใหม่กันได้ ลำบากหน่อยแต่ก็ไม่เดือดร้อนใจตัวเองนะ”

ผู้เฒ่าผู้แก่เดินถือปิ่นโตฝ่าละอองฝนบนถนนสายยาวกลับบ้าน ใบหน้าแช่มชื่น มิได้ยี่หระต่อสายฝนแต่อย่างใด

ใจเขาคงเย็นพอๆ กับสายฝนที่พรมลงบนตัวในตอนนั้น

4.10.2556 สุราษฎร์ธานี

—-

ดูภาพการทำขนมลา

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.