เรารู้จักงานวรรณกรรมหนักๆ ของทั้งไทยและเทศก็จากวารสารเล่มหนาๆ เล่มนี้ มีธีมที่ชัดเจนตั้งแต่วรรณกรรมบีทส์ วรรณกรรมรหัสคดี หรือวรรณกรรมเซอเรียล ซื้อมาหนึ่งเล่มก็อ่านจนตาแฉะ
ถึงแม้สุดท้าย เราจะไม่ได้อินกับวรรณกรรมที่เขาพูดถึงจนไปซื้อตัวบทมาอ่านเอง แต่ก็ยังซึมซับได้ถึงความจริงจังของกองบรรณาธิการ ระหว่างอ่านหนังสือเล่มนี้บนรถเมล์ตอนกลับจากโรงเรียน ก็คิดไปว่า จะมีคนอ่านอะไรแบบนี้สักกี่คนกันนะ คนทำโคตรเท่เลย
เมื่อเดินทางมาถึงประมาณเล่มที่ 15-16 วารสารเล่มนี้ก็หายไปคราวละนานๆ ต้องคอยไปถามในงานสัปดาห์ว่า “ยังทำอยู่หรือเปล่า” แล้วก็ดีใจที่เขายังทำอยู่ แม้จะระบุกำหนดการออกวารสารไม่ได้
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 เดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่นิตยสาร Writer ได้เปิดร้านหนังสือของตัวเองในย่านนางเลิ้ง วารสารหนังสือใต้ดิน หรือ Underground Buleteen (ซึ่งตั้งใจสะกดผิด) ก็ได้ถือโอกาสประกาศปิดตัวเองลงเช่นกัน
เราไม่ได้ใจหายเพราะห่างหายกันไปนานมากแล้ว แต่ตื่นเต้นที่จะได้เห็นเล่มตำนานของวารสารเล่มหนึ่งที่เราชอบมาหลายปี
บทสนทนานี้คัดมาจากการถอดเทปบทสัมภาษณ์ที่พี่หนึ่ง-วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ถามวาด รวี ผู้ก่อตั้งและฉุดกระชากลากเข็นวารสารมาจนถึงฉบับที่ 18 Under’Teen Forever นี้ เราไม่แน่ใจว่าบทสนทนาเต็มๆ จะมีใน Writer ฉบับต่อไปหรือเปล่า แต่เราคัดมาเท่าที่ตัวเองฟังแล้วรู้สึกกระทบใจ ในฐานะแฟนหนังสือคนหนึ่ง
พูดถึงวาด รวี มีสองภาพที่ผมนึกถึง ภาพที่หนึ่ง เป็นภาพหน้าศาลากลางนิตยสารเล่มหนึ่ง ผมกับวาด รวี นั่งกินเบียร์กัน คุยปะทะกันอย่างหนัก โดยวาด รวี น่าจะเป็นฝ่ายอัด อย่างที่ทุกคนคุ้นเคยเสมอ
นี่คือนักเขียนหนุ่มของเมืองไทยที่เอาจริงเอาจังมากๆ
ภาพที่สองก็คือ ภาพความตั้งอกตั้งใจ ราวกับสลักเสลาวรรณกรรม วาด รวี เป็นนักเขียนไทยคนหนึ่งที่ทำงานครบทุกบทบาทจริงๆ เริ่มจากเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่สนใจการอ่านหนังสือ จากบทบาทนักอ่านก็ขยับไปเป็นนักเขียน ขยับไปทำสำนักพิมพ์ ขยับไปทำหนังสือ ต่อจากนั้นก็ร้านหนังสือ
หนังสือเล่มนี้คงเป็นความผูกพันมากๆ เล่มหนึ่งของเขา เริ่มเมื่อปี 2547 ก็ประมาณ 10-11 ปี เป็นลูกนี่อยู่ ปอ 5 แล้วนะครับ ถามซื่อๆ นะครับ ว่ามีความอาลัยอาวรณ์อย่างไรไหม ที่จะประกาศหยุด ปกติหนังสือเขาจะปิดไปเงียบๆ นะครับ
Buleteen จริงๆ ผมเลิกทำครั้งแรกเมื่อปี 2551 ให้คุณชัยพร กิตติพล และปิยะวิทย์ ไปทำ แต่ก็ยังไปยุ่งกับพวกเขาอยู่ข้างหลัง
คราวนี้ที่เลิกเพราะประเมินกำลังแล้วรู้ว่าตัวเองมีแค่นี้ ผมทำวารสารหนังสือใต้ดินคนเดียวเป็นหลัก ใช้หลายชื่อ เขาจะได้ไม่รู้ว่าเราทำคนเดียว มีเพื่อนช่วยแต่เขาก็ไม่ได้มาเป็นทีมงานประจำ ประเมินกำลังและจิตใจ ถ้าผมมีพลังอะไรที่เหลืออยู่บ้าง ผมอยากใช้มันกับการเขียนเรื่องแต่ง
ผมขอขยายความนะครับว่า ทำคนเดียว คือทำอะไรบ้าง เป้เป็นเจ้าของทุน เป็นคนคิดประเด็น เป็นบรรณาธิการ คนสัมภาษณ์ ถ่ายรูป คอลัมน์วิจารณ์ จัดอาร์ตด้วย
เล่มสุดท้ายนี้ วาด รวี ตั้งใจจะสื่อสารอะไรเป็นพิเศษ ก่อนที่จะเปลี่ยนบทบาท
เนื่องจากวารสารหนังสือใต้ดินกำเนิดมาในฐานะที่เป็นกลุ่มนักเขียนใหม่ แสวงหาพื้นที่แสดงงาน รุ่นผมเป็นหลังวิกฤตเศรษฐกิจ มีทั้งดีและลบ ในด้านลบคือสถานการณ์ธุรกิจการพิมพ์มันชะงัก ล้มไปหมด คุณไปเสนอต้นฉบับที่ไหน เขาก็ไม่พิมพ์ให้คุณ แต่ด้านบวก คือ มันเปิดพื้นที่ให้เรา เพราะไม่มีใครทำ นักเขียนลุกขึ้นมาทำกันเอง
ผมไปสัมภาษณ์ Alternative Writers ซึ่งเป็นกลุ่มนักเขียนที่มาด้วยกัน อาจจะมาก่อนด้วย อยากจะนำตรงนี้มาบอก เพราะว่าผมขายหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือ ทุกปีจะมีนักเขียนเอาหนังสือพิมพ์เอง 2,000-3,000 เล่มมาฝากขาย มีเด็กอายุประมาณ 20 นิดๆ เขียนนิยาย ขายไม่ได้สักเล่มเดียว นี่คือความเป็นจริงของตลาดหนังสือ โหดแม้แต่กับนักเขียนใหม่คนหนึ่ง จึงเป็นที่มาของการสัมภาษณ์ Alternative Writer และพาร์ท Why write?
ส่วนของเรื่องสั้น ผมตั้งชื่อปกว่า Under Teen Forever ที่เอาเรื่องสั้นเหล่านี้มาลงเพราะว่าประสบการณ์การเป็นกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ทำให้ได้อ่านเรื่องสั้นเกือบ 300 เรื่อง เห็นสปิริตทั้งของนักเขียนอาชีพและไม่ใช่ เห็นการแสดงออกของเขา เรื่องที่เราชอบหลายเรื่อง ส่วนใหญ่ไม่ผ่านรอบแรก เสียดายที่คนไม่ได้อ่าน เหตุผลข้อที่สอง ในฐานะที่เคยเป็นกรรมการ ผมพูดได้เลยว่าในประเทศนี้ สถานการณ์แบบนี้ ไม่มีรางวัลไหนที่จะไม่เซนเซอร์ตัวเอง อย่าคิดว่าเรื่องที่ดีที่สุดจะมีโอกาสเผยแพร่เท่ากัน ผมจึงเอาเรื่องเหล่านี้มาพิมพ์ไว้ด้วยกัน
เห็นอะไรในวงการนักเขียนไทยบ้าง
วันนี้ ผมมองว่าตลาดหนังสือในช่วง 10 กว่าปี มันใหญ่และหลากหลายขึ้นมาก คนที่ต้องอ่านหนังสือก็เยอะขึ้นมาก มันจะไม่ใช่บรรยากาศก่อนฟองสบู่แตก ที่คนวรรณกรรมรู้จักกันทั้งวงการอีกต่อไปแล้ว
ตอนนี้วงการหนังสือใหญ่มาก การแข่งขันสูงขึ้น ข้อดีคือมีลักษณะเป็นตลาดเสรีมากขึ้น ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เป็นระบบอุปถัมภ์ พี่น้องญาติน้ำหมึก อย่างที่เขาเรียกกัน นักเขียนที่อยู่ในตลาดทุกวันนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมจากรุ่นพี่ก็สามารถเขียนหนังสือได้
อีกประการ วิกฤตการเมืองมันเปิดให้เห็นหมดเลยว่าก่อนหน้านี้ นักเขียน เขายึดโยงกับอาชีพครู ยึดโยงกับระบบรางวัล ต้องไปเป็นกรรมการ เป็นเครือข่ายหมด เห็นชัดมากว่าระบบการศึกษาในประเทศไทยมันเป็นจารีตนิยม มีวรรณกรรมส่วนหนึ่งที่อยู่อย่างแข็งแรงด้วยโครงสร้างเครือข่ายแบบนี้ มีครูบางคนสะสมแต่วรรณกรรมซีไรต์ แต่ถ้าไม่ได้รางวัล เขาจะไม่อ่านเลย ไม่ใช้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา เพราะไม่ได้ผ่านการรับประกัน เขาก็เชื่ออย่างนั้นนะ
มีนักเขียนรุ่นน้องเขาทำงานในมหา’ลัย เล่าให้ผมฟังว่า เขาพยายามจัดกิจกรรมเชิญนักเขียนน่าสนใจ แต่ไม่ได้เลย ต้องเป็นนักเขียนซีไรต์ นี่เป็นระบบคุณค่าอย่างหนึ่งที่ดำรงอยู่มานานแล้ว เขาโยงกันอย่างนี้ ตั้งแต่กรรมการ รางวัล กระทรวง โรงเรียน มหาวิทยาลัย อยู่กันอย่างนี้มานานแล้วด้วย
ในแง่ของนักเขียนใหม่ เราต้องปรับตัว ต้องรู้จักคนอ่านของเรา นิวัตพูดดีนะ ใน under teen เขาบอกว่า 500 เล่ม กับ 2,000 เล่ม ไม่ต่างกันเลย ผมถามเขาว่า แล้วในแง่นักเขียนใหม่ หนังสือมีวางตามร้านกับหาไม่เจอเลยนี่มันก็ต่างกันนะ เขาก็บอกว่า เขาพิมพ์หนังสือให้คนอ่าน เขาไม่ได้พิมพ์ให้ผมเห็น เพราะฉะนั้นการวางตามร้าน คุณวางไปเถอะ คนเห็นแต่คนไม่ซื้อ มีประโยชน์อะไร ถ้าเขามีวิธีให้คนอ่าน เขาก็ไม่จำเป็นต้องพิมพ์เยอะขนาดนั้น ผมว่าเข้าท่ามาก
เหตุผลที่เราพิมพ์หนังสือเยอะ เพราะเราไม่รู้ ร้านมันเยอะ คงวางไม่พอหรอก แต่เอาเข้าจริง สมัยนี้มีอินเทอร์เน็ตเยอะ ก็มีวิธีที่จะทำให้คนเห็น อยู่กับความเป็นจริงว่าคนอ่านคุณมีเท่านี้ คุณอาจจะพิมพ์เกินมานิดหน่อยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องพิมพ์ให้วางครบทุกร้าน มันไปกินต้นทุนคุณ แบกภาระในการกระจายหนังสือโดยไม่จำเป็น
เราไปบังคับคนอ่าน บังคับตลาด ให้มาอ่านหนังสือเราไม่ได้นะ เราก็ต้องรู้ว่าที่ของเรามีแค่ไหน พอทำไปเราจะรู้เองว่าจำนวนคนอ่านมันเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง แรกๆ คนที่ไม่เคยทำก็ไม่รู้ ทดลองไปเรื่อยๆ พอรู้แล้ว
——-
เท่าที่รู้ ตอนนี้วารสารทุกฉบับยังมีจำหน่ายที่ http://readery.co/publishers/underground-buleteen และเฟซบุ๊กของ สนพ.สมมติ