ซัม: 40 เรื่องเล่าหลังความตาย
แค่คิดว่าตั้งชื่อเรื่องแบบนี้ลงบนปก ก็เสียวๆ หวั่นๆ ว่าพนักงานร้านหนังสือซึ่งมีสาขาทั่วประเทศจะจับมันไปอยู่หมวดศาสนา เคล้ากับหนังสือพระเครื่องและความลับควอนตัมเพื่อการนิพพานอะไรอย่างนั้น ที่สุดแล้วหนังสือของเราอาจจะไม่ไปถึงมือกลุ่มเป้าหมาย ถูกตีกลับมาแบบแมววัดที่เปียกน้ำฝน
การชิงพื้นที่สื่อสารในโลกออนไลน์เสียก่อนจึงเกิดขึ้น หนังสือออกเดือนกรกฎาคม แต่ไจไจบุ๊คส์เริ่มทำเพจในเดือนเมษายน ตรงกับวันเกิดของเดวิด อีเกิลแมน ผู้เขียน ฟังดูเป็นเหตุผลไร้สาระ แต่เราจำเป็นต้องหาความหมายให้แต่ละวันเพื่อให้เรามีแรงฮึด และแน่นอน เราหาความหมายให้ทุกอย่างที่เรากำลังทำ
เราเริ่มจากการตั้งคำถามเกี่ยวกับความตาย แต่เนื้อหาปรับไปตามความสนใจของผู้ที่เราถาม เช่น เราถามพนักงานร้านหนังสือว่า “หนังสือเล่มใดจะขายดีในชีวิตหลังความตาย” เราถามนักเขียนนิยายนักร้าวรานว่าด้วยความรักตามที่เธอถนัด ถามนักวิจารณ์เกี่ยวกับหนังเย้ยความตายที่เขาชื่นชม ฯลฯ เหล่านี้เพื่อเชื้อเชิญให้ทุกคน (รวมทั้งคนที่ไม่ได้ถูกตั้งคำถาม) เริ่มเดินเข้ามาสำรวจความหมายของความตาย โดยไม่มองเป็นเพียงคำอัปมงคลที่คนไทยต้องเอามือตบปาก 3 ที หลังจากเผลอหลุดพูดออกไป
ใช่แล้ว บางคนอาจบอกว่า มันยังไม่สื่อสาร เราเข้าใจดี ทั้งเราและพี่แบงก์ (บรรณาธิการ) ต่างก็จบมาจากคณะอักษรศาสตร์ เรื่องการตลาดที่ฉูดฉาดดึงดูดใจ เราไม่ใคร่จะถนัด แต่ก็ไม่ได้รังเกียจ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราถึงขั้นกระโดดลงไปเรียนรู้กลยุทธ์ของเอเจนซี่โฆษณาด้วยการทำงานจริง แต่ก็เลิกทำในเวลาเพียง 1 เดือน เหตุผลง่ายๆ คือมันไม่เหมาะกับเรา การขายของที่เราเองยังไม่อยากซื้อเป็นสิ่งที่ฝืนสัญชาตญาณของเราอย่างยิ่ง
แต่ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์ การเห็นหลังม่านวงการโฆษณา ทำให้เราปรับใช้วิธีการให้หลากหลายกว่าเดิม แค่ประกาศว่าขายของมันยังไม่พอ แต่เราขายความคิด เราเชื่อทักษะในการเล่าเรื่องแบบสัมผัสถึงแก่น สังเกตได้ว่าเมื่อคราวที่พี่แบงก์ต้องเขียนโฆษณาให้สินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่หนังสือ ลูกเล่นทางภาษาจะไม่แพรวพราวขนาดนี้ ใครจะว่าจำเป็นหรือไม่ ไม่สำคัญ สำหรับเรา ในเมื่อเราจะขายหนังสือให้กลุ่มคนที่ “อ่าน” หนังสือประเภทนี้ การสื่อสารในรูปแบบนี้ก็น่าจะสมน้ำสมเนื้อกับความสามารถของผู้อ่าน และไม่ดูถูกกันจนเกินไป
สิ่งสำคัญอีกอย่างที่เราค้นพบคือเรื่องมิตรภาพ เมื่อวันก่อนๆ นั้น พี่นิ้วกลมได้เขียนสเตตัสว่า มิตรภาพ ไม่เท่ากับ คอนเน็คชัน ถือว่าเป็นประโยคติดหูเราเหมือนกัน แม้เราจะสะดุ้งโหยงในตอนแรก (เพราะการขายของย่อมต้องขอแรงจากคนรอบข้างไม่น้อย รวมทั้งคุณแม่วีรพรที่ช่วย invite คนถึง 150 กว่าคนมาช่วยกันไลค์เพจ) แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วก็เห็นว่า คอนเน็คชั่นอาจหมายถึงคนที่เราไปเจรจายื่นหมูยื่นแมว นำเสนอประโยชน์ที่เขาน่าจะเห็นดีเห็นงามด้วย แต่มิตรจะช่วยเราโดยเราไม่ต้องอ้อนวอนร้องขอด้วยซ้ำ ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องบังเอิญ อย่างการที่พี่หนุ่ม-โตมร ได้โพสต์สเตตัสเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้โดยไม่ได้ตั้งใจจะโฆษณา แต่ภายหลังเมื่อรู้ ก็ยังใจดีไปโพสต์ซ้ำให้อีกรอบ เป็นความเมตตาแบบที่เราไม่กล้าเอ่ยปากขอตั้งแต่แรก แม้ว่าจะมีโอกาสทำอย่างนั้นมานานหลายเดือนแล้ว
อีก 10 วันก็จะเข้าเดือนกรกฎาคม เดือนที่ไจไจบุ๊คส์ รับปากกับคนอื่นๆ ว่าหนังสือของเราจะออกมา มันคงไม่ออกมาต้นเดือนทันที แต่มันจะมาแน่ๆ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตรวจแก้รอบสุดท้าย โดยมีเวีย-วีรวิญญ์ สุขสันตินันท์ แห่งเพจ papercuts เพื่อนที่เรียน Business Writing ในคณะกับเราตั้งแต่ปี 2 มาช่วยแก้ไข ตอนนี้เหลืออีกเพียง 5 บท เนื้อหาของทั้งเล่มก็จะถูกส่งต่อไปยัง มานิตา ส่งเสริม ฝ่ายศิลปกรรมของเล่ม ซึ่งเพิ่งเคยทำหน้าปกหนังสืออย่างจริงจังครั้งแรก หลังผ่านงานออกแบบมามากมาย
เราไม่รู้ว่าหลังจากเล่มนี้จบ ทีมงานชุดนี้จะยังได้ร่วมงานกันอีกไหม เรารู้สึกดีใจมากที่คนธรรมดาๆ อย่างเราซึ่งจบออกมาจากมหาวิทยาลัยอย่างงุนงงและไม่มีทางไปในวงการหนังสือเลยสักนิด ได้มีโอกาสมาร่วมงานกับคนมีฝีมือเหล่านี้ ด้วยความที่บุคลิกแต่ละคนค่อนข้างเก็บตัว ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร หากไม่มีงานมาเชื่อมเราเข้าด้วยกัน ก็คงรู้จักกันทางอื่นได้ยาก
ซัม เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความตาย แต่ขณะเดียวกัน ก็อาจกลายเป็นเหตุผลที่สำนักพิมพ์ไจไจได้เกิดในวงการหนังสืออย่างเต็มตัว
และความหวังนี้ก็คงไม่ตายไปง่ายๆ หรอกนะ