บทความนี้เขียนขึ้นหลังจากทำ Final paper วิชาวรรณคดีกับปรัชญาส่งอาจารย์โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ เมื่อปี 2556
นั่นก็คือสองปีก่อนที่เราจะรู้จัก David Eagleman ผู้ประดิษฐ์กลุ่มคำ “นักนิยมความเป็นไปได้” และเป็นผู้เขียน ซัม: สี่สิบเรื่องเล่าหลังความตาย
ความคิดบางส่วนอาจยังไม่ชัดเจนหรือเปลี่ยนแปลงไปแล้วในตอนนี้ แต่กลับไปอ่านแล้วก็สนุกดี เลยเอามาโพสต์ซ้ำ
—
รีวิว: Zen and the Art of Motorcycle Maintenance คุณภาพของเส้นทาง
โดยรู้ตัวหรือไม่ หลายคนกำลังแสวงหาคำตอบหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจ
การตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำบางอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ถือเป็นการทดลองเพื่อเข้าถึงคำตอบนั้น คำตอบ ที่บางครั้งก็มีอีกชื่อที่ตั้งให้เล่นๆ ว่า ความจริง
Robert Pirsig อาจเรียกสิ่งที่เรากำลังพูดถึงนี้ว่า Quality และถกเกี่ยวกับมันตลอดระยะทาง 500 กว่าหน้า ของหนังสือนิยายเรื่อง Zen and the Art of Motorcycle Maintenance: An Inquiry into Values นวนิยายที่เล่าเรื่องการเดินทางบนหลังอานมอเตอไซค์ไปพร้อมๆ กับการต่อยอดความคิดในเชิงปรัชญา
หากใครเคยได้อ่าน โลกของโซฟี คงคุ้นเคยกับการนำแนวคิดของนักปรัชญาตั้งแต่อดีตอย่างอย่างยุคกรีก ยุคกลาง มากระทั่งถึงสมัยปัจจุบันที่นักปรัชญาถกเถียงกันตั้งแต่ประเด็นสากกะเบือยันเรือรบ (หรือสเต็มเซลล์ยันเอกภพ..เพื่อความหรู) เล่าแทรกในเรื่องแต่งเพื่อให้ย่อยง่าย
แต่กับเรื่องนี้ จุดประสงค์ของการเล่าไม่ใช่การย่อโลกของปรัชญามาไว้ในอุ้งมือนักอ่าน แต่คือการนำเสนอแนวคิดทางปรัชญา (ที่เขาว่า) ใหม่ขึ้นมา โดยนำแนวคิดเก่าๆ มาประกอบให้เห็นภาพการก่อตัว และการโต้แย้ง โดยอาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของผู้เขียน เล่าขนานกันไป
เราใช้เวลาเกือบหนึ่งเทอมในการอ่านหนังสือเล่มนี้ให้จบ
การหาวครั้งแรก อาจมาจาก…นี่ไม่ใช่ภาษาแม่ของเรา
การหาวครั้งที่สอง อาจเป็นเพราะ มีการอ้างอิงความคิดทางปรัชญาที่มีอยู่แล้วมากมาย และมันคงสนุกดี ถ้า เรามีพื้นความรู้อยู่ก่อน
แต่ก่อนที่จะครบสามหาว เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวคิดของ Pirsig ทำให้เราอยากจะคิดต่อจริงๆ และคุ้มค่าที่ได้อ่าน แม้จะพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ยุค ’80s แต่บริบทปัจจุบันก็ไม่ได้แตกต่างกับยุคนั้นจนเราจูนไม่ติด
Pirsig พูดถึงวิชา “การเขียน” ที่เขาเคยเป็นอาจารย์สอนในภาควิชาภาษาอังกฤษ หากเชื่อตามแนวคิดปรัชญาตะวันตกที่แบ่ง Objective กับ Subjective ออกจากกัน การให้คะแนนนักเรียนทั้งชั้น คงไม่สามารถพูดไปดื้อๆ ว่า ที่ให้ A เพราะ “อ่านแล้วชอบ” เพราะนักเรียนคงไม่เคลิ้มไปด้วย
เขาจึงพยายามหาหลักเกณฑ์สัมบูรณ์ที่ระบุได้ว่า เหตุใด งานเขียนของแต่ละคนจึงควรได้เกรด A B C D หลักเกณฑ์ที่ว่านี้ไม่ใช่แค่ไกด์ไลน์เป็นข้อๆ แบบในหนังสือเรียน Composition แต่เป็นกฎที่หากทำตามนี้จะสัมฤทธิ์ผลแน่นอน ไม่ได้ต้องคิดเยอะอะไรอีก
หลักเกณฑ์สัมบูรณ์ดังกล่าว ถือเป็นการยึดโยงเอาคำว่า Quality ไปอยู่ใต้ร่มเงาของ “วัตถุวิสัย” สะท้อนภาพใหญ่ของปรัชญาตะวันตกดั้งเดิม ที่มักเอา “คุณค่า” ไปผูกโยงกับสิ่งที่อธิบายได้
สั้นๆ คือ สิ่งใดจะมีคุณค่า ก็เพราะมันทำตามกฎเกณฑ์ชุดหนึ่งที่แจกแจงได้
—
“ชีวิตนายดีหรือเปล่า ที่เป็นอยู่ตอนนี้”
“เดี๋ยวขอเปิดคู่มือแผนที่ชีวิตก่อน จะได้วัดผลเป็นรายการๆ ไป ให้คะแนน 1-10 ตามมาตรฐานการตรวจสอบ แล้วค่อยคำนวณรวบยอด ประเมินว่า ดี หรือ ไม่ดี
เสร็จแล้วจะติ๊กลงไปตรงช่องด้านหน้า”
มันคงแห้งเหี่ยวน่าดู ถ้าทุกสิ่งที่ดีต้องเป็นสิ่งที่เราอธิบายได้
Pirsig ก็คิดเช่นนั้นในลำดับต่อมา และเขาก็โยนแนวคิดที่จะสร้างวิทยาศาสตร์บนงานเขียนลงถังผง
ใครกันบอกว่า คุณภาพของการประพันธ์เป็นสิ่งที่แจกแจงและให้เกรดได้อย่างมีเหตุผล
เขามองว่ารากฐานปรัชญาตะวันตกที่แบ่งสองขั้วนี้ ทำให้เราละทิ้ง “สิ่งที่อธิบายไม่ได้” ไป ทั้งๆ ที่ ตัวมันก็เป็นสับเซตของ QUALITY เป็นหนึ่งในโครงสร้างใหญ่นั้น
การนำคุณภาพ/คุณค่า ไปอยู่เฉพาะกับสิ่งที่มีกลไกชัดเจนของแนวคิดแบบ Classic เกิดผลลัพธ์คือวิทยาศาสตร์ที่ไร้จิตใจ การพัฒนาของมนุษย์ที่อธิบายเป็นกราฟได้ แต่ขยายความสมบูรณ์แบบของชีวิตไม่ได้สักที แล้วก็หาอยู่นั่น ว่าเฟืองตรงไหนที่ชำรุด
บางครั้ง….มนุษย์โรแมนติกกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ารังเกียจ ในสังคมที่เคลื่อนไหวไปข้างหน้าด้วยการผลิตอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน – ออกมาเป็นวัตถุหรือกลไก
ไม่ใช่เสียงฮัมเพลงแว่วหวานของคนที่ดูสมองชำรุดคนหนึ่ง
—
หารู้ไม่ การผลักไสเรื่องเหนือคำอธิบายออกไปจากชีวิต อาจเท่ากับตัดโอกาสเข้าถึงชีวิตที่มีคุณภาพ
เป็นเรื่องสามัญมาก หากพบว่าสหายของท่านบางคนปฏิเสธการนับถือศาสนา… ทุกศาสนา
เพราะว่ามันงมงาย กระมัง เพราะว่าเขามีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับคนที่บอกว่าตนเองนับถือศาสนา กระมัง
หรือเพราะเขาไม่ชินกับการต้องเชื่อในสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้กระมัง
มนุษย์ที่เชื่อมั่นในอารมณ์ของตนแบบสุดกู่ กลับปฏิเสธการมีอยู่จริงของศรัทธา- ทั้งสองอย่างถ่ายทอดเป็นตัวอักษรไม่ได้ พอๆ กัน
นักเขียนหนุ่มที่เราเคารพเป็นครูบา เคยโพสต์บนเฟซบุ๊กของตน ค่อนแคะปัญญาชนที่วิจารณ์การบูชาไส้กรอกแมวของชาวบ้านกันอย่างสนุกปาก
เขาถาม- ทำไมจึงคิดว่าตัวเองฉลาดกว่า? เพราะว่ามันไม่เป็นวิทยาศาสตร์งั้นหรือ? แล้ววิทยาศาสตร์คืออะไร?
เพราะคนพวกนั้นกำลังหยามเหยียดสิ่งที่พวกเขาเองก็ไม่เข้าใจ
เรานึกถึงการไม่มีศาสนา นึกถึงสหายผู้ว่ายน้ำด้วยกำลังแขนของตัว นึกถึงภาวะที่ตัวเองก็เคยไม่เชื่อในสิ่งที่ไร้คำอธิบาย ไม่ศรัทธาในสิ่งที่ไม่มีกลไก ถ่ายทอดให้กันไม่ได้
ไม่ใช่ทุกสิ่งที่มีคำอธิบาย และการที่มันไม่มี ก็ไม่ได้หมายความว่าใครหลายคนกำลังทำสิ่งที่งมงาย
เขาแค่พยายามใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ
เราอาจเผลอเป็นผู้ มือถือสาก ปากถือเอกภพ แต่คนเราก็ไม่น่าด่วนปฏิเสธสิ่งที่อยู่นอกเหนือคู่มือบำรุงรักษามอเตอร์ไซค์ ตราบใดที่ยังไม่เคยเผชิญสภาวะที่เครื่องยนต์กลไกชำรุดมาก่อน