เคยตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการทำงานในอุดมคติไหม โดยเฉพาะเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป
เราอยู่ท่ามกลางการวางแผน แอพพลิเคชันต่างๆ ในไอโฟนหรือแอนดรอยด์ต่างก็นำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อการทำงานที่ไหลลื่นขึ้น ในเว็บไซต์มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กลุ่มสตาร์ทอัพเลือกใช้เพื่อจัดการองค์กรขนาดย่อมที่ไม่มีกระทั่งสำนักงาน
วันก่อน เรานอนไม่หลับ เลยเปิด TED Talk ในไอแพดเพื่อกล่อมให้ง่วง
ปรากฏว่าเรื่องที่ฟังนั้นน่าสนใจ เป็นการท้าทายความเชื่อของคนทำงานในศตวรรษที่ 21 อย่างยิ่ง
เรื่องแรก วิทยากรชื่อ Joi Ito ผู้อำนวยการ MIT Media Lab แนะให้เราเห็นความสำคัญกับการเป็น now-ist มากกว่าจะเป็น futurist
ฟังดูเหมือนคำสอนพุทธ
อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้
ประเด็นที่เขาพูดถึงก็คือ แต่ก่อนโลกให้ความสำคัญกับการวางแผนระยะยาว เราจะทำไอเดียที่ยิ่งใหญ่ให้เป็นจริงได้ก็ต้องผ่านหลายขั้นตอน เช่น สมัครเรียนเอ็มบีเอ หาคอนเน็คชั่น ขอทุนมาพัฒนาโครงการ ฯลฯ
นั่นคือโลกก่อนหน้านี้
แต่โลกปัจจุบันเชื่อมโยงกันไปหมด (จริงๆ) คนที่เก่งไม่ใช่คนที่จำได้ทุกอย่าง แต่รู้ว่าจะหาข้อมูลได้อย่างไร
การเป็นนาวอิสต์ คือการจัดการสถานการณ์ตรงหน้าให้ดี และหยิบฉวยกำลังคนและความรู้ที่หาได้จากในอินเทอร์เน็ตมาแก้ปัญหานั้นๆ ในที่สุดก็จะเกิดนวัตกรรม ซึ่งมาจากการค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละเปลาะ ไม่ได้วางแผนไกลมาตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว
ส่วนอีกคลิปหนึ่ง Yves Morieux พูดเรื่องเกี่ยวกับการจัดการองค์กรในอุดมคติที่ต้องมีการวัดผล แสดงความโปร่งใสของขั้นตอน การแบ่งหน้าที่ชัดเจน แต่ผลที่ออกมากลับทำให้ผลิตภาพ (productivity) ในประเทศต่างๆ ลดลง
วิทยากรยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับการวิ่งผลัด หากเรามัวแต่เกี่ยงระยะทางที่แต่ละคนต้องวิ่ง หรือต้องคอยตะโกนบอกกันว่ากำลังมาแล้วนะ เตรียมรับไม้ ก็น่าจะทำให้เสียเวลา เพราะแทนที่จะใช้ศักยภาพตัวเองให้เต็มที่ หรือใส่กำลังไปที่เท้าเพื่อวิ่งเต็มสปีดให้ถึงเส้นชัย เรากลับเสียพลังไปกับขั้นตอนระหว่างทางเหล่านี้
ยิ่งตำแหน่งอย่าง “โคออร์ดิเนเตอร์” สำหรับเขา อาจเป็นทรัพยากรเปลืองเปล่าในการวิ่ง
อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นเพียงมุมมองหนึ่ง เราก็นั่งเถียงในใจเหมือนกันว่าบางองค์กรก็ยังต้องแบ่งหน้าที่กันคร่าวๆ เพราะไม่ใช่นักวิ่งทุกคนจะเป็นนักวิ่งอาชีพ และเราไม่รู้ว่า จริงหรือเปล่าที่ประโยชน์องค์กรนั้นสูงส่งกว่าประโยชน์ของคนแต่ละคน
แต่วันนึงความคิดเราอาจเปลี่ยนก็ได้ และมันก็ขึ้นอยู่กับแวดวงธุรกิจใดที่เราเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย