อ่านงานเขียนที่อาจารย์ปกป้องเขียนไว้ให้ WAY ในโอกาสครบรอบ 9 ปี มีชื่อเราติดไปอยู่ในบทความด้วยเล็กน้อย (ยิ้มเขิน) อาจารย์ปกป้องชมว่า WAY นั้นใส่ใจคนทำงานมากแค่ไหน แม้ว่าเขาจะเป็นแค่เด็กฝึกงานระยะสั้น เพียง 2-3 เดือน
บทความทำให้เราต้องนึกย้อนถึงช่วงเวลานั้น
ใน WAY เล่มที่ 90 เราอาจเขียนถึงประสบการณ์ฝึกงานได้ไม่ละเอียดนัก เพราะพยายามควบคุมตัวเองให้จบบทความได้ภายใน 1 หน้าเอสี่ หรือเกินกว่านั้นได้เล็กน้อย ถ้าย้อนอดีตกันมากนักก็เกรงว่าจะหลุดยาว
เราเริ่มต้นฝึกงานที่เวย์ด้วยกางเกงขาสั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ยังถูกพี่บี – ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ พูดล้ออยู่ทุกวันนี้ “เด็กคนนี้มันเท่จริงเว้ย” โดยที่เราได้แต่ทำหน้างงๆ ไม่รู้ว่าเท่จริงๆ หรือเท่แบบเสล่อๆ (ฮ่าๆ)
งานหลักๆ ของเราในช่วงแรกคือการแปลข่าวรายวันสำหรับลงเว็บและข่าวเด็ดสำหรับลงนิตยสาร ช่วงนั้นพี่ปอม-อภิรดา และพี่บีช่วยกันเป็นโค้ชให้ ทั้งการเลือกประเด็นข่าวสไตล์ WAY การจับประเด็น และการเลือกแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้แต่ไม่ใช่สื่อกระแสหลักมากเกินไป
ทุกๆ เช้า จากจตุจักรถึงลาดพร้าวด้วยรถเมล์สาย 145 หรือ 44 (รถแอร์) เราจึงต้องเปิดทวิตเตอร์อัพเดตข่าวใส่สมอง ประมวลผลว่าจะแปลข่าวไหนดี จะว่าไป นี่ก็ไม่ใช่หน้าที่การงานที่เรามโนไว้ในหัวเท่าไหร่ เรามองภาพเวย์ไว้เท่ๆ แบบนั่งดื่มเบียร์ แต่งหนังสือ นอนเอกเขนก
ไม่ใช่เลย เราต้อง อัพเดต อัพเดต อัพเดต! ทำตัวประหนึ่งผู้สื่อข่าว มีการส่งเมล์ข่าวล่าสุดกันบ่อยๆ หลายข่าวที่เราหามาก็ใช้ไม่ได้ สุดท้ายโดนสยบด้วยข่าวเด็ดจากพี่ปอมและพี่บี ชวนสงสัยว่าพี่เขามีตาทิพย์หรืออย่างไร จึงคุ้ยข่าวมาจากกองข่าวพะเนินในแต่ละวันได้
แม้ว่าช่วงแรกๆ เราจะไม่ค่อยเอนจอยเท่าไร แต่ความตื่นเต้นในฐานะเด็กฝึกงาน WAY ยังมีอยู่ เราเริ่มเป็นคนติดตามข่าวมากขึ้นโดยนิสัย (เพราะมันต้องทำทุกวัน) ไม่แขยงข้อมูล (เพราะต้องใช้) จะมาเอาฮาหรือเอาเท่อย่างเดียวไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องทำเนื้อหาให้นิตยสารที่อยู่ท่ามกลางขั้วขัดแย้งในสังคมมากมาย ถ้าเผลอปล่อยอคติชุ่ยๆ จากการไม่มีข้อมูล ก็โดนซัดเอาได้ง่ายๆ
บทความที่เราได้ลง WAY เล่มแรก เป็นบทความรีวิวภาพยนตร์ เรื่องที่เราเลือกไม่ค่อยเวิร์กเท่าไร แต่อาจเป็นเพราะช่วงนั้นไม่ค่อยมีหนังน่ารีวิวเลย อีกทั้งประเด็นหนังใน WAY ต้องเป็นประเด็นชวนขบคิดเกี่ยวกับสาระเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่มานั่งต่อว่าว่าผู้กำกับทำอย่างนั้นไม่ดี อย่างนี้ไม่ใช่ เรามีตัวเลือกแค่ คู่กรรม The Host ฯลฯ
ลำดับถัดมา เป็นการเขียนเรื่องบันเทิง เราซ้อมมือด้วยการไปดูหนัง “เกรียนฟิคชั่น” รอบสื่อ คาดว่าหลายคนที่ทำงานสื่อแรกๆ ก็เป็นเหมือนกัน นั่นคือรู้สึกดีที่ตัวเองมีอภิสิทธิ์ได้ดูหนังก่อนคนอื่น ได้ของชำร่วย แถมไม่ต้องเสียตังค์! โชคดีหน่อย หนังเรื่องนั้นน่าประทับใจ เรากลับมาเขียนรีวิวลงเว็บไซต์ WAY
จากพี่บีคนที่เคยตำหนิเราว่า “อย่าเขียนข่าวด้วยภาษาเรื่องสั้นสิ” ก็หันมาชมเราว่า “เอ้อ กิ่งเขียนอย่างนี้ดีนะ เขียนอีกๆ”
แค่นั้นเด็กนุ่งขาสั้นก็ใจพองแล้ว
ลำดับการฝึกงาน WAY เริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ แม้เจ้าตัวจะบอกว่าไม่มีหลักสูตร นั่นคือ เริ่มจากการทำคอนเทนต์ชั่วคราวอย่างเว็บไซต์ มาสู่การทำเนื้อหาลงเล่ม ตั้งต้นที่คอลัมน์เบาๆ อย่าง face of entertainment มาสู่คอลัมน์หนักอย่าง main way และ sub way
ในคอลัมน์บันเทิงนั้น รอบแรกเราได้ไปนั่งสังเกตการณ์การสัมภาษณ์ ริค – วชิรปิลันธิ์ แถวถนนพระอาทิตย์ มีพี่ก้อย-อารยา เป็นผู้สัมภาษณ์หลัก เราศึกษาการเตรียมคำถาม จังหวะการถาม และการต่อยอดคำถาม แต่นั่นแหละ ถ้ายังไม่ได้ทำเองก็ยังไม่รู้
พอถึงคิวเรา เราเลือกไปสัมภาษณ์ แดเนียล เฟรเซอร์ ฝรั่งที่ทำรายการท่องเที่ยวไทย เราติดใจในความตลกใสๆ ของเขา เราเดินทางไปสัมภาษณ์โดยมีพี่ปอม-อภิรดา ไปเป็นพี่เลี้ยง และมีพี่ศิริโชค เลิศยะโสช่างภาพจาก NG มาช่วยถ่ายภาพ
สัมภาษณ์กันยาวนาน เรายิงคำถามไม่ได้หยุด
เมื่อออกมากินข้าวเที่ยงกันก่อนกลับออฟฟิศ พี่ปอมถามความรู้สึก
“เกร็งอะ” เราบอก
“ใช่ไหม พี่ก็ว่ากิ่งเกร็งๆ ไปหน่อย ทำตัวตามสบายๆ ก็ได้”
แน่นอน ทุกวันนี้เราก็ยังไม่เลิกอาการเกร็งหรือแอ็คท่าจริงจัง แต่เราเชื่อว่าทุกววันนี้มันต้องดีกว่าวันนั้น เพราะเมื่อเรากลับมาถอดเทปก็พบว่า มีหลายจุดทีเดียวที่แดเนียลกำลังจะพาเราไปสู่เรื่องสนุก แต่ก็ถูกผู้สัมภาษณ์ฉุดไว้เสียก่อน เพราะกลัวลืมถามคำถามที่เตรียมมา
บทสัมภาษณ์นั้นไม่ค่อยดีเท่าไร เรายอมรับ
—
จากเรื่องบันเทิง เราขยับมาเรื่องวิชาการ เราติดตามกองบรรณาธิการ WAY ไปนั่งสัมภาษณ์อาจารย์เก่งๆ หลายคน เช่น อาจารย์ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่เราไม่เคยคิดฝันว่าจะมานั่งคุยกันระยะประชิดแบบนี้ นอกจากว่าจะลงเรียนวิชาอะไรสักอย่างกับพวกเขา
ทั้งหมดนี้ปูพื้นมาสู่จุดที่เราต้องเขียนคอลัมน์ subway หรือสารคดีประจำฉบับ เราเลือกทำเรื่อง “นักศึกษา” กับการเมือง
“เชยว่ะ” หัวหน้าเผ่าส่งเสียงมาตามลม แต่ไม่ได้ห้ามทำ
เราน้อมรับ ชั่วโมงบินในวงการสื่อของเรายังน้อยนัก
นี่เป็นงานที่กดดันที่สุด เราเขียนดราฟต์แรกไปหลายหน้า มั่นใจว่ามีข้อมูล แต่เมื่อส่งไปให้บรรณาธิการ ตุ่น-รุ่งฤทธิ์ อ่าน คำตอบสั้นๆ ก็ทำให้ร้าวถึงหัวใจ
“น่าเบื่ออะ มันนิ่งๆ โมโนโทน”
เราเงียบไป อ่านแล้วอ่านอีกว่าจะแก้ยังไงดี ในเมื่อออกตัวแรงมาถึงขั้นนี้ สมัยนั้นเราไม่คุ้นเคยกับการ แก้โครงใหม่ รื้อ แล้วเขียนใหม่ คำเหล่านั้นดูเหมือนเป็นความล่มสลายทางวัฒนธรรมเลยทีเดียว เราชินกับการเขียนรอบเดียวจบ (เหมือนกับการเขียนบล็อก) มากกว่า
ช่วงนั้นก็นอยด์ๆ ไปเหมือนกัน คิดว่า ไม่เขียนละ หนังสงหนังสือ
แต่ไม่นาน สติก็กลับมา เมื่อดวดเบียร์กับกองฯ ทุกวันศุกร์ มีพี่เสี้ยว-เสี้ยวจันทร์ แรมไพร เสิร์ฟกับแกล้มราคาประหยัด ได้แลกเปลี่ยนความกดดันกับพี่ๆ ในกองบรรณาธิการ
เรื่องที่เราต้องแก้ไขก็เห็นชัดอยู่ แต่เราแค่ไม่กล้าแตะต้องมาเป็นเวลานาน
ในตอนบ่ายของบางวัน พี่เบียร์-วีรพงษ์ จะออกไปสูบบุหรี่ที่ห้องครัวคนเดียว เราตามไปสนทนาประสาสะเล็กน้อย เพราะหากอยู่ในห้องทำงาน พี่เบียร์จะเคาะคีบอร์ดรัวเร็วอย่างมีสมาธิ ราวกับมีแก้วครอบ
เราได้ความคิดหลายๆ อย่างจากการพูดคุยนอกเวลางานอย่างนี้ พอๆ กับที่ได้จากการทำงาน
สุดท้ายบทความ “นักศึกษา” นี้ก็ไม่ได้มีลีลาเด็ดดวงอะไร เป็นงานชิ้นแรกของเด็กฝึกงานที่ดูได้ไม่ยากว่าคนเขียนนั้นใหม่ แต่ที่น่าสนใจคือ ภายในช่วงปีหลังๆ มานี้ บทความนี้ได้ถูกใช้งานในเว็บไซต์ถึง 2 ครั้ง เพราะเข้ากับประเด็นที่เกิดขึ้นอยู่ หลังจากรัฐบาลทหารขึ้นปกครอง
นั่นคือ ไม่มีพลังการเมืองไหนกล้าออกมาเย้วๆ ต้านรัฐบาลได้ชัดเจนเท่าชุดขาวของนักศึกษาอีกแล้ว
เราดีใจ ที่บทความได้ทำหน้าที่ของมัน
ไม่ว่ามันจะเป็นงานเขียนที่ดีเลิศเลอหรือไม่ หรือมีจังหวะปิดสกอร์ที่สวยงามหรือเปล่า
—
สิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับเด็กฝึกงาน WAY คือ เราจะได้เขียน main way ด้วย เป็นการแท็คทีมกับกองบรรณธิการเดิม ซึ่งได้แก่ พี่บี พี่ปอม พี่ก้อย เขียนเรื่องเดียวกัน แต่แบ่งกันเล่า แล้วเอามารวมร่างกัน
เราว่า งานหนักไม่ได้อยู่ที่เรา แต่อยู่ที่พี่ๆ จะปรับงานเราซึ่งเป็นกระดูกคนละเบอร์ไปอยู่ในนั้นได้อย่างไร
main way ฉบับนั้นชื่อว่า “เหยียด”
เราขอสารภาพผิดไว้ตรงนี้เลยว่า ฉบับนั้น พี่ๆ เขาตั้งใจจะทำเรื่อง “ผู้หญิง” กัน (ซึ่งต่อมากระแส womenomics ก็ครึกครื้น) แต่ในที่ประชุม เด็กฝึกงานอย่างเราดันไปขัดคอ สปิริตของ WAY จึงโชว์ออกมา นั่นก็คือ เขาฟังทุกคน และหัวข้อ “เหยียด” ก็ได้ขึ้นแท่นมาแทน
เรานับถือที่พี่ๆ ทั้งสามสามารถปั้นมันออกมาได้น่าอ่าน ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นคนเลือกทำเรื่องนี้ ในขณะที่เราขลุกขลักอยู่ตามเส้นทาง นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เราได้เห็นตัวอย่างมืออาชีพเขาทำงานกัน – ไม่งอแง
—
สิ่งที่น่าปลื้มใจ และเรายิ้มอยู่เงียบๆ คือ ครั้งหนึ่ง เราเคยไปช่วยพี่จี๊ด – อาทิตย์ สัมภาษณ์อาจารย์ท่านหนึ่งเกี่ยวกับการปฏิรูปภาษี เนื่องจากเราเคยเรียนวิชาการเงินส่วนบุคคล เมื่อไปนั่งถาม เราจึงช่วยพี่จี๊ดถามคำถามได้อย่างมั่นใจ
แล้วสุดท้าย ชื่อเราก็ไปโผล่ในกองบรรธิการ หนังสือ พูดดีๆ หนังสือรวมบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับการปฏิรูปโดยที่เราไม่ได้คาดคิดด้วยซ้ำ
—
WAY เป็นครูที่ดีทั้งในแง่ที่พูดตรงๆ แบบไม่กลัวเด็กงอน พูดชมเชยเมื่อเห็นว่าทำงานดี และเมื่อเจอวิกฤตจากเด็กฝึกงานที่แปลข่าวผิดไปประโยคหนึ่ง เขาก็แค่แก้ไขอย่างใจเย็น แล้วบอกว่า คราวหน้าต้องระวังมากกว่านี้นิดนึงนะ และสุดท้าย WAY เป็นครูที่ให้เครดิตคนทำงาน แม้ว่าเขาจะมีฐานะเพียงเด็กฝึกงานก็ตาม