*บางส่วนของเนื้อหามีการสปอยล์ภาพยนตร์ Irrational Man และ Hormones The Final Season*
ในคาบแรกๆ ของการสอนวิชาปรัชญา เอ๊บอ้างอิงคำพูดของคานท์ว่า สำหรับคานท์ ย่อมไม่มีข้อยกเว้นให้กับการโกหก การโกหกเป็นความไม่ดีในตัวมันเอง เพราะฉะนั้นต่อให้การพูดจาอย่างสัตย์ซื่อนั้นจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้าย ก็ต้องไม่โกหก ยกตัวอย่างเช่น หากมีพวกนาซีถามคุณว่าครอบครัวแฟรงก์ (แอนน์ แฟรงก์) อยู่ที่ไหน คุณก็ต้องตอบว่า พวกเขาอยู่ข้างบน
ในที่นี้ การโกหกเพื่อผลลัพธ์ที่ดีจึงไม่ดีอยู่แล้วในตัวมันเอง และการทำสิ่งชั่วอื่นๆ ก็เช่นกัน
เอ๊บปิดท้ายคาบว่า แต่โลกโสมมไม่ได้เป็นอย่างนั้น คานท์ไม่ได้พูดถึงสถานการณ์ที่มันเป็นในสถานที่ซึ่งเราใช้ชีวิตอยู่นี้ ที่ที่การสัตย์ซื่ออาจนำไปสู่ความเลวร้าย เพราะฉะนั้นการมีข้อยกเว้นให้กับบางเรื่องเป็นสิ่งที่รับได้ (หากเอ๊บหมายความตามที่พูดจริงๆ)
—
บางครั้งชีวิตคนเราก็ไร้ความหมายมากจนน่าใจหาย
โรคซึมเศร้าเดินเข้ามาแนะนำตัวกับสังคมในศตวรรษที่ 21 และบางครั้งก็กลายเป็นเพื่อนสนิทของใครหลายคนโดยที่เขาไม่เต็มใจ เราไม่รู้จักโรคนี้ดีนัก และการพูดถึงโรคนี้โดยไม่รู้จักดีก็ดูเป็นการหยามหมิ่นกลุ่มคนผู้เป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว
แต่คำถามสำคัญของผู้คนใกล้ตัวเราที่พวกเขาบอกว่าตัวเองน่าจะเป็นโรคซึมเศร้าคือ
“ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร”
คงคล้ายกับเอ๊บ ตัวละครของเรื่องผู้เป็นอาจารย์สอนปรัชญาเสน่ห์แรง ทั้งในฐานะมนุษย์เพศชาย และในฐานะอาจารย์ปรัชญา+นักเขียนที่มีตัวอักษรชวนชบคิดเสมอ
“อย่างกับว่าโลกต้องการข้อเขียนเกี่ยวกับไฮเดกเกอร์ของผมอย่างนั้นแหละ” เขาพูดเยาะเย้ยตัวเองอย่างร่าเริง หลังจากช่วงเวลาเลวร้ายยาวนานที่เขาไม่รู้ว่าจะมีชีวิตไปเพื่ออะไร ห่อเหี่ยวเสียจนนกเขาไม่ขันแม้จะอยู่บนเตียงที่มีหญิงสาวรื่นเริงรักคอยรุกเร้า เพราะแม้ว่าเขาจะเป็นนักคิดปราดเปรื่องขนาดไหน แต่เขาไม่อาจคิดหาคำตอบที่สำคัญนี้ให้กับตัวเองได้
พลัน จู่ๆ เขากลับพบความหมายของชีวิตจากการมีเสรีภาพที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง แม้ว่าสิ่งที่ถูกต้องนั้นจะมาจากการทำสิ่งที่ผิด ตามสามัญสำนึกของคนทั่วไป
ดนตรีรื่นเริงกวนประสาทกับภาพสดใสขัดแย้งกับสถานการณ์เปื้อนเลือดอาจเป็นบุคลิกของภาพยนตร์วู้ดดี้ อัลเลน บางทีเรื่องปรัชญาทั้งหมดที่ตัวละครทุ่มเทถกเถียง (และคนดูก็เอามาละเลียดต่อ) นั้นอาจจะไม่ใช่หัวใจของเรื่องเลยก็ได้ กลายเป็นข้อเขียนงดงามที่น่ายิ้มเยาะในโลกแห่งความเป็นจริง
นี่คือโลกแห่งความบังเอิญ – หรือบางครั้งเรียกว่าโชคชะตา – ที่ผู้คนอาจใช้ปรัชญามาอธิบายสิ่งที่อยากจะทำจนตัวสั่นหรือได้ลงมือทำไปแล้ว เพื่อให้ชีวิตทางจิตวิญญาณดำรงอยู่ต่อไปได้โดยไม่รู้สึกขัดเขินไร้ค่า
เราอ้างอัตถิภาวนิยมเพื่อทำสิ่งที่มีคุณค่าความหมายให้ชีวิตของเรา แม้สิ่งนั้นจะขัดต่อสายตาผู้อื่น
เราอ้างหลักบางอย่างในการทำสิ่งที่ไม่ดีเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่าสำหรับทุกคน
เราอ้างนิยัตินิยมเพื่อบอกว่าสิ่งต่างๆ ถูกกำหนดไว้แล้ว และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะทำเช่นนั้น ผลจากการเลี้ยงดูทำให้เด็กคนหนึ่งเป็นฆาตกรโดยเขาไม่ตั้งใจ เพราะฉะนั้นเด็กจึงควรพ้นโทษ
เราอ้างหลักสัญชาตญานในการเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิตเพื่อฆ่าคนอื่นเมื่อเขาคิดจะผลักชีวิตเราให้ตกต่ำ
เรามีข้ออ้างที่เติมเต็มด้วยสมการเหตุผลซึ่งทำให้มันฟังดูดีขึ้น เหมือนพริกหวานฝานบางๆ ที่ทำให้หน้าตาขนมปังไส้ไก่จืดชืดดูมีคุณค่ามากขึ้น
ดนตรีรื่นเริงกวนประสาทของวู้ดดี อัลเลนดังขึ้นล้อเลียนความหน้าไหว้หลังหลอกของเรา ผู้เป็นเบี้ยล่างของความบังเอิญนับไม่ถ้วน และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไป ทั้งทางกายและจิตวิญญาณ
—
เมื่อวานนี้ฮอร์โมนส์ เดอะ ไฟนอลซีซัน เพิ่งจบ
สิ่งที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับซีรีส์ชุดนี้ก็คือ แทบไม่มีตัวละครตัวใดที่ไร้คนเกลียดหรือคนรัก และนี่คือส่วนที่เราชอบ (นอกจากความน่ารักของเบลล์และฝนแล้ว)
สารพัดแฮชแท็ก #ทีมออย #ทีมปัง #ทีมบอส #ทีมนน #ทีมเภา ฯลฯ คงเกิดขึ้นได้ยากนักในละครสมัยเก่าๆ ซึ่งมีตัวดีและตัวโกงที่ชัดเจน
ทุกตัวละครที่แสดงนิสัยงี่เง่าสุดจะทน จนรุ่นพี่นักเขียนบางคนบอกว่า อยากเอาปืนมายิงให้ตายหมดทั้งโรงเรียน กลับมี “เหตุผล” ที่จะทำสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ อย่างน้อย #ทีม ของพวกเขาเหล่านั้นก็สามารถยกเหตุผลสนุกๆ ขึ้นมาถกเถียงกันได้เสมอ
ใครๆ ต่างก็มีเหตุผลให้ “จำเป็น” ต้องทำในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ ต่อให้มันจะเลวร้ายขนาดไหน
ออยมีเหตุผลที่จะโกหก ขนมปังมีเหตุผลที่จะแฉเพื่อนในโรงอาหาร เฟิร์สมีเหตุผลที่จะเลิกกับออย บอสมีเหตุผลที่จะเยาะเย้ยเพื่อนในสภา ซันมีเหตุผลที่จะคบสาวซ้ำซ้อน แก๊งนางฟ้ามีเหตุผลที่จะแย่งที่นั่งของรุ่นน้องซึ่งมานั่งก่อน ฯลฯ
หลังดูสองเรื่องนี้ต่อๆ กัน หากไม่ถือเป็นเรื่องจริงจัง เราอาจได้ข้อสรุปหลวมๆ ไว้ตอบตัวเองว่า เรื่องหนึ่งเยาะเย้ยไอเดียทางปรัชญา อีกเรื่องหนึ่งสะท้อนสังคมวัยรุ่นที่ต่างมีปัญหาของตัวเองซึ่งทุกคนควรทำความเข้าใจกันและกัน ไม่ให้มีใครต้องกินยาตายเพราะความชอกช้ำอีก
แต่ความหงุดหงิดบางอย่างก็สะกิดให้เราคันๆ สงสัยว่า แล้วเมื่อไหร่เราถึงจะเข้าใจ “เหตุผล” ในการทำสิ่งต่างๆ ของคนอื่นมากพอ
และมันมีลิมิตของการยอมรับบางอย่างที่เราเห็นว่าผิดหรือไม่