เราจะปล่อยให้มันเป็นเรื่องบังเอิญเสียก็ได้ แต่อาจเพราะติดนิสัยชอบหาความหมายและบทบาทของตัวละครที่เข้ามาในฉาก องค์ประกอบต่างๆ ทั้งโคมไฟ พื้นไม้ กำแพงอิฐ ฯลฯ ถ้ามันเข้ามาในฉากชีวิตในช่วงทีเราหมกมุ่นกับเรื่องราวของตัวเองอย่างหนักละก็ เราจะพยายามหาความหมาย
เพลงของป้าง นครินทร์ กิ่งศักดิ์ ดังเป็นรอบที่สามของวัน ครั้งแรกมันมาในยูทูป ครั้งสองดังจากวิทยุในแท็กซี่ ครั้งสามคือเสียงเรียกเข้าบนรถเมล์ตอนสี่ทุ่ม
ในเมื่อมันทบเข้ามาถึงสามระลอก เราหลับตายิ้มให้กับใครก็ตามที่เขียนเรื่องสั้นบ้าบอนี้อยู่ คิดว่าตัวเองเป็นตัวละครในเรื่อง The Truman Show …เอาเลย ตลกดี ขยี้ความดรามานี้ให้สุด เพราะวันหนึ่งเราก็จะสามารถยิ้มให้กับมันเหมือนทุกทุกเรื่อง แต่ตอนนี้ เราพยายามจะไม่เล่นตามบท
—
จู่ๆ ผู้หญิงคนหนึ่งจากสามปีก่อนเดินทางมาทักทายโดยมิได้นัดหมายในวันนี้ เธอโทรมาอย่างลนๆ ในตอนบ่าย น้ำเสียงกึ่งจริงกึ่งเล่นตามบุคลิกเปิ่นโก๊ะ แล้วปรากฏตัวในชุดลายดอกหลังจากผ่านไปเกือบค่อนวัน
ไม่มีเหตุผลให้เราต้องเจอกันเลย ไม่ว่าจะเป็นธุระปะปัง หรือแม้แต่ความคิดถึงเพียงนิด ที่เราทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่มี
มากินบุฟเฟต์ราคาหูฉี่ ตักไอติม ถ่ายเซลฟี่
แล้วเธอก็อาจมาเพียงเพื่อมาพูดบางประโยคที่ทำให้เราอยากตบหน้าตัวเอง
เธอบอกว่า ในยามที่เราหลงใครสักคน เราสามารถพูดอะไรก็ได้เพื่อให้ตัวเองได้ในสิ่งที่ต้องการ เหมือนเรื่องราวเมื่อตอนนั้น ที่เราเข้าไปสร้างรอยแผลให้กับความสัมพันธ์ของเธอ จนตอนนี้เธอก็ยังเสียดายสิ่งที่เสียไป
เราวางตะเกียบลง จ้องเข้าไปในดวงตาของเธออย่างหวาดๆ
ถามว่า “จริงหรือ??”
หมายถึง จริงหรือที่เรามีอิทธิพลขนาดนั้น จริงหรือที่เราเป็นสาเหตุ
“โห่ยย ล้อเล่น”
เธอตอบ ตักเนื้อหมูเข้าปากต่อ ยิ้มเยาะในความไม่ประสาของเรา ถ้อยคำเมื่อกี้เหมือนเกิดขึ้นในความฝัน เหมือนการเข้าทรงของเจ้าแม่ที่ผ่านมาเพื่อส่งข้อความแรนดอมบางอย่างแล้วจากไป
เรากลับใบผักสลัดไปมา งุนงง ด้านไหนคือความจริงกันแน่
ท้ายที่สุด เราวางผักลง เมื่อพบว่ากระเพาะเรานั้นอิ่มแน่นไปนานแล้ว เราไม่ได้ต้องการมันเพิ่ม เป็นเพียงความตะกละ
พนักงานหลังร้านทำกองจานหล่นลง จานมากมายกระทบพื้นส่งเสียงโครมคราม พนักงานนับสิบคนในร้านตะโกน “ขออภัยด้วยค่ะ/ครับ” พร้อมกัน เหมือนกับเวลาที่พวกเขาพร้อมใจประสานเสียง “อันยองฮาเซโย” ประดักประเดิดเพื่อบอกเราว่า นี่ร้านหมูเกาหลีนะ ไม่ใช่ร้านหมูกะทะ
—
เราจะปล่อยให้มันเป็นเรื่องบังเอิญก็ได้
แต่มันก็ประหลาดจริงๆ ที่ในจังหวะของการลาจาก เราไม่ต่างอะไรจากเมียเช่าที่เสร็จธุระ
หล่อนยกหูโทรศัพท์ขึ้น บอกลาเราระหว่างเสียง ตู๊ด…ตู๊ด… รอสาย “ไปละนะ แยกกัน”
เราโบกมือหยอยๆ อย่างงงวย เดินลงบันได สงสัยว่าคนเขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้เมากาวหรือเปล่า
บางที ทุกอย่างอาจไม่ต้องมีประโยคจบ “เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…” ก็เป็นได้
แต่ในวันนี้ เราใช้เวลาอยู่กับใครคนหนึ่งเป็นชั่วโมงๆ เพื่อจะพบว่า มีประโยคเดียวเท่านั้นที่เก็บไปใช้ได้ และเหมาะเจาะกับจังหวะเวลาจริงๆ เสียด้วย