เราพบหลวงพี่แถ่งตุเมื่อสองปีที่แล้ว นั่นเป็นครั้งที่สองที่เราได้ร่วมเข้าค่ายภาวนา wake up กิจกรรมสำหรับคนรุ่นใหม่ของหมู่บ้านพลัม
หลวงพี่ยื่นจดหมายซึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษให้ ภาษาไทยที่พูดก็ยังกระท่อนกระแท่นเพราะบวชเป็นเณรได้เพียงหนึ่งปีและเพิ่งย้ายมาอยู่ไทย
เราเห็นความพยายามบางอย่างในดวงตา ความพยายามที่จะสื่อสาร
จดหมายซองสีชมพูยื่นให้ ทำเอาเราประหลาดใจกับประเพณีนักบวชนิกายมหายาน ข้อความในจดหมายมีเพียงว่า
“ฉันรู้สึกมีความสุขที่เมื่อเช้านี้เราได้ขึ้นไปเดินบนภูเขาด้วยกัน หวังว่าเธอจะได้ไปเวียดนามบ้าง ฉันคงจะคิดถึงเธอมากหากเธอกลับจากหมู่บ้านพลัมไป ฉันอยู่ตรงนี้เพื่อเธอ และเมื่อเธออยู่ตรงนั้นฉันก็สุขใจ ฉันหวังว่าเธอจะรับจดหมายนี้ไปด้วยความเบิกบานใจ แต่ไม่ต้องกังวล หวังว่าเราจะได้พบกันอีก”
เรายอมรับว่าเราตกใจเพราะไม่เคยสื่อสารกับนักบวชแบบสนิทสนมอย่างนี้มาก่อน เล่นเอาทำตัวไม่ถูก งุนงงไปต่างๆ นานา
แต่หลังจากนั้น เราก็สื่อสารผ่านอีเมลส่วนกลางของคณะนักบวชหมู่บ้านพลัม ไม่บ่อยนัก แต่แลกเปลี่ยนจนได้ใจความว่า หลวงพี่เองก็สำรวจจิตใจของตัวเองและได้พบว่า เธอนึกถึงสมัยตัวเองอายุ 15 ปี เป็นเพียงเด็กที่มีความทรงจำแย่ๆ มากมาย และเมื่อพบเรา ก็รู้สึกทันทีว่าเราเป็นเหมือนเพื่อนเก่าในวัยนั้น
“ i feel peace when i come you.” หลวงพี่เขียนท่อนหนึ่งไว้ว่าอย่างนั้น และส่งเพลงภาวนามาให้ 3 บทเพลงเพื่อให้เราฟัง
วันที่ 23 เดือนธันวาคม หลวงพี่ส่งมาถามว่า “what will you do after you graduate?” แน่ล่ะ มันเป็นคำถามที่เราเองก็ถามตัวเองอยู่เหมือนกัน
หลวงพี่พิมพ์ต่อว่า รู้ไหมว่าทำไมถึงถาม ครั้งหนึ่งหลวงพี่เคยอยากเป็นครู เป็นหมอ … แต่ตอนนี้หลวงพี่อยากเป็นนักบวชที่ดี จะได้สามารถช่วยเหลือพวกเราทุกคนได้
—
2 ปีต่อจากนั้น เราหลุดเข้าไปในวงโคจรของความหลงลืมเหมือนเคย ทุกข์มากสุขมาก ตามประสามนุษย์ จนถึงจุดหนึ่งเราก็คิดว่า เอาล่ะ ลองกลับไปพบสังฆะ บ่มเพาะพลังที่เคยทำให้เรายิ้มกับต้นไม้ใบหญ้าได้ หลวงพี่แถ่งตุจะยังอยู่หรือไม่นั้น เราไม่แน่ใจ
งานภาวนาครั้งนี้มีชื่อว่า Be free where you are เหมาะกับสภาวะจิตตอนนี้ของเรามาก ที่อยากจะหนีไปไกลๆ จากสถานการณ์น่าอึดอัดต่างๆ สุดท้ายก็อาจจะสร้างขึ้นมาในใจตัวเอง
มองไปที่คณะนักบวชซึ่งสวดพระสูตรพร้อมเพรียง ไม่เห็นหลวงพี่แถ่งตุอยู่ในนั้น ปกตินักบวชหมู่บ้านพลัมจะมีการหมุนเวียนกันไปตามประเทศต่างๆ และหลวงพี่แถ่งตุก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น
แล้วจู่ๆ ขณะสิ้นเสียงระฆังบอกเวลาหลังรับประทานอาหารอย่างมีสติ โกห่า ครูสอนภาษาเวียดนามของเราก็เดินมาบอกว่า หลวงพี่ถามหา
เราเดินเข้าไป หลวงพี่แถ่งตุนั่งอมยิ้มตักข้าวในชาม
“ตัดผมทำไม เหมือนผู้ชายเลย หลวงพี่จำไม่ได้” เสียงวรรณยุกต์หลวงพี่ยังมีเพี้ยนบ้าง แต่ชัดเจนเลยว่าพูดภาษาไทยคล่องขึ้นมาก ส่วนเราพูดภาษาเวียดนามได้เท่าไหนก็เท่านั้น ไม่พัฒนาขึ้นเลย
ความประหลาดในครั้งแรกกลายเป็นความอุ่นใจของเรา ความเบาใจว่าเราสามารถทักทายนักบวชตรงหน้าได้เหมือนเพื่อน เพื่อนในความหมายของคนที่อยากจะแบ่งปันสิ่งดีๆ แก่กัน และอยู่ด้วยกันแล้วสบายใจ
4-5 วันที่ผ่านมาในงานภาวนา หลวงพี่แถ่งตุยังคงมอบอะไรให้เรามากมาย ชวนไปเล่นบาสช่วงมื้อเย็น (เราหาเพื่อนเล่นบาสมานานมาก ตลกดีที่มาเจอที่นี่) สอนภาษาเวียดนามให้ตอนพักเที่ยง เอาน้ำมะม่วงดองมาใส่ให้เต็มกระติก
และคืนสุดท้ายก่อนกลับก็เอาของที่ระลึกจาก “เฮว้” บ้านเกิดของหลวงพี่มาให้ เป็นป้ายไม้เขียนบทกลอนประกอบรูปวาด หลวงพี่ยืนแปลให้ทีละคำ ความหมายไพเราะ ว่าด้วยความสวยงามของแม่น้ำเฮือง (แม่น้ำหอม) พร้อมด้วยของฝากเป็นเกลือเวียดนามที่จิ้มกับมะม่วง ส้มโอ อร่อยมาก
—
ในชีวิตเรา ก็เช่นเดียวกับหลายๆ คน เรามีเพื่อนหลายกลุ่ม ทั้งเพื่อนที่สุราษฎร์ เพื่อนโรงเรียน เพื่อนมหาวิทยาลัย เพื่อนค่ายสารคดี เพื่อนที่ได้มาจากการทำงานสัมภาษณ์ ฯลฯ
แต่เมื่อเห็นแถ่งตุโบกมือบ๊ายบายในคราวนี้ เรารู้สึกโชคดีที่เกิดมาได้มีเพื่อนเป็นนักบวช คนที่ยืนยันว่า ใช่แล้ว ความสุขอยู่ในตัวเรานั่นแหละ ขอให้มีสติ ไม่ว่าใครจะบอกว่าอย่างไร
be free where you are
เธอทำได้