ทีวีและฎีกา

ช่วงนี้แม่เราเริ่มติดตามนักเขียนหญิงรุ่นอาวุโสที่เราไม่รู้จักมาก่อน

แม่บอกว่า เสน่ห์ของงานเขียนในโลกออนไลน์ของเขาคือการเล่าเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งอาชีพการงาน โพสต์รูปของสวยงาม ร้านตัดแว่นร้านโปรด ลูกสาวที่ไปต่างประเทศ เรื่องราวในครอบครัว คอร์สพิเศษที่เขาไปเรียน ฯลฯ

เรื่องอะไรก็ได้ ที่เปลี่ยนจากการบันทึกในสื่อนิตยสาร มาเป็นหน้าเฟซบุ๊ค

เขาเขียนเล่าเพราะต้องการเพื่อนคุย ก็แค่นั้นเอง ตรงไปตรงมา และน้ำเสียงน่าคบ

เราเองไม่ได้เขียนบันทึกให้ใครอ่านมานานแล้วเหมือนกัน มันเป็นความรู้สึกขัดเขิน บันทึกเหมือนการเปิดเปลือยตัวตนด้านอื่นๆ ของเรา ด้านที่ไม่ใช่คนทำหนังสือ คนทำสำนักพิมพ์ คอลัมนิสต์ (ซึ่งไม่เคยเป็นนะ) นักวิจารณ์วรรณกรรม ฯลฯ กล่าวคือ ต้องแสดงด้านที่เราเองก็ไม่ได้อยากเป็น หรืออยากให้ใครเห็นว่าเป็นอยู่

เราคิดตามเรื่องเล่าของแม่

ช่วงนี้เราเรียนเนติบัณฑิตอยู่ มีเรื่องให้คลุกคลีกับหนังสือ วรรณกรรม นิตยสารบ้าง แต่ลดปริมาณลงไปเยอะ

จันทร์ถึงเสาร์ เราวนลูปอยู่กับการอ่านคำบรรยายรายสัปดาห์ (มันจะมาเป็นเล่มๆ หนาประมาณ 300 หน้า) ตอนเย็นก็ออกไปเรียนภาคค่ำที่ศาลแพ่งรัชดา เลิกเรียนสองทุ่มก็รอรถเมล์ กลับมาท่องประมวลกฎหมายต่อ

ด้วยความที่เราเรียนนิติศาสตร์มาแบบเรื่อยๆ ตัวบทต่างๆ กระจัดกระจายไปตามวิชาและภาคเรียน จดจำมาไม่เป็นก้อน พอตัดสินใจเรียนต่อเนติบัณฑิตปุ๊บ เราก็ลำบากใจ ไม่รู้จะแบ่งเวลายังไง ทำงานเขียนไปด้วยหรือ? เท่าที่ลองทำๆ มา การแบ่งเวลาให้ตัวเองได้อ่านหนังสือกฎหมายและเข้าเรียนทุกวันอย่างที่ตั้งใจก็เป็นไปได้ยากมาก

มือหนึ่งก็ต้องปล่อยไป

ยังดีหน่อยที่วันก่อน WAY บอกให้เขียนเรื่อง Let’s make the city move ซึ่งเป็นการสรุปประเด็นเสวนาเกี่ยวกับการเดินทางในกรุงเทพฯ ได้วอร์มมือด้านการเขียนเล็กน้อย แต่ก็นั่นแหละ ระหว่างเขียนก็ทำให้เราได้รู้ว่าความพลิ้วไหวนั้นลดลงไปมาก

ในยุคของการ “เป็นทุกอย่างให้ดีที่สุด” เราเริ่มลังเลว่า การจับปลาสองมือมันจะดีจริงหรือ

แต่นี่ก็คือสิ่งที่เราพยายามทำให้ดีที่สุดแล้ว

เมื่อลงมือตั้งใจอ่านกฎหมายทุกวัน ตัวบทแข็งทื่อในวันก่อนก็เป็นเหมือนกฎกติกาในกระดานหรือหลักทางคณิตศาสตร์ที่รอให้เราเข้าไปจับโยก เชื่อมโยง หาค่า มันก็สนุกดีเหมือนกัน

เราโผล่ไปอยู่ท่ามกลางคนที่มีความฝันอีกแบบ โอเค เขาอาจจะไม่ใช้คำงดงามปานนั้น

แต่เขาอาจเรียกมันว่า จุดมุ่งหมาย เป้าหมาย

ระหว่างกินข้าว คำว่าเลื่อนขั้น หรือ เงินเดือน หรือ สอบบรรจุ ฯลฯ เป็นคำที่ได้ยินบ่อยๆ เมื่อเป็นจุดมุ่งหมายที่เราไม่เคยหมายมั่นไว้มาก่อน และเราเองไม่ค่อยศรัทธาระบบราชการเท่าไร ตามสไตล์ที่เขาแซวกันว่าเป็น Gen me แน่ละ เราก็แค่ฟังไปแบบผ่านๆ หู แต่ระหว่างนั้น เราได้กลับมาทบทวนความคิดความฝันของตัวเองเช่นกัน

บรรดาท่านๆ ใส่สูท เดินขึ้นบัลลังก์ยกสูงเพื่อบรรยายให้นักศึกษาที่เนติบัณฑิตยสภา หรือ “เนฯ ใหญ่” ที่บางระมาด

ส่วนเรานั่งดูท่านผ่านจอทีวีที่ถ่ายทอดสดผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เชื่อมโยงระหว่างศาล ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค

เสียงฝนดังซู่ซ่าจากลำโพง ท่านต้องตะเบ็งเสียงเพิ่มขึ้นอีกนิด เพื่อให้นักศึกษาฟังเลขฎีกาชัดๆ จดลงไปเพื่อนำไปค้นคว้าต่อ

“อาจารย์ได้เขียนหนังสืออธิบายตรงนี้ไว้แล้ว แต่ถ้าใครจะมาถามเพิ่มเติมก็ได้ เพราะอย่างน้อยอาจารย์ก็ยังมีชีวิตอยู่”

เรามองใบหน้าชรานั้นผ่านจอทีวีที่ความละเอียดไม่มากนัก นึกสงสัยว่าตอนอายุเท่าเรา พวกเขาฝันอะไรบ้าง

แต่มันอาจจะไม่สำคัญแล้ว ในเมื่อเขาได้สร้างอะไรทิ้งไว้เพื่อสื่อสารกับคนรุ่นเราต่อไป แม้เวลาในชีวิตจะมีอยู่ไม่มาก

ทิ้งไว้สื่อสารกับคนรุ่นเราที่รั้น วิพากษ์ทุกสถาบันที่เก่าแก่ ไม่ผิดหรอก มันคือการค้นคว้าศึกษาด้วยตนเอง

มีเวลาต่อล้อต่อเถียงไม่มากแล้ว หากมีคำถาม ก็ถามได้เฉพาะตอนพวกเขามีชีวิตอยู่ หรือไม่ก็เปิดตำราเก่าคร่าที่อยู่ในห้องสมุด

แต่จะมีคำถามเหล่านั้นได้ เราคงต้องยอมศึกษาตำราเดิมให้จบอย่างน้อยสักหนึ่งรอบ

“ท่องตัวบทให้ได้ แต่ก็อย่าลืมตั้งคำถามกับมัน” อาจารย์คนหนึ่งกล่าวไว้ “อย่าอ่านฎีกาเหมือนอ่านนิยาย ไม่ต้องเห็นด้วย แต่ให้สงสัย แล้วหาคำตอบ”

เก็บสมุด มองออกไปนอกหน้าต่างศาล สายฝนพัดพามาทางเราแล้ว

ทำไมวันนี้ถึงไม่พกร่มมานะ

 

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.