NEUROLAW ปาหินฆ่าให้ตาย หรือ อ่านใจฆาตกร

ฆ่าข่มขืน = ประหาร  สมการงงๆ นี้คงต้องเคยผ่านตาเรามาบ้างตามหน้านิวสฟีด เป็นเรื่องการรณรงค์ให้ชูป้ายถ่ายรูป ฝ่ายผู้รู้กฎหมายบางส่วนก็ออกมาบอกว่า เฮ่ย ข่มขืนแล้วฆ่ามันก็โทษประหารอยู่แล้วนะ แต่ฝ่ายรณรงค์ก็ยังยืนยันว่า เอาเข้าจริง ศาลก็ไม่ตัดสินลงโทษขนาดนั้น ปล่อยให้จำเลยใช้ชีวิตต่อไปในคุก จะนานเท่าไหร่ก็ไม่สมควร

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังเถียงกันได้อีกไม่สิ้นสุด ทั้งประเด็นที่ว่า ฝ่ายไหนกันแน่ที่เป็นเฟมินิสต์ที่แท้จริง (?) ที่คอยกางแขนปกป้องสิทธิสตรี ฝ่ายที่สนับสนุนการลงโทษชายบ้ากามอย่างสาสม? หรือฝ่ายที่บอกว่า อย่าเอาคุณค่าชีวิตของตัวเองไปผูกอยู่แค่ช่องคลอดเลย

ทีนี้ เรื่องที่แวบขึ้นมาชวนให้เราหาคำตอบเล่นๆ ก็คือ อะไรคือความหมายของการลงโทษกันแน่ อธิบายอย่างตรงไปตรงมา การลงโทษก็คือการกระทำบางสิ่งต่อบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำที่ปกติแล้วยอมรับไม่ได้ (เช่น ยิงเป้า บังคับให้กินยาตาย กักขัง ฯลฯ) แต่กระทำได้โดยอำนาจของรัฐหรือสถาบันทางกฎหมาย เพื่อจะให้ผู้กระทำผิดนั้นได้รับผลร้ายจากการกระทำของตัวเอง

neurolaw_large
รูปโดย Jeffrey Decoster ที่มา stanford.edu

แต่วกกลับมาที่คำถามเดิมว่า แล้วไอ้การลงโทษใครสักคน มันมีเหตุผลอย่างไรล่ะ ในทางปรัชญาอาจแบ่งเป็น 2 ค่าย ค่ายแรกเรียกว่า consequentialist  เป็นฝ่ายที่มองไปที่ผลซึ่งตามมาจากการลงโทษ นั่นคือเพื่อลดอาชญากรรมด้วยการแปรเปลี่ยนอาชญากรให้กลับใจ หรือเพื่อไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน ลดแนวโน้มในการกระทำผิด ในขณะที่อีกค่าย คือ retributivism มองว่าการลงโทษก็คือการตอบโต้อย่างสาสมต่อการกระทำผิดนั้นๆ หรือถ้าใครเรียนประวัติศาสตร์ตะวันตกมาบ้าง ก็คงได้ยินหลัก “ตาต่อตาฟันต่อฟัน” ผ่านๆ หูกัน ซึ่งนี่ก็ค่อนข้างจะพ้องพานกับความเดือดแค้น ออกมาประกาศกร้าวให้ลงโทษใครสักคน อย่างการเชียร์ให้ประหาร แบบที่เราจะรู้สึกสะใจ ปาหินมัน เอาให้ตาย ท่ามกลางฝูงชนที่โห่ร้องเกรียวกราว

ไม่ว่าจะมีจุดประสงค์แบบไหน (แก้ไข หรือ แก้แค้น) กระบวนการยุติธรรมแบบที่เราคุ้นเคยกันก็มักเป็นเช่นนี้ เป็นประโยค ถ้า…แล้ว… คือ ถ้าใครทำผิดอะไร แล้วคนคนนั้นจะต้องได้รับผลอะไรทางกฎหมาย และหนึ่งในคีย์เวิร์ดสำคัญก็คือ เขาทำมันโดย “เจตนา” หรือไม่ แต่เราไม่ได้ตั้งคำถามย้อนกลับไปไกลว่า เหตุผลอะไรที่ทำให้ใครคนหนึ่งก่ออาชญากรรมและเจตจำนงเสรีที่จะกระทำถูกหรือกระทำผิดนั้นมีจริงๆ หรือ

มาถึงตรงนี้ บางคนอาจบอกว่า ไร้สาระน่า คนทำผิดก็คือคนทำผิด เพราะเขาเป็นคนชั่วไง ก็แค่นั้น

แต่อาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ เพราะมีนักประสาทวิทยาและนักกฎหมายที่คิดเรื่องนี้กันจริงๆ จังๆ มานานหลายปีแล้ว (ในต่างประเทศนะ) จากเหตุการณ์ที่มีฆาตกร ชื่อ เคนเน็ต พาร์กส์ ละเมอแล้วขับรถเป็นระยะทางร่วม 14 ไมล์ บุกเข้าไปแทงแม่ยายของตัวเอง โดยเขาไม่รู้ตัวเลย หลังจากนั้น เขาก็ขับรถไปมอบตัวกับตำรวจเอง พร้อมบอกด้วยว่า “ผมคิดว่าผมฆ่าใครสักคน” แล้วก็เพิ่งสังเกตเดี๋ยวนั้นว่า มือของเขาเองก็ถูกตัดออกไป เมื่อดูจากข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว เคนเน็ตไม่มีแรงจูงใจอะไรเลยในการฆ่าครั้งนี้ และผลสุดท้ายศาลก็ตัดสินว่า เขาบริสุทธิ์

01db1b6e4daa216a0f1f96519006db5f
David Eagleman จาก dailymaverick.co.za

นั่นเป็นเหตุการณ์ที่ ดร. เดวิด อีเกิลแมน นำมาเล่าต่อในหนังสือของเขาชื่อ Incognito ว่าด้วยเรื่องประสาทวิทยาและกลไกประดามีที่ทำงานในหัวของเราโดยเราไม่รู้ตัวเลย และเป็นที่มาของบทเกือบสุดท้ายที่ว่าด้วยกฎหมายและประสาทวิทยา ซึ่งในผู้ที่คลุกคลีอยู่วงการ เรียกศาสตร์ใหม่นี้สั้นๆ ว่า Neurolaw ย่อมาจาก Neuroscience and Law

แน่นอน นักกฎหมายในไทยก็ต้องบอกว่าเหตุการณ์เคนเน็ตไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไร หากไม่มีเจตนาก็ไม่ผิดอยู่แล้ว แต่ ดร. อีเกิลแมนตั้งคำถามต่อไปว่า ในแต่ละการกระทำ คนเรารู้ตัวและควบคุมตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน คนบางคนมียีนที่ทำให้มีแนวโน้มเจ้าชู้ได้มากกว่าคนอื่นๆ และคนบางคน … เช่นเดียวกัน… มีแนวโน้มอ่อนข้อให้กับความปรารถนาจะก่ออาชญากรรมบางประเภทได้มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งอาจจะมาจากยีนหรือความผิดปกติภายในสมองเองก็ได้

ชาร์ลส์ วิตแมน ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่กระทำผิดโดยรู้ตัว ในวัย 25 ปี เขายิงคนไป 13 คน เรื่องมันคงไม่ซับซ้อนถ้าคืนก่อนหน้าที่เขาลงมือทำความผิด เขาไม่ได้พิมพ์ข้อความทิ้งไว้ ในทำนองว่า เขาไม่เข้าใจตัวเองเลย เขาควรเป็นชายหนุ่มที่มีตรรกะและความคิดอ่านตามมาตรฐานคนทั่วไป แต่ช่วงนี้เขาเอง “ตกเป็นเหยื่อ” ของความคิดแปลกๆ ไร้สาระมากมาย (เพิ่มเครื่องหมายอัญประกาศโดยผู้เขียน)

เรื่องนี้คงถกเถียงได้ยากว่าเขาเจตนาหรือไม่ เพราะการกระทำแต่ละขั้นตอนเป็นไปโดยวิตแมนรู้ตัว แต่จะควบคุมตัวเองได้ระดับไหน และเขาสมควรถูกลงโทษจากการกระทำผิดนั้นมากน้อยเท่าไหร่ เป็นเรื่องที่ Neurolaw สนใจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่มันมุ่งหาคำตอบเป็นหลัก

colloquium-on-law-and-neuroscience-poster
xshen.com

เหตุการณ์ดังกล่าวจุดประกายแน่นอน แต่ท้ายที่สุด ศาสตร์นี้ต้องการค้นหาว่า จะมีวิธีจัดการกับอาชญากรประเภทนี้อย่างไรได้อีกบ้างหนอ คงใช้โทษ ประหาร กักขัง เสียค่าปรับ ฯลฯ แบบคนทั่วไปไม่ได้ เพราะเท่ากับแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทางออกก็คงต้องไปแก้ที่สมอง

เรื่องน่าสนใจก็คือ นักวิทยาศาสตร์และนักกฎหมายพวกนี้วิเคราะห์กันไปถึงขั้นว่า รัฐมีอำนาจเปลี่ยนแปลงพลเมืองของตนเองมากแค่ไหน (เพราะการแก้ไขสมองของบุคคลเหล่านี้ให้กลายเป็นคนใหม่ก็อาจเป็นการล่วงล้ำเกินงาม)

ส่วนในประเทศเราก็ต้องพิเคราะห์กันต่อไปว่า ประโยชน์ของโทษประหาร คืออะไรกันแน่นะ และการเอาชีวิตใครสักคน จุดประสงค์ของมันคืออะไร

 

อ้างอิง

http://www.iep.utm.edu/m-p-puni/

http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4395810/

http://www.eaglemanlab.net/neurolaw

หมายเหตุ: บทความนี้มาจากเขียนเสนอเว็บไซต์แห่งหนึ่ง แต่ไม่ได้ใช้ ก็เลยเอามาลงบล็อกแทนจ้า

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.