อ่านไม่รู้เรื่อง คุยให้รู้เรื่อง

เมื่อวานได้ไปฟังเสวนา อ่านไม่รู้เรื่อง ที่ร้าน books & belongings มาตั้งใจไว้ว่าจะไม่เอาเครื่องอัดเสียงไป (เพราะจะต้องอยากกลับมาถอดเทปแน่ๆ) แต่สุดท้ายไปฟังแล้วก็อยากมาเขียนสรุปๆ ไว้ อาจจะมีคลาดเคลื่อนบ้างเพราะปะติดปะต่อจากที่จำได้ ถ้าเกิดผิดพลาดอย่างไรก็คอมเมนต์แนะนำได้เลยน้า

มิ่ง ปัญหา : โลกภาษาของเชกสเปียร์

อาจารย์มิ่งเปิดประเด็นด้วยการพูดถึงวรรณกรรมอังกฤษอย่างเชกสเปียร์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องอ่านยาก เข้าใจยาก ซึ่งก็ได้ให้คำอธิบายว่า งานเชกสเปียร์จริงๆ แล้วมีการรวบรวมเป็นเล่มภายหลังที่เขาเสียชีวิต เป็นการปะติดปะต่อบทของทีมนักแสดงที่ได้รับแจกไปซ้อมแยกกันไป และบทละครเรื่องหนึ่งก็ไม่ได้เกิดจากการประพันธ์ของเชกสเปียร์คนเดียว หากเป็นบทตอนที่เล่นคำขบขันนั่นคงเป็นเขา อีกอย่างหนึ่งก็คือบทละครในยุคสมัยนั้นนำไปแสดงในเดอะโกลบ โรงละครที่รวมคนทุกชนชั้นด้วยกัน บทละครจึงต้องเอนเตอร์เทนทั้งคนข้างบน (ผู้ร่ำรวย ชนชั้นสูง มีการศึกษา) กับคนข้างล่าง ซึ่งมีความเข้าใจต่อลูกเล่นภาษาที่จำกัด

แล้วทำอย่างไรจึงจะอ่านเชกสเปียร์รู้เรื่อง อาจารย์มิ่งบอกว่า อาจใช้ตัวช่วยที่หลากหลาย เช่น ครูบาอาจารย์ sparknotes หรือดูละคร แต่ก็ให้มองเหมือนเวลาเราเรียนภาษาต่างประเทศ ถ้าเรามัวแต่อ่านคำแปลก็จะไม่ได้เรียนรู้ แต่ถ้าอ่านแบบควบคู่กันไป ดูหนังดูละครที่สร้างมาเพื่อศึกษาท่าทางประกอบ ก็จะเริ่มคุ้นเคยกับภาษาเชกสเปียร์ จนในที่สุดก็อ่านได้เข้าใจ

แต่ก็มีบ้างเหมือนกัน จำพวกฉากที่ใส่เข้ามาแบบงงๆ ตีความได้ยากว่าจะสื่ออะไร ซึ่งสิ่งนี้ก็น่าสนุก เพราะทำให้คนอ่านได้คิดปะติดปะต่อเอง ที่สำคัญที่สุด การมาร่วมกันอ่านไม่รู้เรื่องกันเป็นหมู่คณะ ได้ถกเถียง แลกเปลี่ยนความเห็นในมุมตัวเองนั้นเป็นกิจกรรมที่สนุกดี

ทั้งนี้ น่าจะมีผู้แปลงานเชกสเปียร์ออกมาหลายๆ ฉบับ เพื่อให้เห็นการตีความที่ต่างมุมมองกันไป

เกษม เพ็ญภินันท์ : การให้เวลากับตัวบท

อาจารย์เกษม ได้เข้ามาพร้อมกับหนังสือปรัชญาของไฮเดกเกอร์ ชื่อว่า Being and Time ซึ่งได้ชื่อว่าอ่านยาก เขาเริ่มต้นด้วยการปูพื้นว่า จนได้รับโจทย์เรื่องอ่านไม่รู้เรื่องมา ก็มานั่งคิดว่า การบอกว่าอ่านไม่รู้เรื่องมาจากทัศนะที่ผิด ทัศนคติที่ว่านั้นก็เช่นการตัดสินทันทีว่าคนเขียนเลอะเทอะ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้กลับมาถามตัวเองก่อนว่า ขณะที่ได้อ่าน เราเองมีความรู้พื้นฐานอะไรเท่ากับที่คนเขียนรู้มาก่อนแล้วหรือไม่

โดยเฉพาะงานเขียนทางด้านปรัชญา เป็นงานที่มีพื้นหลังข้อถกเถียงทางปรัชญากันมาก่อน เป็นสนามทางความคิด การที่เราจะเข้าใจว่านักปรัชญาคนนี้กำลังพูดถึงอะไร สนทนาต่อมาจากเรื่องอะไร สำคัญคือเราจะต้องพอมีความรู้หรือคลังศัพท์ตรงนี้บ้าง อีกทั้งศัพท์ในทางปรัชญา กระทั่งในภาษาสากลอย่างภาษาอังกฤษ ก็มีไวยากรณ์และความหมายในแบบตัวเอง เช่น คำว่า economy ซึ่งไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจ แต่มาจาก eco และ nomos ที่หมายถึงระบบของบ้าน หรืออีกตัวอย่างคือการใช้คำว่า สิ่งที่ไม่ถูกปกปิด แทนที่จะพูดว่า สิ่งที่เปลือยเปล่า

นั่นดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคแรกในการเข้าถึงงานเขียนของไฮเดกเกอร์

อีกประการคืองานเขียนชิ้นนี้ของไฮเดกเกอร์เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (พาราไดม์) ในความคิดทางปรัชญา ที่คนอื่นๆ กระโดดข้ามมาแล้ว แต่ไฮเดกเกอร์กลับไปย้อนคิดสำรวจใหม่ ซึ่งหมายถึงว่าผู้อ่านเองก็ต้องรู้ก่อนว่ากระบวนทัศน์ก่อนหน้าคืออะไร ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราในฐานะผู้อ่านจะต้องอ่านปรัชญาแบบเรียงตามลำดับประวัติศาสตร์ทางความคิด

มีผู้ถามคำถามขึ้นว่า เหตุใดไฮเดกเกอร์จึงได้รับการยอมรับทางวิชาการในเมื่องานชิ้นนี้เข้าถึงได้ยาก มีคน get กับเขาจริงๆ ไหม อาจารย์เกษมตอบว่า ไฮเดกเกอร์คืออาจารย์ที่สอนการคิด การคิดเป็นออบเจ็กต์ในตัวเองโดยที่ไม่ต้องมีกรรมได้มารองรับตัวมันอีก เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในด้านการเป็นอาจารย์สอนหนังสือ แต่เมื่อถึงคราวต้องเขียนงานเพื่อรับตำแหน่งทางวิชาการ ไฮเดกเกอร์จึงได้เขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา ซึ่งเนื้อหาก็ออกจะเป็นโปรเจกต์ทางความคิดที่ยังไม่เสร็จ (unfinished project) ยังเหลือส่วนที่สามซึ่งไฮเดกเกอร์ตั้งใจไว้ว่าจะเขียน แต่ก็ยังไม่ได้เขียน กระทั่งถึงยุคที่เขาขึ้นปาฐกเกี่ยวกับนาซี และเนื้อหาในคำพูดนั้นก็เหมือนว่าความคิดเรื่องนี้ของเขาได้เปลี่ยนไป

แล้วถ้ายังไงเราก็ไม่มีทางอ่านรู้เรื่องล่ะ อาจารย์เกษมบอกว่า การอ่านไม่รู้เรื่องเป็นประสบการณ์ที่ดี ทำให้เราได้คุยกับตัวเอง ทำความเข้าใจตัวบทนั้นผ่านการคิดใคร่ครวญ การอ่านไม่ได้หมายความว่าจะต้องเข้าใจในทันที แต่คือโอกาสที่เราจะได้ใช้เวลาวนเวียนคิดเกี่ยวกับมันจริงๆ จังๆ เหมือนคราวที่เขาไปเรียนปรัชญาที่ต่างประเทศในช่วงแรกๆ เพื่อนฝูงอาจารย์ต่างก็มาตบไหล่บอกว่า “take time”

ใครบางคนอ่านบอกว่า นั่นเป็นเพราะเราไม่ใช่ native ของภาษานั้นๆ เช่น ไฮเดกเกอร์เขียนภาษาเยอรมัน นักปรัชญาหลายคนก็เขียนภาษาฝรั่งเศส คำบางคำที่ไม่มีในภาษาของเราอาจทำให้เราไม่อาจเข้าถึงความคิดนั้นๆ ได้ อาจารย์เกษมส่ายหัว เล่าเรื่องที่เขาเคยได้รับโจทย์ให้แปลภาษากรีกโบราณออกมา เขาจึงไปแซวเพื่อนชาวกรีกว่า อย่างนี้ก็สบายเลยสิ แต่จริงๆ แล้ว ภาษากรีกโบราณกับกรีกปัจจุบันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งศัพท์และไวยากรณ์ หรือแม้แต่งานเขียนภาษาเยอรมันก็มีคำธรรมดาบางคำที่เมื่อมาอยู่ในงานของนักเขียนคนหนึ่งแล้วกลับมีความหมายต่างไปจากที่ใช้กันโดยทั่วไป สิ่งสำคัญคือเรากำลังเข้าถึงเนื้อหาทางปรัชญาโดยมุ่งไปที่ literary meaning ของมัน ไม่ว่าจะสื่อสารผ่านภาษาอะไร และยิ่งกว่าภาษาทั้งหมดนี้ คือภาษาปรัชญา ซึ่งเป็นภาษาเฉพาะ

อาทิตย์ ศรีจันทร์ : วรรณคดีไทยสื่อสารกับใครหรือ

มาถึงวรรณคดีไทยที่ใกล้ตัวเราที่สุด ถึงขั้นที่บรรจุอยู่ในหลักสูตรประถม มัธยม อาจารย์อาทิตย์ได้ปูพื้นให้ฟังว่าวรรณคดีไทยที่เป็นการแบ่งวรรณกรรมราชสำนักออกจากวรรณกรรมชาวบ้านนั้น ได้สร้างกฎเกณฑ์เมื่อรัชกาลที่ 6 นี้เองว่าอย่างไรจึงจะเป็นวรรณคดีที่ควรยกย่อง ฉันทลักษณ์ต่างๆ ที่เป็นกฎเกณฑ์การประพันธ์นั้นก็เพิ่งวาดผังอย่างเป็นทางการ ในสมัยก่อนกวีนั้นไม่ได้คอยเทียบผังว่าเขียนได้ถูกต้องไหม

ความงดงามของวรรณคดีไทยนั้นอยู่ที่เสียงอ่าน จึงมีการประพันธ์ที่เล่นกับเสียงสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ กวีท้าทายตัวเองด้วยการประพันธ์ด้วยพยัญชนะเสียงเดียวทั้งบทเพื่อให้เกิดความไพเราะแต่ดูไม่สื่อความหมาย เป็นต้น หรือวรรณคดีบางเรื่องก็ประพันธ์ขึ้นเพื่อแสดงท่ารำ ไม่ใช่เพื่ออ่าน เช่นเรื่องอิเหนามีฉากอาบน้ำหลายต่อหลายฉาก ซึ่งนั่นก็เพราะต้องการให้ตัวละครแสดงท่ารำที่ชดช้อยต่างกันไป เป็นการอวดสกิลที่หากคนในยุคเราอ่านตัวเนื้อเรื่องอย่างเดียวก็จะไม่เข้าใจ

ประการต่อมา คือความเข้าใจผิดว่าภาษาไทยนั่นรุ่มรวย แต่จริงๆ แล้ว หลายๆ ครั้งเราต้องหยิบยืมภาษาต่างประเทศมาอธิบายบางอย่างที่ภาษาไทยไม่สามารถอธิบายได้ครอบคลุม ซึ่งความรู้ภาษาต่างประเทศนี้ก็จำกัดอยู่ในชนชั้นสูง ในราชสำนัก และบางครั้งการประพันธ์ที่ต้องการอวดภูมิก็มักใช้คำภาษาต่างประเทศเยอะๆ มาแต่ไหนแต่ไร ความสับสนก็คือ เมื่อสถาบันสมัยใหม่พยายามถอดความงานเขียนเก่าๆ เหล่านี้ออกมาก็มักจะแปลไม่ตรงกัน เช่น คำว่า มาตรยก ซึ่งเป็นภาษาเขมร อ่านว่า มาเตรียก ในบางฉบับกลับแปลว่า มาตรยก

อาจารย์อาทิตย์ทิ้งท้ายว่า การที่เราจะตัดสินว่าตุ่มลิ้นรับรสของใครไม่ทำงานเพียงเพราะเขาอ่านอะไรไม่รู้เรื่องนั้น เป็นคำตัดสินที่ออกจะเกินเลย เพราะอย่างที่เราเห็นว่าบางครั้งก็เป็นความต้องการเจาะจงของผู้ประพันธ์เองที่จะให้คนกลุ่มไหนเข้าใจ คนในยุคสมัยใดเข้าถึงได้ ไม่ได้แปลว่าเราขาดไร้จินตนาการแต่อย่างใด หากแต่เมื่อเราต้องการจะอ่านให้เข้าใจ เราก็อาจหาวิธีเข้าถึงในทางอื่นๆ โดยไม่ต้องตะบันอ่าน เช่น การเข้าถึงเนื้อหาผ่านผู้รู้ที่ฝึกฝนมาแล้ว

 

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.