ก่อนจะออกไปเรียนเนติฯ เย็นนี้ เราอยากเขียนบันทึกสั้นๆ เกี่ยวกับการทำงานหนังสือเล่ม Revenge ของสำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์ ในโอกาสที่วันก่อนนักแปลได้เขียนถึงพวกเรา (เราและพี่แบงก์)
Revenge หรือชื่อไทยแสนยาวว่า เรือนร่างเงียบเชียบ การบอกลาเย็นเยียบน่าขยะแขยง เป็นงานหินทีเดียวสำหรับเรา
เล่มก่อนหน้านั้นซึ่งก็คือ SUM ซึ่งขายดิบขายดี ทำให้มีเงินมาต่อลมหายใจเล่มที่สอง (ไหว้พี่เขาซะนะลูก) แต่ก็ไม่ได้เยอะแยะเสียจนเราอยากจะทำอะไรก็ได้
แล้วทำยังไงให้การทำหนังสือมันยังสนุกกับฟรีแลนซ์สองคนล่ะ
ก็ทำไปเรื่อยๆ ไง
ขอลิขสิทธิ์
ไม่ใช่ว่าเราทำซัมจบปุ๊บก็คว้าเล่มใหม่ได้เลย เรางมหา sci-fi ในแผงหนังสือหรือใน goodreads อยู่นาน เกือบไปพลั้งพลาดหยิบเล่มที่ไม่ใช่มา แต่มองหน้ากันแล้ว ยังไงมันก็ไม่มีทางได้อารมณ์เดียวกับซัม (แต่ถ้าใครมีแนะนำก็บอกได้เน่อ)
หลายครั้งเรามานั่งทบทวนกันหลังแก้วเบียร์ว่า พวกเราทำอะไรกันอยู่นะ ต้องใช้พลังงานและเวลาขนาดไหนในการค้นหาหนังสือเล่มที่ใช่ แถมต้องคนหาไว้กองเป็นสต๊อกด้วยเพื่อให้มันต่อเนื่อง ไม่ติดขัดแบบเล่มนี้ เอ้อ แล้วการสต๊อกมันก็มีต้นทุนของมันใช่ไหมล่ะ
เมื่อเราเริ่มปล่อยวางกับการยึดแนวทาง sci-fi เคร่งครัด เพราะมั่นใจแน่แล้วว่าการทำหนังสือให้ไจไจต้องทำด้วยความสนุกคึกคักแบบเล่มแรก เราจึงเสนอชื่อกันมาอย่างอิสระ
เล่มแรกเป็นงานเกาหลี รวมเรื่องสั้นขนลุกซู่ที่เคยมีคนแปลไว้เมื่อนานมาแล้ว แต่ติดขัดเรื่องการตามหาเอเจนซี่ที่ดูแลลิขสิทธิ์ ใช้เวลานาน ค้นหา รอคำตอบ แล้วก็ต้องปล่อยไป เพราะตามตัวไม่พบ
เล่มที่สอง เราได้ลุ้นหน่อย คือเข้าเสนอราคา แต่ปรากฏว่ามีสำนักพิมพ์อื่นให้ข้อเสนอดีกว่า ไจไจก็ถอยสิฮะ เราต้องเก็บเงินไว้ จ๋อยๆ กันไป
จนสุดท้าย พี่แบงก์ก็เจอ Revenge …โอเค มันไม่ใช่ sci-fi หรอก แต่อะไรบางอย่างในเล่มบอกว่า มันจะให้ความรู้สึกขนลุกพิลึกในแต่ละบท แถมเกี่ยวกับเรื่องความตายและความรัก จะมืดดำก็ไม่ใช่ จะอ่อนหวานก็ไม่เชิง
โชคดีหน่อย แม้ว่านักเขียนจะดังระเบิด แต่การขอลิขสิทธิ์ผ่านไปได้ด้วยดี … เอาล่ะ เริ่มลงมือทำหนังสือกันจริงๆ ได้แล้ว
นักแปล ยี่ปุ่ง
เมื่อคิดจะทำวรรณกรรมญี่ปุ่นแล้ว พี่แบงก์ก็ขอไว้ว่าให้เป็นการแปลจากภาษาญี่ปุ่นเถอะนะ จะได้ไม่มีคำครหา แม้ว่าเราสองคนจะรู้จักเรื่องนี้ผ่านฉบับภาษาอังกฤษก็ตาม
ภารกิจตามหานักแปลจึงเกิดขึ้น
อันที่จริง เราต้องหานักแปลไว้ก่อนขอลิขสิทธิ์นั่นแหละ แต่ไปๆ มาๆ ก็สุดวิสัย เซ็นสัญญาลิขสิทธิ์ปุ๊บ นักแปลคนแรกก็ไม่สะดวกเสียแล้ว นี่เป็นอุปสรรคใหม่ที่ไจไจต้องแก้ปัญหา
เป็นครั้งแรกที่เราต้องขอมือคนอื่นมาร่วมแรง เราก็ต้องยอมรับความเสี่ยงนี้เหมือนกัน
โชคดี วันหนึ่งพี่แบงก์ก็เจอเพื่อนเก่าจากค่ายอาสาที่มหาวิทยาลัย เป็นเด็กอักษรฯ เอกญี่ปุ่น ชื่อพี่ลูกหยี กำลังต่อปริญญาเอก และกำลังจะแต่งงาน! อะไรจะประจวบเหมาะขนาดนั้น เราก็เลยให้เธอเริ่มต้นชีวิตแต่งงานด้วยการแปลโอกาวะ
ต้องขอบคุณพี่ลูกหยีมากๆ ถือว่าเป็นนางฟ้าที่บินมาช่วยชีวิตเราสองคนผู้ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเลยสักนิด คนหนึ่งก็เรียนภาษาเวียดนาม อีกคนก็เรียนภาษาอินโดที่คณะ
พี่ลูกหยีทำให้เราได้จูงมือคุณแม่โอกาวะไปต่อ และไม่เสียต้นทุนนั้นไปเปล่า
เรียน-ทำงาน
ปัญหาก็คือ เรามีเวลาไม่นานเท่านั้น ก่อนจะลงเรียนเนติบัณฑิตแบบเต็มตัว มานิตาก็มีงานเข้ามากขึ้นทุกวันๆ พี่ลูกหยีก็กำลังจะเปิดเทอม
พี่แบงก์จึงวางกรอบเวลาไว้ให้ทุกคน …พี่แบงก์นี่แหละบิ๊กบอสตัวจริง ใส่ใจทุกคน
แต่เราก็รู้ว่าแผนการที่ดีเยี่ยมก็ย่อมต้องเจออะไรไม่คาดฝันในชีวิตจริงบ้างเพื่อความสนุกสนาน โดยเฉพาะกับงานแปล งานเขียน เราเข้าใจเลยว่าการคะเนเวลาการแปลจากการมองผ่านๆ ในแวบแรกอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะในระหว่างทาง แม้เราจะเข้าใจความหมายต้นทางดี แต่การหาคำที่ใช่ที่สุดในภาษาไทย ไม่ติดขัดในใจทีหลัง เป็นเรื่องที่ต้องใจเย็นและให้เวลากับมันมากๆ
พี่ลูกหยีก็ทำตรงนี้เต็มที่ พร้อมกับปฏิบัติหน้าที่ด้านอื่นๆ ในชีวิตไปด้วย ทั้งการเรียนและการเริ่มต้นชีวิตครอบครัว และแน่นอน… ความทุ่มเทนี้ต้องการเวลามากกว่าที่เรากำหนดไว้
เราทำงานกันข้ามประเทศ ผ่านกูเกิลไดรฟ์ บางครั้งก็โผล่มาเจอกันตีสองตีสาม ในแชทของเอกสาร
เอ้อก็พี่เค้าอยู่เมืองนอก
แต่เห้ย! ญี่ปุ่นมันก็ต้องเร็วกว่าเราดิ นี่แสดงว่าพี่เขาแปลยันสว่าง
นี่แหละ ถึงแม้จะใช้เวลามากหน่อย แต่เรารับรู้ได้ว่าพี่ลูกหยีทำอย่างหามรุ่งหามค่ำ
เราคิดว่า ขอแค่พี่ลูกหยีไม่หายไปไหนอีกคนก็ดีใจมากๆ แล้ว …กราบงามๆ
ดีไซน์
งานหน้าปกนี้ก็เป็นผลงานของมานิตา อาร์ตไดเรกเตอร์ไจไจที่ทำงานกันมาตั้งแต่เล่มแรก
พี่แบงก์บรีฟคร่าวๆ ก่อนที่นักแปลจะแปลเสร็จด้วยซ้ำ
ผลก็คือมานิตาออกแบบปกเสร็จตั้งแต่หลายเดือนก่อน ก่อนที่ต้นฉบับจะเสร็จ เราเห็นปกก็หลงรักแล้ว แทบจะไม่มีอะไรต้องปรับ เป็นความเหวอ-พินิจ-ชอบ-ดำดิ่ง-พอใจและวางใจ เหมือนกับตอนเห็นปกซัมดราฟต์แรก
และนางก็เอาไปติดไว้ในงาน Art Ground ถือเป็นการโฆษณาที่แยบยล …จนอาจไม่มีใครสังเกตเห็น
โอ๊ย รัก
บรรณาธิการ
พี่แบงก์มีภาระหน้าที่หลายอย่าง ในสำนักพิมพ์เล็กๆ อย่างไจไจ เราก็พยายามทำทุกอย่างให้มันถูกต้อง ทั้งเรื่องการจัดเก็บเอกสาร จดทะเบียนภาษีอากร ทำบัญชี ยื่นเสียภาษีครึ่งปี ฯลฯ
พูดว่าไจไจเป็นงานเสริมก็จริง แต่งานจิปาถะมากมายเหล่านี้ รวมๆ กันแล้วก็แทบจะกินเวลามากกว่างานฟรีแลนซ์อื่น
เหมือนเข้าคอร์สอินเทนซีฟบัญชีและภาษีอากร ไม่เกี่ยวกับการทำหนังสือเท่าไหร่
สิ่งที่เราพอจะช่วยได้บ้างก็คงเป็นเรื่องการติดต่อ ทำสัญญา ซึ่งคงไม่หัวหมุนเท่าการจัดการตัวเลข
ในเมื่อบิ๊กบอสยุ่งวุ่นวายกับเรื่องอื่นๆ ที่เป็นกระดูกสันหลังห้างหุ้นส่วน เล่มนี้พี่แบงก์เลยให้เราเป็นคนดูต้นฉบับในรอบแรก
บอกกันตรงนี้แบบไม่กลัวเสียเครดิตเลยก็ได้ ว่าเราทำงานในฐานะผู้เขียนที่ถูกบรรณาธิการแนะนำหรือติติงมาตลอด พอต้องมาทำหน้าที่อีดิตสิ่งที่คนอื่นเขียนก็เกร็งอยู่เหมือนกัน (เพราะเข้าใจความรู้สึก 555) แต่ในเมื่อเราสามคนอยากให้งานออกมาดีที่สุด เราก็จัดเต็ม
แต่หลายๆ จุด ด้วยความอ่อนหัด เราปรับแก้เป็นภาษาไทยด้วยความไม่เข้าใจภาษาต้นทาง ดีหน่อยที่พี่ลูกหยีอดทนตรวจทาน และกลับมาอธิบายเพิ่มเติมว่าเหตุใดจึงตัดไม่ได้ แม้ว่ามันจะฟังดูไม่คุ้นหูเมื่อนำมาพูดในภาษาไทย
บางเรื่องเป็นวัฒนธรรมอันแสนประณีตของญี่ปุ่น การขอโทษ การขออนุญาต การแสดงมารยาทที่อ่อนน้อมแล้วอ่อนน้อมอีก
บ้างก็เป็นเทคนิคใช้คำซ้ำๆ ของผู้เขียน
เราเข้าใจแล้ว งานแปลมันมากกว่าการเปลี่ยนภาษา แต่มันคือการนำเข้าวัฒนธรรมที่เราไม่คุ้นเคยเข้ามาด้วย โดยไม่ให้เสียความหมายเดิม
พิมพ์!
คำนวณกันจริงๆ แล้ว เล่มนี้มีอัตราต้นทุนต่อเล่มสูงกว่า SUM มาก และเป็นการลงทุนของคนบ้าๆ สองคน ที่ก็ต้องคอยพะวงอนาคตทางการเงินของตัวเองบ้างเหมือนกัน แต่เราคิดกันแล้วว่า เงินไจไจ ก็เป็นของไจไจไปแล้ว
ทำรูปเล่มให้ออกมางดงามน่าพอใจอย่างเต็มที่เถอะนะ
ต้นทุนที่เพิ่มมาอีกอย่างคือค่าพิมพ์โปสเตอร์ ลิมิเต็ดอิดิชัน ที่ส่งให้เพียงสองร้านในประเทศไทยเท่านั้นคือ Readery และ Candide จำนวนรวมกัน 300 แผ่น
ไม่ใช่ร่ำรวยหรืออะไร แต่เรารู้ว่าการมีของแถมตอบแทนนักอ่านอย่างนี้ก็น่ารักดี ไหนๆ ก็ปล่อยให้เขารอเป็นปี
แต่คงไม่ได้ทำออกมาบ่อยๆ เพราะฉะนั้นรีบไปซื้อกันเถอะก่อนจะหมด
–
ส่งท้ายสั้นๆ
เราชอบทำหนังสือนะ เราไม่เชิดชูว่าตัวเองทำได้ดีมาก แต่มันก็เป็นงานที่ถ้ามีเวลาก็อยากแวบมาทำบ้าง แต่เป้าหมายหลักตอนนี้ก็คือการสอบกฎหมายให้ผ่าน
ไจไจจึงเป็นความมินิมอล เรื่องที่ไม่จำเป็นมากๆ แบบเร่งด่วน เราก็ต้องปล่อยวาง
ไม่อย่างนั้นจะหมดแรงและเบื่อหน่ายไปเสียก่อน
เพื่อสุดท้ายแล้ว เราจะยังได้มีพลังงานทางไจ (และทางเงิน) สะสมไว้เพื่อปล่อยเล่มใหม่ๆ อีกครั้ง
และตอนนั้นเราคงได้กลับมาเขียนบันทึกอีก
(สำหรับเรื่องราวเพิ่มเติม ติดตามที่เพจ Chaichai Books)
ุ้แฟนคับสำนกพิมนี้คะ ติดตามต่อไปนะค่ะ สู้ๆค่ะ
ถูกใจถูกใจ