ผลสอบวิชาว่าความภาคทฤษฎีออกมา เมื่อเราผ่าน เราก็ต้องไปหาที่ฝึกงานทนายความ 6 เดือน เพื่อนำไปสอบภาคปฏิบัติต่อ จากนั้นถ้าสอบผ่าน เราก็จะได้ใบอนุญาตทนายความมา
ขั้นตอนระหว่างนี้ที่เราฉุกละหุกก็คือ ต้องหาที่ฝึกงาน
เนื่องจากช่วงเวลาก่อนหน้านี้ เราทำงานในแวดวงหนังสือ รู้จักไปโม้ดด (แบบรู้จักแค่ชื่อ คุยกันสองสามคำบ้างก็มี) แต่พอเข้ามาอยู่ในวงกฎหมาย เรารู้เลยว่ามันช่างอ้างว้าง ไม่รู้จักใครเลย
จนได้ที่ฝึกงานซึ่งมีเครือข่ายมาจากคนทำหนังสือ ทนายหนุ่มนัดเราที่สำนักงานเขตแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
นี่เองที่เราได้เจอเขา “ราจีฟ” (นามสมมุติ) พนักงานบริษัทที่เพิ่งสอบภาคทฤษฎีผ่านเหมือนกัน และมาขอลายเซ็นพี่ทนายคนเดียวกัน
หลังจากได้ลายเซ็นอันเลอค่ามา พวกเราก็นั่งรถเมล์ไปสภาทนายความด้วยกัน อากาศร้อนฉ่า ฟ้องว่าหน้าหนาวยังเดินทางมาไม่ถึง รถสาย 39 คันเล็กแคบวิ่งกระโดกกระเดกไปตามถนนพหลโยธินอันติดขัดและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
“มันติดแบบนี้แม้แต่ตอนกลางวันเลยหรอ”
ราจีฟซึ่งเกิดต่างจังหวัด เรียนต่างจังหวัด และปัจจุบันก็ยังทำงานต่างจังหวัด (คนละจังหวัดกัน) ถามขึ้น
เราพยักหน้ายิ้มๆ อย่างรันทด
เส้นทางสู่สภาทนายฯ อันยาวนานจึงปลุกบทสนทนาขึ้น
ราจีฟสอบเนติบัณฑิตภาคแรกผ่านทั้งขาอาญาและขาแพ่งแล้ว ในขณะที่เราตกขาอาญาไปอย่างหวุดหวิด คือ 2 คะแนน
“แปลกดี แพ่งได้แค่ 999 คน ดันผ่าน แต่ตกอาญา” เขาตั้งความเห็นต้องตรงกับใจเรา
ราจีฟทุ่มเทให้กับการเรียนอย่างเห็นได้ชัด เขานั่งอ่านหนังสือเมื่อรถติดหนัก บ่นว่าตั้งแต่ทำงานก็ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเลย สมัยที่เรียนอย่างเดียวก็อ่านจนถึงตีห้า
“แล้วทำงานเป็นไงมั่ง” เราไม่แน่ใจว่านี่เป็นเราที่ถามขึ้น หรือระหว่างที่เขาสาธยายถึงความลำบากในการเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ได้ลากมาสู่เรื่องนี้
“ถ้าตามสัญญา มันก็คือเลิกงาน 5 โมง แต่ถ้าตามจริง ก็เลิก 3 ทุ่มบ้าง … ไม่ได้ค่าล่วงเวลานะ ไปทบเป็นวันหยุดเอา”
เรานิ่งเงียบ ทบทวนวิชากฎหมายแรงงานที่เพิ่งสอบไปเมื่อเทอมที่แล้ว ทบทวนอีกคำรบ เพราะเป็นขาอาญาที่เราสอบตก
“มัน…ผิดกฎหมายป่าว”
ราจีฟพ่นเสียงหัวเราะ “เออสิ แต่เราเคยท้วงเรื่องนี้ไป หัวหน้าโกรธมาก บอกว่าคุณต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ จากนั้นเราก็โดนเทศน์ยกใหญ่ เขาคงกลัวเราไปฟ้องบริษัทจริงๆ ถ้าเราลาออก”
เหมือนก๊อกรั่ว จากนั้นเขามีมีบรรดาเคสต่างๆ ที่เขาต้องทำมาเล่าให้ฟัง
“หลังๆ เรามีปัญหาว่า เมื่อสั่งวัตถุดิบล่วงหน้า พอราคาของมันขึ้น คู่ค้าก็เอาไปขายคนอื่นเพราะได้ราคาดีกว่า แล้วก็มาบอกบริษัทเราว่าของหมด เราก็เสียหาย หัวหน้าบอกว่า มีวิธีไหมที่จะทำให้สินค้าตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเรานับตั้งแต่ซื้อ (แม้จะยังไม่ได้กำหนดตัวทรัพย์) แต่ไม่เอาความรับผิดในภัยพิบัติมาด้วย”
พูดง่ายๆ ก็คือ ฉันเป็นเจ้าของแล้ว แกห้ามเอาไปขายใคร ไม่งั้นจะถือว่ายักยอกทรัพย์ แต่ถ้าเกิดระหว่างที่ของยังอยู่ในมือแกแล้วมันเสียหายโดยโทษใครไม่ได้ ฉันก็จะไม่ถือว่าของนั้นเป็นของฉัน (ที่จะต้องมีหน้าที่จ่ายเงินตอบแทน)
อืม… ยาก ทำได้หรือเปล่าหนอ การจะรับมาเฉพาะสิทธิแต่ไม่เอาหน้าที่มา
ราจีฟยังมีเรื่องเล่าจากความอัดอั้นต่อ
“หัวหน้าบอกว่า คุณไปหาวิธีทำสัญญาเช่าเกิน 3 ปีโดยไม่ต้องจดทะเบียนมา แล้วมีผลบังคับคู่สัญญาได้ด้วย”
เขารู้สึกพิพักพิพ่วนตั้งแต่แรก เพราะจากที่เรียนเนติบัณฑิตเทอมแรกมา ฎีกาต่างบอกเราว่าทำไม่ได้
“ถึงจะใช้วิธีให้คำมั่นต่อจากสัญญา 3 ปีแรกได้ คำมั่นนั้นก็ใช้ได้แค่ 3 ปีต่อมา จะต่อไปเรื่อยๆ ให้เป็นสิบปีไม่ได้”
เขาเสนอความคิดตัวเอง พร้อมหลักฐานเป็นข้อมูลคำพิพากษาฎีกาเก่าๆ ยืนยันว่ายังไงก็ทำไม่ได้
“ไม่ตอบโจทย์ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ” หัวหน้าว่า
นี่เหมือนเป็นการรับน้องสู่โลกแห่งความจริง ในโลกของศาลและอัยการ คือการบอกว่าอันนี้ผิดหรือไม่ผิด ได้หรือไม่ได้
แต่โลกของนักกฎหมาย มันคือ “การพลิกแพลง” เขาสรุปจากบทเรียนที่เจอในที่ทำงาน
และเขาอึดอัดกับสถานการณ์เช่นนี้ …แต่มองในอีกแง่ มันก็คือความอยู่รอด
ความอยู่รอดของใครบางคนกลายเป็นเรื่องชั่วช้าของคนวงนอก
รถเมล์ยังเคลื่อนตัวต่อไป คนขับหลบหลีกเลนซ้ายที่มีรถจอดขวาง นานๆ เข้าก็ต้องแทรกเลนนี้ที ออกเลนนี้ที
ในโลกแห่งตำรา เรารู้กฎ
ในโลกแห่งความจริง ถ้าไม่มีใครทำตามกฎ
การทำตามกฎอาจทำให้เรากลายเป็นคนโง่ การยืนกรานว่ากฎนั้นว่าไว้เช่นไร อาจทำให้คนยิ่งมองเราเป็นศัตรู
…
จริงๆ ความคิดแบบนี้ค่อนข้างน่ากลัว เมื่อมันมาเกิดในหัวเรา ผู้ที่กำลังเรียนกฎหมาย
แต่มันก็คือชุดความคิดที่เข้ามาปะทะ ชวนตั้งคำถาม ว่าในโลกที่กว้างใหญ่นี้ เราทำอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง
มันเหมือนการหาวิธีหลบแสงเลเซอร์ที่ทุกคนในวงการอวยว่าคือนวัตกรรมที่รังสรรค์มนุษย์ชาติ แต่ก็หลบหลีกกันเสียเอง สรุปแล้ว มันดีกับโลก แต่ไม่ดีกับเรา หนึ่งในผู้ที่กำลังเอาตัวรอดในโลกการทำงานหรือ
หรือนี่ก็เป็นเพียงสถานการณ์จำลองเล็กๆ ในองค์กรเพียงแห่งเดียว ที่ไม่สามารถตัดสินโลกทั้งหมดได้
อย่างไรก็ตาม เราชักจะกลัว
“ยังไง เราก็จะไปสมัครเป็นนิติกรอัยการ เราคงเหมาะกับแบบนั้นมากกว่า”
ราจีฟพูดส่งท้าย