เรากำลังทำงานเอกสารที่ไม่จำเป็นอยู่หรือเปล่านะ
คีย์ตัวเลขรายงานบางอย่างจาก email ลง excel ที่บันทึกฐานข้อมูลเดิมไว้ หาใบเสร็จกระดาษจาก 6 เดือนก่อนที่กองสุมกัน แล้วก็ถอนหายใจเพราะหาไม่เจอ
ไปฝึกงานทนายก็นั่งป้อนข้อมูลคดี เลขดำ เลขแดง ชื่อโจทก์ จำเลย รายละเอียดที่คล้ายๆ กันเป็นสิบสิบคดี แก้จำนวนทุนทรัพย์ไปเรื่อยๆ
ถามตัวเองอีกครั้ง
“ในฐานะมนุษย์ศตวรรษที่ 21 เราต้องทำงานพวกนี้เองอีกหรือ”
แต่การถามแบบคนดื้อ (และแสนขี้เกียจ) แบบนี้มันคงไม่นำไปสู่อะไร เมื่อมันไม่มีออพชันอื่นให้เลือก ในเมื่อเราไม่รู้ว่าเทคโนโลยีทำอะไรได้บ้าง หรือแม้เราพอจะรู้ว่ามันทำได้ แต่ไม่รู้ต้องสั่งมันอย่างไร
สองสามอาทิตย์ก่อน ขณะที่เรานั่งอ่านบทความผ่านแอพ pocket ในโรงอาหารศาลยุติธรรม สลับกับนั่งมองดูคนใส่สูทหิ้วกระเป๋าเอกสารเดินผ่านไปผ่านมา เราได้อ่านบทความของบรรณาธิการชาวอเมริกันคนหนึ่ง เธอเล่าว่าเหล่าบรรณาธิการมากมายใช้เวลาไปกับ “งานธุรการ” จุกจิกมหาศาลในการทำหนังสือแต่ละเล่ม รวมๆ แล้วอาจกินเวลามากกว่าที่ใช้ไปกับการบรรณาธิกรเนื้อหาหนังสือจริงๆ (อย่างที่ชื่อตำแหน่งบ่งบอก) เสียอีก
เพื่อนบรรณาธิการในแวดวงหนังสือคงจะยิ้มมุมปาก หัวเราะ หึๆ แล้วก็ยอมรับชะตากรรมว่า ก็เออไง คิดว่าบรรณาธิการแค่นั่งแก้คำให้ไหลลื่นอย่างเดียวหรือ มันก็ต้องมีบันทึกโน่นนี่ ส่งข้อมูล ติดต่อผู้คน ทำใบเบิกจ่าย ฯลฯ
เราเสียดาย เพราะเรารู้ว่าคนคนหนึ่งมีศักยภาพในเรื่องบางเรื่องมาก แทนที่จะลงทุนเวลาไปกับเรื่องที่ปล่อยให้คนอื่นทำแทนได้ หรือแม้แต่ให้คอมพิวเตอร์ทำแทนได้ (ไม่เสียเงินจ้างด้วยเอาสิ)
แต่บรรณาธิการสาวในบทความไม่ได้ทำแค่บ่น แบบเรา
เธอไปเรียนเขียนโปรแกรม ถลกแขนเสื้อ แล้วก็เอาวะ! ถึงจะเคยห่วยคณิตศาสตร์ แต่ไม่มีอะไรเรียนรู้ไม่ได้ เธอสำทับให้กำลังใจอีกว่า เอาเข้าจริง มันแทบไม่ต้องใช้เลขเลย ใครๆ ก็เรียนได้ และเธอเชียร์ให้เรียน
และเธอก็เชื่อมั่นว่าไม่มีโปรแกรมเมอร์คนไหนเข้าใจอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ได้ดีไปกว่าเธอ เข้าใจดีจนรู้ว่ามีอะไรที่ต้องการให้คอมฯ ทำแทนได้บ้าง วงการธุรกิจหนังสือมันจึงจะพัฒนาด้านอื่นๆ ได้เต็มประสิทธิภาพกว่านี้
คร่าวๆ ก็คือ สุดท้ายบทความนี้ก็นำไปสู่การขายแอพพลิเคชันสำหรับบรรณาธิการ แต่สิ่งที่เราได้จากบทความ ไม่ใช่การกระตือรือร้นจะซื้อแอพ แต่เราก็เลือกจะลงทุนกับตัวเอง
—
หลังจากสัมภาษณ์โปรแกรมเมอร์หนุ่มลงคอลัมน์ของนิตยสารที่เขียนให้ประจำ เราก็ลงคอร์สเขียนโปรแกรมระดับเบสิคกับเขาทันที สมัครเรียนทั้งๆ ที่แทบไม่รู้อะไรเลย แต่น่าจะเป็นเพราะบทความที่ว่านั้นรุนหลังบอกว่า ทำเลย! ตอนนี้! ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะทำตอนไหน
ก็อย่างที่เดาได้ เราเริ่มจากพื้นฐานที่สุด เหมือนหัดเขียน ก.ไก่ แต่ฝันไกลไปถึงการเขียนหนังสือเล่มหนาในอนาคต
แต่ระหว่างทาง เกร็ดความรู้ ระบบคิด ฯลฯ เล็กๆ น้อยๆ ที่ได้มา ก็ทำให้เราเอาไปปรับกับเครื่องมือพื้นฐานที่มีอยู่เดิม แล้วก็คิดว่า เอ้อนะ… ที่ผ่านมาเราใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ ไปกับเรื่องพวกนี้ได้ยังไงกัน
ไม่แน่ใจว่าจากนี้ เราจะมีโอกาสเขียนโปรแกรมได้จริงๆ จังๆ หรือเปล่า หรืออาจจะกลายเป็นอีกภาษาที่ได้แต่ยิ้มแหะๆ ว่า อ๋อ รู้บ้างนิดหน่อย
แต่อย่างน้อยที่สุด จากการอ่านข้อมูลเพิ่มเติม เรียนรู้เองในเนต ก็ทำให้รู้ว่ามีคนขี้เกียจที่จะทำงานซ้ำๆ ซากๆ แบบเรามากมาย แต่ไม่ขี้เกียจเกินไปที่จะเรียนรู้โค้ด สร้างชุดคำสั่งออกมาทำงานที่ตัวเองเห็นว่าง่ายเกินกว่าจะต้องลงแรงไปกับมัน แถมเอามาแชร์กันสนุกสนาน
“ทำไมไม่ซื้อโปรแกรมสำเร็จรูป”
ใครหลายคนอาจถาม
เราชี้มือไปที่สมาคมชุมชนแลกเปลี่ยนภาษาโค้ดเหล่านั้น แล้วก็คิดว่าคำตอบก็คือ การที่เราทำอะไรออกมาเองได้ มันก็น่าสนุกและทรงพลังกว่าไม่ใช่หรือ
นี่ก็แค่อีกภาษาที่เราต้องเรียนรู้เพื่อพูดคุยกับคนในวันพรุ่งนี้
SyntaxError: invalid syntax
อืม… แม้จะต้องใช้เวลาอีกสักพักก็ตาม