ตอนเด็กๆ เราไม่เคยคิดเลยว่าต้องมาใส่ใจเคร่งเครียดกับเรื่องอะไรทำนองนี้
คิดแค่ว่า ทำอย่างไรจึงจะเขียนหนังสือดี ทำอย่างไรถึงจะเป็นนายของภาษา เลือกสรรถ้อยคำที่ถูกต้องได้ไม่ติดขัด
อ่านงานเขียนดีๆ ไป ก็ยิ้มไป พักสายตาเงยหน้ามองฟ้า “อยากเขียนได้แบบนี้บ้างจัง”
โรแมนติกชะมัด
ทุกวันนี้ คำถามหลักก็คือ ทำอย่างไรคนถึงจะสนใจอ่านสิ่งที่เราเขียน และความจริงน่าเจ็บปวดสามารถเห็นได้ชัดถนัดตาในสองชั่วโมงหลังเผยแพร่ ปรากฏอยู่จากสถิติ engagement ยากจะหลอกตัวเองว่างานเขียนของเรามีคุณค่าพอสำหรับ “ลูกค้า” – คำกลางๆ ที่ครอบคลุมทั้งผู้อ่านกับผู้ที่ว่าจ้างให้เราลงมือเขียน
ใครบางคนในหัวเราเถียงขึ้นมาว่า งานเขียนหนึ่ง มีคุณค่าในตัวเองตั้งแต่มันเสร็จสิ้นกระบวนการเขียน (อืม..) แต่เมื่อการเขียนกลายเป็นอาชีพ คำอธิบายนั้นไม่ใช่ว่าผิด แต่แค่ไม่พอ
โดยเฉพาะงานเขียนเชิงข่าวหรือสารคดีที่ต้องทำถูกมาตั้งแต่กระบวนการตั้งประเด็น เช่น นั่นคือสิ่งที่คนจำนวนมากกำลังสนใจหรือเปล่า ประเด็นนั้นถือว่าเก่าหรือ out ไปแล้วหรือไม่ หรือแม้แต่ว่า ประเด็นนั้น ตัวเราเองมีความรู้ความเข้าใจในระดับที่จะนำผู้อ่านสู่บทสรุปที่ไปไกลมากพอหรือเปล่า
คนอ่านบางคนรำพึง
ปริมาณ cellular data ของเขายังมีค่ามากกว่าสิ่งที่ได้จากตัวอักษรของผู้เขียนบางคน พร้อมแสดงความเกรี้ยวกราดราวกับจะขอเงินคืนจากการเผลอกดเข้าไปคลิกอ่านสิ่งที่ไม่น่าสนใจ
–
นักเขียนคือใคร? หรือคืออะไร? เราถามตัวเองเป็นรอบที่ล้าน
หน้านักเขียนอาวุโสคนหนึ่งลอยมา “อย่าคิดมาก ทำไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นความจริงว่ามันเป็นงานที่ต้องทำ”
คิดแบบเอาหัวชนกำแพง ถ้าคุณค่างานเขียนหนึ่งๆ (ในโลกที่งานเขียนคืออาชีพ ไม่ใช่งานอดิเรกหย่อนใจของชนชั้นสูง) คืออัตราการคลิกอ่าน ยอดแชร์ และยอดไลก์ ถูกแปรค่าออกมาด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ วิเคราะห์โครงสร้างย่อหน้า ถ้อยคำ ประเด็น เปรียบเทียบกันไปในงานเขียนแต่ละชิ้น ให้เกรด ทั้งนี้มีการแจกแจงช่วงเวลาในการเผยแพร่ ไม่ให้มีผลต่อการวัดค่าเหล่านี้
สุดท้ายเรากลับไม่คิดว่าผลลัพธ์จะเป็นการสร้างนักเขียนคอนเทนต์ออนไลน์บรมครูขึ้นมาคนหนึ่ง แต่มันต้องเป็น AI ยอดนักเขียน
“อย่าคิดมาก ทำไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นความจริงว่ามันเป็นงาน ที่ต้องทำ” น้ำเสียงเริ่มดุ เหมือนสั่งสอนเด็กเจนวายที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อคนหนึ่งให้กลับไปนั่งที่หน้าคอมฯ
–
เราค่อยๆ คลี่สายหูฟังที่พันกันออก ตอนแรกมันดูยุ่งเยิงจนอยากจะกระชากดับแค้น แล้วซื้อใหม่ให้รู้แล้วรู้รอด
แต่เมื่อค่อยๆ คลี่ออก หาจุดกำเนิด หาอุปสรรคที่รั้งมันไว้ เราก็ค่อยเข้าใจ
คนรู้จักมักทำหน้าฉงนเมื่อพบว่าเราแทบไม่ได้เขียนบทความเป็นอาชีพแล้ว แต่กลับมุ่งมั่นอ่านหนังสือกฎหมาย
อดีตรุ่นพี่ที่เคยทำงานด้วยทำหน้ายู่ยี่ ประมาณว่า ไปโดนของอะไรมา
จริงๆ แล้วเหตุผลมันก็อยู่ในตอนต้นทั้งหมด หลายๆ ครั้ง เราย้อนกลับไปอ่านบทความท่องเที่ยวที่ตัวเองเขียนขึ้นช่วงเป็นเด็กฝึกงาน มันใส แทบไม่มีข้อมูลในเชิงสารคดี
แต่เห้ย สนุกว่ะ
สิ่งที่เราตามหา คือการได้อ่านงานที่ตัวเองชอบตั้งแต่ลงมือเขียน และยังคงชอบเมื่ออ่านซ้ำในอีกหลายเดือน หรือหลายปีต่อมา
ไม่ใช่งานเขียนที่เขียนขึ้นอย่างแกนๆ เพื่อตอบสนอง agenda ตายตัวของคนอื่นๆ ที่อีก 10 ปีข้างหน้าอาจจะมาเขินตัวเองเอาทีหลัง
ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขทางการตลาด ทางการเมือง ทางวิชาการ ฯลฯ
ช่างหัว
ถามว่าเขินไหมที่เขียนเรื่องความรักที่ไม่สมหวังกับทะเลหรือภูเขา สาธยายความรู้สึกแบบที่ผู้ใหญ่ในแวดวงหนังสือจะแซวว่า ‘แหม วัยรุ่น’
ก็เขิน แต่มันเขินคนละแบบ เป็นความเขินที่ทำให้หลงรักตัวเองอีกครั้ง
นาร์ซิสซัสหรือ?
อื้อ… ก็การลงมือเขียนมันก็คือกิจกรรมการส่องกระจกเพื่อทบทวนและชื่นชมความคิดตัวเองตั้งแต่ต้นแล้วนี่
และคงจะดีกว่าที่ส่องแล้วมองเห็นสิ่งที่ตัวเองอยากเห็น
“อย่าคิดมาก มันเป็น..ง..”