เราเริ่มต้นอาชีพการเขียนด้วยการเขียนสารคดี มีการสัมภาษณ์คนเพื่อนำมาประกอบเป็นข้อมูลสนับสนุน และแน่นอนว่า ในแต่ละคราวที่สัมภาษณ์ เราจดจ่อรอคอยวรรคทองจากผู้ให้สัมภาษณ์ หวังว่าเขาจะนำเสนอตัวเองมาอย่างเต็มที่
นำเสนอทั้งผลงาน ตัวตน ความคิดที่เฉียบแหลม เครือข่ายที่กว้างขวาง เพื่อทำให้ผู้อ่านเชื่อถือในระดับหนึ่งว่าคนคนนี้น่ารับฟัง
คนพูดแฮปปี้ คนเขียนก็แฮปปี้
หลายครั้งเราชะงักอยู่หน้าแป้นพิมพ์เมื่อพบว่าผู้ให้สัมภาษณ์ถามคำตอบคำ สงวนคำพูด หรือออกตัวว่าตัวเองไม่ได้รู้อะไรมากมายขนาดนั้น
ดูเป็นคุณสมบัติของเพื่อนที่ดี แต่ไม่ใช่ข้อมูลที่ผู้เขียนจะนำไปสานต่ออะไรได้มากนัก
แต่พอมาถึงคราวเราต้องให้สัมภาษณ์ในฐานะ subject งานเขียนของคนอื่น แทนที่เราจะทำอย่างที่เราชอบได้ เรากลับพบว่า การพูดนำเสนอความเป็นตัวเองอย่างอวดโอ่อหังการ์นั้นเป็นเรื่องกระดากปาก การหยอดคำคมกลายเป็นชนักติดหลังเมื่อเผลอพูดมันออกไป
การพูดนำเสนอตัวเองกลายเป็นดาบสองคม
หากไม่พูดก็เหมือนจะไม่มีใครสนใจเรา เราโดดเด่นอย่างไร มีผลงานอะไรน่าสนใจ ถ้าไม่เล่า ใครเล่าจะมารู้กับเราได้
แต่พอถึงคราวที่อยากเล่าว่าภูมิใจผลงานของตัวเองอย่างไร มันกลับกลายเป็นเรื่องยาก
เรากลัวความเกลียดชังจากคำพูดที่เราควบคุมไม่ได้
ต่างจากหน้ากระดาษ เราสามารถแก้ไขได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าก่อนมันจะตะโกนออกไปสู่โลกออนไลน์ (หรือถ้าไม่มีใครสนใจก็เป็นเพียงเสียงกระซิบ)
แต่คำสัมภาษณ์ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราพูดถ้อยคำเหล่านั้นออกไปจริง และบางครั้งมันก็ช่างแสดงออกถึงความไม่เดียงสา แม้แต่ในบทสนทนากับคนทั่วๆ ไป หลายครั้งเราอีดิตคำพูดตัวเองกลางประโยค กลายเป็นถ้อยความที่ไม่สามารถเข้าใจได้
ว่าง่ายๆ คือกลายเป็นคนพูดไม่รู้เรื่อง
นี่จึงเป็นอุปสรรคหนึ่งที่เราต้องเริ่มเรียนรู้ การหาตรงกลางระหว่างนำเสนอตัวเองกับอวดโอ่ ไม่ใช่จะแขยงทั้งสองอย่างแล้วเหมารวมว่ามันไม่ต่างกัน เพราะในบางครั้งคนอ่านก็อาจอยากจะรู้ความคิดเห็นของเรามากกว่าที่เราคิดกังวลไปก็ได้