วันที่ 10 สิงหาคม 2561 เราเข้าร่วมพิธีฝังศพแบบจีน ซึ่งเริ่มต้นพิธีจากหมู่บ้านปากนำกะแดะ หมู่บ้านเล็กๆ ในสุราษฎร์ที่เราอยู่สมัยอนุบาล สู่วัดกรวด สุสานจีนที่ชาวบ้านใช้เป็นที่พักพิงตอนตาย
พิธีครั้งนี้แปลกตาจากที่เราเคยเข้าร่วมเมื่อตอนเด็กๆ ตอนนั้นจำได้ว่าผู้ใหญ่จะแต่งตัวด้วยเสื้อขาวคลุมผ้าเนื้อหยาบโปร่งสีเหมือนกระสอบ ซึ่งน่าจะเป็นพิธีแบบไหหลำ แต่จากบทสนทนาวันพิธีครั้งนี้ ทำให้ได้รู้ว่าผู้เชี่ยวชาญที่จะนำพิธีแบบไหหลำในแถบนั้นเสียชีวิตหมดแล้ว คราวนี้พวกเราเลยทำพิธีแบบแต้จิ๋วแทน แม้ว่าหมู่บ้านเราจะเป็นเชื้อสายจีนไหหลำกันเกือบหมด
เริ่มพิธี พวกเราได้รับแจกผ้าสีแตกต่างกัน ได้แก่ สีขาว สีฟ้า สีเหลือง สังเกตว่าพี่น้องผู้ตาย และหลานระดับใกล้จะใช้ผ้าสีขาว ส่วนเหลนที่ใช้แซ่เดียวกันสวมผ้าสีฟ้า เหลนที่ใช้คนละแซ่สวมผ้าสีเหลือง (ซึ่งเราจัดอยู่ในกลุ่มท้ายนี้)
พิธีในบ้าน มีการไหว้หลายครั้ง ทั้งไหว้มือเปล่า ไหว้ด้วยธูป แต่ถ้าเป็นของใหญ่ เช่น ไหว้ด้วยดอกไม้ ไหว้ด้วยซาลาเปา จะเป็นการยื่นให้ตัวแทนคนหนึ่งคนใดที่อยู่แถวหน้าเป็นคนยกขึ้นไหว้นำ
จากนั้นก็จะเป็นการเคลื่อนย้ายโลงศพออกไปทางหน้าบ้าน ในขั้นตอนนี้ ลูกหลานทุกคนจะเรียงแถวขนาบสองข้างทางขนโลง แต่ต้องนั่งกับพื้นและก้มหน้า ห้ามเงยหน้ามองเด็ดขาดจนกว่าโลงจะถูกยกผ่านพ้นไป
แล้วเราก็เดินตามเหล่าเครื่องใช้กระดาษสำหรับทำพิธีกงเต๊ก เพื่อเคลื่อนขบวนกันไปที่วัดกรวด
เมื่อไปถึง ก็จะมีการเสิร์ฟอาหารไหว้เจ้าที่ และยกโลงไปตั้งรอเอาไว้
ต่อไปคือการเดินวนรอบหลุมเพื่อโปรยเหรียญให้ครบสี่มุม เป็นจำนวนสามรอบ
พอถึงขั้นตอนยกโลงลงหลุม ก็เป็นอีกครั้งที่พวกเราถูกสั่งห้ามไม่ให้มอง (แต่ในภาพนี้ถ่ายรูปได้ เพราะเป็นขั้นตอนการขยับโลงให้ตั้งตรง)
จากนั้น เจ้าหน้าที่ทำพิธีก็ให้เราโปรยดินลงหลุม ก็คือกำเอากองดินที่อยู่ข้างๆ มาโปรยใส่พอเป็นพิธี แล้วจากนั้นก็เดินวนสามรอบอีกครั้ง คราวนี้เพื่อหยิบเอาเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ ที่วางไว้รอบหลุม ติดตัวกลับบ้าน
มีการไหว้เจ้าที่ด้วยธูป อาหาร น้ำชา เหล้า ฯลฯ ซึ่งรายละเอียดตรงนี้จำได้ไม่แม่นนัก
จากนั้นก็เข้าสู่พิธีกงเต๊ก เผาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ไปให้ ซึ่งพวกเราคุ้นเคยกับขั้นตอนนี้ดี เพราะเหมือนกับเชงเม้งที่ทำอยู่ทุกปี เสริมขึ้นมาก็ตรงที่มีเส้นด้ายขาวให้ถือแล้วล้อมรอบหลุม
ทั้งหมดนี้ เราเก็บมาคิดอยู่เรื่องหนึ่ง คือการ ‘ไม่ให้มอง’ ในขั้นตอนเกือบทุกขั้นตอน ทั้งแต่ขนย้ายโลงออกจากบ้าน ยกโลงลงหลุม หรือกระทั่งหลังจากเสร็จพิธีกงเต๊ก เกิดเป็นจังหวะตะโกนกวดขันกันอย่างจริงจัง
“ห้ามมอง!! ห้ามมอง!!”
“ก้มหน้า” “หันหลังๆ”
บอกต่อกันไป เมื่อทุกคนทำตามแล้วจึงจะดำเนินพิธีต่อไปได้
หากคิดถึงผู้ตาย การต้องสบตาแสนเศร้าของลูกหลานครั้งสุดท้ายอาจทำให้ยังมีห่วง
หากคิดถึงคนที่ยังอยู่ การต้องเห็นและรับรู้ว่าร่างไร้ลมหายใจของคนที่รักนอนแน่นิ่งอยู่ในนั้น คงเป็นเรื่องที่ทำใจลำบาก และอยากจะย้อนคืนในทุกๆ กระบวนการของการจากลา