แนะนำหนังสือ นโยบายการต่างประเทศของเกาหลีใต้

ช่วงนี้สนใจจะไปเรียนต่อด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกาหลีใต้ เลยขยันหาหนังสือเกี่ยวกับประเทศนี้มาอ่าน ล่าสุดเราอ่าน ‘นโยบายการต่างประเทศของเกาหลีใต้’ เขียนโดน ซองโฮชิน (แปลโดย ภัททิรา จิตต์เกษม) หนังสือน่าจะออกมาเป็นเซต 4 เล่ม ของเกาหลีศึกษา จุฬาฯ ประกอบไปด้วยเล่มนี้ที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ สงครามเกาหลีเหนือ-ใต้ ค่านิยมคนเกาหลี และเรื่องเศรษฐกิจ

หน้าปกหนังสือออกจะดูวิชาการ ตามสไตล์สำนักพิมพ์จุฬาฯ คือดูน่าเกรงขามหน่อยๆ แต่อ่านเอาเรื่องได้ไม่ยาก เพราะผู้เขียนแบ่งบทและซอยประเด็นย่อยได้เป็นระบบ มองโครงสร้างทั้งเล่มได้ง่าย

นโยบายการต่างประเทศของเกาหลีใต้

ส่วนแรกจะเป็นการอธิบายว่า ใครบ้างในประเทศที่มีบทบาทกำหนดนโยบายการต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งหน่วยงานทางการ เช่น ประธานาธิบดี รัฐสภา หน่วยงานเฉพาะด้านต่างๆ และไม่เป็นทางการ เช่น สื่อมวลชน เอ็นจีโอ ฯลฯ และน้ำหนักที่แต่ละฝ่ายมี ซึ่งสุดท้าย ก็สรุปว่า ประธานาธิบดีดูจะมีพาวเวอร์สุดในทางปฏิบัติ นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าหลังๆ มานี้ รัฐสภาจะเริ่มห้าวขึ้น กล้าทัดทานประธานาธิบดี ตามวิสัยที่ควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย แต่ยังไงๆ เขาก็เป็นคนกำหนดทิศทางการต่างประเทศที่ผ่านมา

และเนื่องจากประธานาธิบดีมีบทบาทมากสุด ผู้เขียนก็เลยเข้าสู่บทต่อมาด้วยการแบ่งยุคของ ‘ประธานาธิบดี’ ว่าแต่ละคนมีท่าทีกับประเทศรอบๆ อย่างไร เริ่มตั้งแต่ยุคแรกที่โอนอ่อนกับสหรัฐฯ ไว้ก่อน เพราะรู้ตัวว่าต้องเสริมสร้างกำลังทางทหารของตัวเองให้เข้มแข็งด้วยการให้สหรัฐฯ เข้ามาช่วย จึงไม่อิดออด คอยส่งทหารไปร่วมรบในสงครามของคนอื่นเสมอๆ เช่น ในสงครามเวียดนาม (ในรวมเรื่องสั้น Shoko’s Smile ก็มีบทหนึ่งที่พูดถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างคนสองชาตินี้เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์) ซึ่งการยอมส่งทหารไป ให้ผลตอบแทนทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจกลับมา

Photo by ALEJANDRO GARCÍA on Unsplash

ยุคต่อๆ มา เกาหลีเริ่มกระจายเปิดความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ไม่จำกัดค่ายอุดมการณ์ และไปไกลถึงทวีปอื่นอย่างแอฟริกา ผู้เขียนบอกว่า ปัจจัยความสำเร็จทางเศรษฐกิจเกาหลีในปัจจุบัน ก็มาจากการต่างประเทศที่ชาญฉลาด รู้จักดึงทุนจากประเทศอื่นๆ เข้ามาสนับสนุน อย่างการจีบประเทศญี่ปุ่น โดยยอมละเรื่องบาดหมางจากการถูกครองอาณานิคมในอดีต แล้วหาส่วนที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน คาดว่าที่เกาหลีเจริญอย่างรวดเร็วนี้ ทุนที่ไหลมาจากญี่ปุ่นมีส่วนมากๆ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การต่างประเทศแบบ น้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอก จะส่งผลดีในระยะยาวมากกว่า ส่วนสหรัฐฯ นั้น บางครั้งแม้จะรู้สึกฝืนๆ ใจหน่อย ไม่ค่อยอยากทำตาม แต่คงคำนวณมาอย่างดีแล้วว่า พี่กันเขาอยากได้อะไรก็ยอมเขาไปก่อน แม้บางช่วงสหรัฐฯ จะดูเห็นแก่ประโยชน์ประเทศตนจนยอมเมินเฉยมิตรประเทศนี้ไป

ในอีกด้าน แม้คนนอกอย่างเราจะเห็นเครื่องหมาย vs. คั่นกลางระหว่างเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้  แต่อันที่จริง การต่างประเทศเกาหลีใต้มุ่งหวังการรวมชาติมาตลอด พยายามดึงเกาหนีเหลือกลับไปเข้าสังคมโลกด้วยกัน ทั้งที่บางทีจะโดนกระทบกระทั่ง (ก่อการร้าย ลอบสังหารบุคคลสำคัญ) ประมาณว่าเป็นการส่งสัญญาณว่าอย่ามายุ่งกับชั้นนะ! จนประชาชนในเกาหลีใต้บางกลุ่มก็เริ่มเอือม แต่ทางเลือกที่ว่าจะเอาความโกรธมาใช้เป็นเหตุผลตัดขาดกัน แล้วเลือกประจันหน้าเป็นศัตรูไปเลย ยังไงก็คงดูไม่ฉลาด เพราะสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างเกาหลีใต้ที่อยู่ใกล้ชิดแนบสนิทกับเกาหลีเหนือ ไม่เข้าสู่สภาวะสงครามจะดูมีอนาคตมากกว่า ที่ทำได้ก็เพียงดึงพรรคดึงพวกในย่านเอเชียมาร่วมกันกดดัน อย่างล่าสุดที่เราเห็นก็คือการดึงสหรัฐฯ มาร่วมโต๊ะกับเกาหลีเหนือในซัมมิตที่สิงคโปร์กับฮานอย (ซึ่งก็จบไปแบบจ๋อยๆ เหมือนในอดีต)

Photo by Hyoshin Choi on Unsplash
Photo by Hyoshin Choi on Unsplash

มิติที่น่าสนใจที่ผู้เขียนแสดงให้เห็นก็คือ การกีฬาและงานประชุมต่างๆ มีผลอย่างมากต่อการต่างประเทศของเกาหลี ชัดเจนเลยว่าเกาหลีใต้พยายามเป็น ‘เจ้าภาพ’ งานทั้งหลายนี้ เพื่อนำตัวเองผุดขึ้นสู่สายตานานาประเทศว่า ฉันไม่เชยแล้วนะ ฉันเจริญมากๆ แล้วนะ เพราะลำพังแต่ตัวเลขรายได้ต่อหัว อาจไม่ชัดเท่ากับการถ่ายทอดให้เห็นบ้านเมืองทันสมัยและพิธีเปิดอันอลังการ เช่น โอลิมปิก ปี 1988 (ใครดู Reply 1988 ก็คงนึกบรรยากาศช่วงนั้นออก) การประชุม ASEM รวมทั้งการส่งคนไปเป็นเลขาธิการสหประชาติ ทั้งหมดนี้มีความหมายต่อการขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วในสายตาคนทั้งโลก ไม่ใช่แค่งานตัดริบบิ้นตามวาระที่จบแล้วก็จบไป แต่สร้างความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจ จนใครๆ ก็กล้าคบหาสมาคม

ที่สำคัญ ความมหัศจรรย์เหล่านี้ใช้เวลาเพียงครึ่งศตวรรษเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้เขียนเมื่อปี 2008 เนื้อหาอาจไม่ได้เกาะติดสถานการณ์ตอนนนี้ แต่ผู้แปลก็ได้หาข้อมูลอรรถาธิบายเพิ่มเติม ช่วยให้เราขยับเข้าใกล้สภาพปัจจุบันขึ้นอีกนิด แต่ถ้ามองว่าอ่านเป็นการปูพื้นฐานแบบที่เราอ่าน ถือว่าใช้ได้เลย

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.