เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีโอกาสได้ไปร่วมงานประชุมวิชาการเกาหลีศึกษา-ไทยศึกษา ที่จังหวัดตรัง (วันที่ 25-26 ก.ค. 62) ครั้งที่ 6
หัวข้อการนำเสนอผลงานมีหลากหลายมาก ตั้งแต่เรื่องภาษาศาสตร์ วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ วรรณกรรม ฯลฯ ฟังไปนานๆ ก็เริ่มเบลอเหมือนกัน และบางช่วงก็พรีเซนต์เป็นภาษาเกาหลี
มีทั้งประเด็นร่วมสมัยอย่าง การศึกษาสังคมเยาวชนเกาหลีผ่านเว็บตูน Lookism (เรื่องนี้พี่ป่านเคยเขียนลง The Momentum ไว้แล้ว) การศึกษาแนวทางหลีกเลี่ยงการใช้สติกเกอร์ไลน์ภาษาไทยอย่างไม่สุภาพ
หรือประเด็นทางวัฒนธรรมอย่างคำศัพท์ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมการปลูกข้าวในภาษาเกาหลีและไทย ศาสนาพุทธสองนิกายที่ขับเคี่ยวกันในเกาหลี วรรณกรรมประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับมุมมองสตรี
และประเด็นทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างกฎหมายความร่วมมือระหว่างประเทศไทย-เกาหลี และความช่วยเหลือตอบแทนทหารผ่านศึกไทยที่ร่วมรบสงครามเกาหลี
ต่อไปนี้เป็นเรื่องที่จดๆ มา และเขียนจากความจำบ้าง อาจไม่ครบถ้วน แต่คิดว่าน่าสนใจคิดต่อ
อารีรัง สู่อาณานิคมทางวัฒนธรรม
รศ.ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร ปาฐกถาเรื่อง “เกาหลี” ในบริบทวรรณกรรมและวัฒนธรรมไทย: จากสงครามเกาหลีถึงยุคดิจิทัล โดยเริ่มจากการปูพื้นประวัติศาสตร์สงครามเกาหลี ว่าหลังจากสองประเทศแบ่งแยกกันตามค่ายอุดมการณ์แล้ว ก็เกิดการโจมตีกันจนนำไปสู่สงครามในเวลาต่อมา ซึ่งไทยในตอนนั้นก็ส่งทหารไปร่วมรบด้วย แม้ว่าในตอนนี้ประชาชนคนไทยแทบจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับประเทศที่ชื่อเกาหลีเลย
รศ.ดร. ตรีศิลป์ ยกตัวอย่างเรื่องสั้น ‘เพชฌฆาตที่เส้นขนาน 38 องศา’ ของอิศรา อมันตกุล เล่าเรื่องผ่านมุมมองทหารไทยที่ไปร่วมสงครามเกาหลีแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ มีคำถามกระทั่งว่าเกาหลีคือประเทศที่อยู่ใกล้ๆ อิตาลีใช่หรือไม่
ท่ามกลางความไม่รู้ของคนทั่วไป อิศราในฐานะนักหนังสือพิมพ์สมัยนั้น ก็เช่นเดียวกับนักเขียนหลายๆ คนที่เติบโตมาจากแวดวงข่าวสาร พวกเขารับรู้ความเป็นไปในโลกกว้างไกล และถ่ายทอดออกมาในเรื่องสั้น ในยุคที่คนไทยทั่วไปยังไม่รู้จักกระทั่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
วิธีการเล่าเรื่องที่ดูเป็นแนวมนุษยนิยมนี้ เป็นเรื่องสั้นที่วิพากษ์มหาอำนาจสหรัฐฯ และตั้งคำถามถึงเหตุผลที่ทหารไทยต้องไปร่วมรบในสงครามของคนอื่น คนไม่รู้จักกัน เล่าความยากลำบากอันสามัญของมนุษย์ อย่างการสวมรองเท้าบู้ตแบบที่ไม่คุ้นเคยและอึดอัด รวมทั้งอาวุธปืนล้ำสมัยที่ใช้ไม่เป็น
ไม่ว่าเหตุผลของการส่งคนไปร่วมรบของทางการไทยคืออะไร ท้ายที่สุด ตัวละครทหารไทยในเรื่องสั้นนี้ กลับเลือกไม่ฆ่าทหารฝั่งศัตรู ในยามที่ฆ่าได้สบายๆ ด้วยเหตุผลที่แสนเป็นมนุษย์
รศ.ดร. ตรีศิลป์ ยกวรรณกรรมจากฝั่งเกาหลีที่พูดเรื่องเดียวกันนี้มาเทียบเคียง คือเรื่อง Panmunjom โดย อี โฮชอล (이호철) นักหนังสือพิมพ์เกาหลีซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ที่เกาหลีเหนือ (ก่อนประเทศจะถูกแบ่งเป็นสอง) มาเทียบกับอิศรา
เขาเขียนเรื่องในสไตล์แอบเสิร์ด และเล่าเรื่องเครียดๆ ให้ดูชวนหัวเช่นเดียวกับเรื่องสั้นของอิศรา บอกว่า ‘ปันมุนจอม’ นั้นเป็นพื้นที่น่าขบขัน เคยเป็นบ้านเกิดของแม่ตัวละคร แต่ตอนนี้กลายเป็นพื้นที่ที่มีเส้นแบ่งประเทศผ่ากลางโถส้วมพอดี
ที่น่าสนใจก็คือนี่เป็นหนังสือที่ไม่มีย่อหน้า คือการพรั่งพรูของความคิด ซึมซับความปริวิตกของคนในยุคนั้นกับการแบ่งแยก ซึ่งคนยุคนี้ดูจะวางเฉยแล้ว
กลับมาที่ประเทศไทย สมัยหนี่ง วงการภาพยนตร์ไทยได้ผลิตเรื่องเล่า ผ่านภาพยนตร์ อารีรัง เล่าเรื่องทหารไทย (พระเอก) ที่ไปร่วมรบช่วยเหลือเกาหลีและได้พบรักกับสาวท้องถิ่น ตกหลุมรักกัน และจำใจจากมาบ้านเกิด เมื่อหายไปนาน ฝ่ายหญิงก็ถึงกับสิ้นใจตาย
รศ.ดร. ตรีศิลป์ มองว่า นี่คือภาพสะท้อนความคิดของคนไทยในสมัยนั้น ที่มีมุมมองว่าประเทศไทยเป็นฮีโร่ที่ไปช่วยเหลือประเทศที่อ่อนแอกว่า (หญิงสาว-เกาหลี) ต่างจากสมัยนี้ที่เราได้รับอิทธิพลจากกระแสฮัลรยู (K-wave) เข้ามาเต็มๆ
ตั้งคำถามที่คนฟังอาจจะต้องเลิกคิ้วว่า “เราจะตกเป็นอาณานิคมทางวัฒนธรรมหรือไม่” การจ่ายค่าบัตรคอนเสิร์ต ความคลั่งไคล้ต่อตัวศิลปิน และการถือแท่งไฟต่างๆ จะมองเป็นภาพพิธีกรรมหรือไม่
และภาพจำที่งดงามผ่านสื่อที่รัฐบาลเกาหลีสนับสนุนให้เอามาขาย ซึ่งไม่ได้สะท้อนภาพความจริงทั้งหมด เพราะเป็นความตั้งใจ หรือเพราะเหตุผลง่ายๆ ว่าภาพที่ไม่สวยงามนั้นขายไม่ได้ในเชิงการตลาด
โครงการช่วยเหลือทหารผ่านศึก
มุมมองต่อสงครามเกาหลีและประเทศเกาหลีอาจจะดูมืดหม่นหน่อยในปาฐกถาก่อนหน้า แต่ในการบรรยายเรื่อง “การตอบแทนแด่ทหารไทยที่ร่วมรบในสงครามเกาหลีจากหน่วยงานเกาหลีใต้” โดย รัฐปกร ฟักอ่อน สาขาเกาหลีศึกษา ซึ่งเขากำลังทำเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ได้เล่าเรื่องการตอบแทนของเกาหลีใต้ต่อประเทศร่วมรบต่างๆ ซึ่งมาทั้งรูปแบบความช่วยเหลือทางการเงิน การเดินทางไปเยือนเกาหลีอีกครั้ง การให้ทุนสนับสนุนการศึกษาบุตรหลาน เป็นต้น
แนวคิดการตอบแทนบุญคุณ (Gratitude) แม้จะมีความเป็นสากลแต่ในมุมของทัศนคติของ คนเกาหลีแล้ว ความคิดเรื่องการตอบแทนบุญคุณนี้ถูกถ่ายทอดจากคำสอนของลัทธิขงจื้อ ซึ่งนับเป็นรากฐานของความคิดคนเกาหลี และการจากการค้นคว้าพบว่า คำสอนเรื่องการตอบแทนบุญคุณถูกจัดให้มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดาคำสอนทั้งหมด และมีการถ่ายทอดออกมาเป็นนิทาน ตำนาน หล่อหลอมให้คนรุ่นหลังตระหนักถึงคุณค่าของการตอบแทนบุญคุณ (จากบทคัดย่อ)
ความช่วยเหลือที่ต่อเนื่องยาวหลายหลายสิบปีหลังจากสงครามอยู่ในช่วงพักรบจนถึงปัจจุบัน ทำให้การตอบแทนของเกาหลีเป็นสิ่งที่เกินความคาดหวัง
รัฐปกรสัมภาษณ์เหล่าทหารผ่านศึกไทย และได้ความเห็นมาว่า ทหารผ่านศึกไทยมองว่าการตอบแทนเหล่านี้จบไปแล้ว ไม่ได้ต้องการอะไรเพิ่มเติมอีกจากที่ได้รับในรอบแรก แต่การทูตของเกาหลี บุญคุณเป็นสิ่งต้องตอบแทน จึงมีโครงการมากมาย มีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน ดูแลเรื่องทหารผ่านศึกโดยเฉพาะ ทั้งโครงการที่ให้ต่อเนื่องทุกปีและโครงการในวาระพิเศษ ซึ่งหารายละเอียดอ่านได้ในวิทยานิพนธ์ของเขา

หมายเหตุ: การประชุมครั้งนี้ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นเจ้าภาพ โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย ได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้กําหนดหัวข้อเรื่อง “ไทย-เกาหลี พหุลักษณ์ทางวัฒนธรรมในบริบทสังคมดิจิทัล”