ผู้พลัดถิ่นในวรรณกรรมเกาหลี : ไซนิจิ

เริ่มเปิดเทอมมาได้สองสัปดาห์แล้ว

เราสังกัดอยู่เอก International Relations ซึ่งอยู่ใน EWHA GSIS (Graduate School of International Studies) ใต้ชายคาเดียวกันนี้ GSIS ก็มีแผนกเกาหลีศึกษา ซึ่งมีวิชาของเอกวัฒนธรรมเกาหลีที่น่าสนใจเปิดให้เรียนเป็นภาษาอังกฤษด้วย

เราเลือกเรียนวิชา ‘ผู้พลัดถิ่นเกาหลีในวรรณกรรมและวัฒนธรรม’ เนื้อหาสัปดาห์แรกเปิดหูเปิดตาให้เราได้รู้จักผู้พลัดถิ่นเกาหลีที่เกิดจากการเกณฑ์แรงงานไปญี่ปุ่นในช่วงตกเป็นอาณานิคม ซึ่งถูกเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปกันเป็นหลักล้าน พอเหตุการณ์เริ่มเข้าที่เข้าทาง เกาหลีแบ่งเป็นสอง เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้เปิดรับให้คนกลับประเทศ แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่ยังอยู่ที่ญี่ปุ่นต่อ เพราะการเลือกกลับไปเป็น ‘เกาหลี’ ในยุคที่ประเทศแบ่งเป็นเหนือ-ใต้ระหว่างที่ตัวเองไม่อยู่ กลายเป็นเรื่องที่ตัดสินใจได้ลำบาก เหมือนต้องเลือกข้างการเมืองไปในตัว

แล้วเหนือหรือใต้ที่ว่า ก็อาจจะไม่ใช่ที่ตั้งของ ‘บ้าน’ ที่อยากกลับ หรือต่อให้พิกัดทางภูมิศาสตร์นั้นใช่ แต่สภาพของบ้านที่เปลี่ยนไป (เหนือกลายเป็นดินแดนปิดจากโลก ใต้กลายเป็นสังคมโมเดิร์นไนซ์-และอเมริกันเต็มขั้น) ก็อาจทำให้พวกเขายักไหล่แล้วเลือกที่จะอยู่ญี่ปุ่นต่อ

ทั้งที่สังคมญี่ปุ่นอาจไม่มีวันที่จะมองคนเกาหลีเป็นคนญี่ปุ่นได้เลย

repatriation_of_koreans_from_japan_02
ภาพการส่งตัวคนเกาหลีกลับประเทศ ซี่งสนับสนุนโดยทางการญี่ปุ่น

population_of_koreans_in_japan

ฟองทางวัฒนธรรม

ในบทความ “The Sacred Text in the Making: The Korean Diaspora and Autobiographic Writings” ผู้เขียน Sonia Ryang ตั้งข้อสังเกตว่าที่ญี่ปุ่น จะไม่มีคำว่า Korean-Japanese ต่างกับอเมริกาที่เราจะเจอ xxx-American เช่น Korean-American เพื่อระบุอัตลักษณ์ของเขาคนนั้น พ่วงด้วยสัญชาติที่ได้รับมาตามกฎหมาย

แต่ที่ญี่ปุ่น คนญี่ปุ่น ก็คือคนญี่ปุ่น และคนเกาหลี ก็คือคนเกาหลี แถมในยุคหนึ่ง คนเกาหลีไม่เพียงแค่ถูกมองเป็นคนเกาหลี แต่จะพ่วงความหวาดระแวงว่าเป็น “สายลับเกาหลีเหนือ” ติดตัวมาด้วยซ้ำ ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะมีช่วงหนึ่งที่เกิดอาชญากรรมผู้บริสุทธิ์ชาวญี่ปุ่นถูกเกาหลีเหนือลักพาตัวไป 10 กว่าคน กลายเป็นเหตุการณ์ระทึกขวัญในสังคมญี่ปุ่น

และช่วงหนึ่ง เกาหลีเหนือให้การสนับสนุนทางการเงินกับชุมชนชาติพันธุ์เกาหลีในญี่ปุ่นนี้จริงๆ มีโครงข่ายธุรกิจและสถาบันที่เชื่อมโยงกับเกาหลีเหนือแน่นแฟ้น

จากปัจจัยภายนอกและภายใน ทั้งภาวะที่สังคมญี่ปุ่นไม่เปิดรับให้พวกเขาคลุกคลีกันเป็นหนึ่งเดียว และการสนับสนุนเข้มข้นทางวัฒนธรรมและการสร้างอัตลักษณ์แบบเกาหลีเหนือ ชุมชนเหล่านี้ก็สร้างกำแพงทางจิตใจเพื่อรักษาวัฒนธรรม ‘แบบเกาหลี’ นี้ (ที่อาจต่างไปจากเกาหลีใต้) ให้แนบแน่นไปด้วย

กลายเป็น North Korea Bubble ที่อยู่ท่ามกลางสังคมญี่ปุ่น สำนักข่าว Vox ใช้คำว่า “ประเทศที่อยู่ในประเทศ” อีกที

กลุ่มคนดังกล่าวถูกเรียกว่า Zainichi และไม่ใช่ทุกคนจะต้องอินกับเกาหลีเหนือจริงๆ แต่สภาพสังคมที่รายล้อมอาจจะทำให้พวกเขาเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยกับวัฒนธรรมที่ตกทอดจากการประกอบสร้างอย่างเป็นสถาบันของเกาหลีเหนือ (เข้าโรงเรียนในสังกัด หรือห้อมล้อมด้วยชุมชนที่อิน)

ความน่าสนใจของวิชานี้ก็คือ ไม่ได้มองเกาหลีเป็นเพียงเชื้อชาติ และอัดเอาค่านิยมรักชาติมาใส่ในเรื่องเล่า แต่ตั้งคำถามถึงความว้าเหว่ของนิยาม “ผู้พลัดถิ่น” ที่ไม่ได้หมายรวมแค่เพียงคนที่จำใจต้องจากบ้านเกิด แต่คือผู้ที่อยู่ระหว่างการเดินเตร็ดเตร่ในความคิด เพื่อตามหาบ้านที่แท้ที่อาจไม่มีทางพบเจอตลอดชีวิต

และคนคนนั้นอาจจะยังอยู่ในแผ่นดินเกิดของตัวเองก็ได้

นักเขียน Zainichi และการกลับบ้าน

ในนิยาย Yuhi ซึ่งเขียนโดยอียางจี นักเขียน Zainichi คนหนึ่งที่ตัดสินใจดั้นด้นกลับมาเรียนมหาวิทยาลัยที่โซล แผ่นดินที่เธอจะเรียกว่าบ้าน แต่ fiction ซึ่งเป็นเหมือนภาพสะท้อนชีวิตจริงของผู้เขียนนี้ เล่าว่าการกลับบ้านไม่ได้ง่ายแค่การซื้อตั๋วเครื่องบิน มันยังมีเรื่องสัญชาติ ภาษา และสภาพความจริงที่ไม่ตรงกับจินตนาการระหว่างเติบโตในแผ่นดินอื่น

Yuhi

เธอไม่อาจคิดและพูดเป็นภาษาเกาหลีอย่างคล่องแคล่ว ยิ่งในเวลาที่อารมณ์บีบคั้น ภาษาญี่ปุ่นกลายเป็นสิ่งที่ปลดปล่อย ซึ่งฟังดูย้อนแย้งหากคิดว่าชีวิตที่ผ่านมาในแผ่นดินอื่น คือการกักขัง

ภาษาเกาหลีที่เธอได้ยินจากปากคนโซล ช่างต่างกับภาษาที่เธอเล่าเรียนมาจากโรงเรียนในญี่ปุ่น (ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นผลผลิตภาษาจากเกาหลีเหนืออีกที) มันช่าง “ไม่ไพเราะ” เหมือนอย่างที่คิดไว้

สำเนียงพูดเกาหลีที่ติดความเป็นญี่ปุ่นของเธอเอง ก็ทำให้เธอรู้สึกไม่มากก็น้อยว่ากำลังสมรู้ร่วมคิดกับเจ้าอาณานิคมที่โหดร้ายในอดีต หรือเธอเองคือ “คนเสแสร้ง”

เธอพูดคำคำนี้ในกลอนท่อนหนึ่งที่ร้องให้กับ ‘ออนนี่’ หญิงสาวที่เธอมาขอพักด้วยระหว่างเรียนมหาลัยในโซล

ความเสแสร้งที่เธอกล่าว อาจหมายถึงว่า ท้ายที่สุด เธอค้นพบว่า แม้ตัวเองอยากจะรักประเทศนี้มากแค่ไหน แต่ในท้ายที่สุดก็รักไม่ได้ และประเทศนี้ก็ไม่ได้รักเธอตอบโดยอัตโนมัติ แม้ว่าเธอจะมีสายเลือดของคนเกาหลีก็ตาม

เรียนๆ ไปได้แค่สองคาบ ก็รู้สึกว่าคำว่าพลัดถิ่นในวรรณกรรม ไม่ได้มีความหมายฝุ่นตลบอย่างแต่ก่อน (นึกถึงภาพผู้ลี้ภัยในค่ายต่างๆ) แต่เป็นความพลัดถิ่นในศตวรรษที่ 21 ยุคที่การขจัดพลัดพรายด้วยเหตุผลทั้งหนักและอ่อนทำให้หลายคนทำนิยามของ ‘บ้าน’ หายไปในระหว่างการเดินทาง

**หมายเหตุ : ยังมีผู้พลัดถิ่นเกาหลีในที่อื่นๆ อีกมากมาย เช่น รัสเซีย คาซัคสถาน จีน อเมริกา คิวบา ฯลฯ ซึ่งล้วนน่าสนใจทั้งนั้น ถ้ามีเวลาจะมาเขียนเล่าอีก

วิชา Special Topics in Korean Studies II: Korean Diaspora in Literature and Culture
อาจารย์ Kyong-mi Danyel Kwon

2 คิดบน “ผู้พลัดถิ่นในวรรณกรรมเกาหลี : ไซนิจิ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.