เขียนจากมักกอลลีและทฤษฎี IR

ดื่มมักกอลลีจนกรึ่มๆ ทุกวันนี้ตื่นมาก็เที่ยงแล้ว พอได้สติก็รีบมานั่งอ่านหนังสือเตรียมสอบมิดเทอมวันจันทร์

นานแล้วที่ไม่ได้ทำเปเปอร์หรือพรีเซนเทชัน ใจมันก็หวาดๆ ว่าจะกลับเข้าไปสู่สนามการเรียนได้อีกไหม

สิ่งที่สดใหม่สำหรับวัย 27 นี้คงเป็นความรู้สึกเรียนเพราะอยากรู้จริงๆ ตื่นตาตื่นใจเวลาได้อ่านบทความวิจัยที่อาจารย์มอบหมาย ส่วนบทความที่หาเองมักเอาไปต่อยอดไม่ค่อยได้เท่าไหร่

บางวันนึกครึ้มๆ ก็เล่าเรื่องที่อ่านมาให้พี่ข้าวฟังบ้าง ผลลัพธ์ก็คือผู้ฟังฟังสนุกจนหลับ

img_9122
ชาว EWHA GSIS ไปนั่งปิกนิกวันอาทิตย์

เทอมนี้ แม้เราจะดูอินกับวิชาวรรณกรรมมากๆ แต่จริงๆ แล้ว วิชาที่น่าหนักใจและต้องใส่ใจเป็นพิเศษคือวิชาพื้นฐานของเอก IR วิชา ‘ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ: หลักทฤษฎีและภาคปฏิบัติ’

ต่อยอดจากที่เรียนวิชาโทรัฐศาสตร์ IR ตอน ป.ตรี ตอนนั้นรู้จักแค่ Realism, Liberal, Neo ของทั้งสอง และ Marxism แค่อ่านว่านักวิชาการเขาเถียงอะไรกันก็มึนพอแล้ว มาที่นี่เราเรียนเพิ่มเรื่อง English School Rationalism และทฤษฎี post-positivist อื่นๆ ซึ่งไม่ได้ผูกตัวเองอยู่กับความเป็นวิทยาศาสตร์ของสังคมศาสตร์แล้ว เช่น Feminism, Social Constructivism ฯลฯ

พร้อมกันนั้นก็สำรวจประเด็นโลกต่างๆ เช่น ความยากจน สงคราม การพึ่งพิงกันทางการค้า ว่าทฤษฎีหรือกรอบความคิดแต่ละแบบ มีคำตอบให้แต่ละเรื่องต่างกันยังไง

atlas ball shaped business compass
Photo by Pixabay on Pexels.com

จะตัวใครตัวมัน จะช่วยเหลือกัน หรือจะเอาเปรียบคนอื่นให้ถึงที่สุดเพื่อความอยู่รอด

ดูเหมือนแต่ละกรอบความคิดก็มีศีลธรรมในแบบฉบับของตัวเอง

นี่คืออีกโลกที่ไม่มีใครกล้าฟันธงว่าคำตอบนี้มีหนึ่งเดียว มันคงจะเป็นโลกที่งงงันสำหรับคนที่บังคับให้คนอื่นคิดได้แบบเดียว ทั้งที่จริงๆ สังคมโลกเราไม่ได้ทำงานแบบนั้น

สิ่งที่อาจารย์อยากได้ ก็คือการที่เราสามารถนำทฤษฎีพวกนี้ไปอธิบายโลกข้างนอกได้ หรือระบุจุดอ่อนที่ทฤษฎีนั้นๆ อธิบายไม่ได้ นั่นแสดงว่าเราต้องเข้าใจแนวคิดของแต่ละทฤษฎีแบบค่อนข้างปรุโปร่ง แล้วยังต้องรู้ด้วยว่า ข้างนอกเกิดอะไรขึ้นบ้าง

สองสามวันก่อนหน้านี้ Angy ชาวอียิปต์และ Gilda ชาวเอกวาดอร์ พาไปกินเบียร์ ทั้งสองคนมาเรียนด้วยทุน KOICA ซึ่งเป็นทุนสำหรับบุคลากรภาครัฐ เราเพิ่งรู้ว่าที่อียิปต์ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนั่งดื่มตามร้านเบียร์ เพราะอาจจะเป็นการกระทำที่ปลุกเร้าความเกลียดชังจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในประเทศ ที่ผงาดขึ้นมาหลังจากที่ 2011 (?)

นี่เป็นอีกเรื่องในโลกที่เราไม่รู้ ท่ามกลางเรื่องราวอีกมากมายมหาศาล การระบุว่าความรู้อะไรเป็นเรื่องสำคัญไม่สำคัญ ก็ตกอยู่ภายใต้การเมืองในประเทศ (ผ่านกระทรวงศึกษาฯ) และการเมืองโลก (ข่าวสารในสื่อหลัก)

ไม่รู้ว่าเวลา 2 ปีที่นี่ จะมากพอสำหรับค้นคว้าหาความรู้ที่สำคัญได้ครบถ้วนหรือเปล่าในฐานะนักเรียน ป. โท ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

866e20da-45b0-4d89-a97f-574e1b5307e3
ร้านกาแฟในมหาวิทยาลัย

Angy เพิ่งส่งวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องสนับสนุนสิทธิสตรีในประเทศ เพราะตัวเองมาจากองค์กรภาครัฐที่ทำงานเรื่องนี้

“หน่วยงานเราเพิ่งมีประธานคนใหม่เข้ามา เธอบอกว่า สิ่งที่เราทำๆ กันมาก่อนหน้านี้ควรต้องเปลี่ยนใหม่หมด ไม่ใช่แค่การรับงบประมาณที่มีน้อยนี้เพื่อไปจัดอบรมผู้หญิงคราวละไม่กี่สิบคนในชนบท แบบนั้นมันไม่ช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมเท่าไร”

เราประทับใจที่เห็นเจ้าหน้าที่รัฐตั้งคำถามกับวิธีการทำงานของตัวเองและความคุ้มค่าของงบประมาณที่ได้รับ เพราะยังไงๆ มันคือภาษีของคนในประเทศ

คำถามที่วนเวียนในหัวเราช่วงนี้คือ แล้วเราล่ะ สิ่งที่เรียนๆ อยู่ตอนนี้ พอรู้ไปแล้ว เราจะนำไปทำอะไรให้เกิดประโยชน์

แต่ตอนนี้ ขอไปนอนฝันต่อก่อนว่า สักวันตัวเองจะเขียนบทความวิจัยดีๆ ขึ้นมาได้เหมือนคนอื่นเขาบ้าง

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.