อ่านเรื่องส่วนตัวของสังคมเกาหลี ผ่าน ‘มี’ ในเมษายน

มีในเมษายน ซอลในกรกฎาคม เป็นชื่อหนังสือรวมเรื่องสั้นนักเขียนเกาหลีร่วมสมัยที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์

เป็นเรื่องน่าลุ้นว่าคนอ่านจะจำชื่อนี้ได้ไหม จะสลับเดือนหรือเปล่า เมษาในเรื่อง มีเมฆฝนตั้งเค้า โปรยปรายลงมาเป็นเสียงโน้ตบนหลังคา ตัวละครเปรียบเสียงนั้นเหมือนเสียงตัวโน้ต ‘มี’ ในเดือนเมษาฯ เมื่อฝนถี่กระชั้นหนักหน่วงตามเดือนที่ผ่านไป ก็ไต่ระดับกลายเป็นเสียงซอล

แต่ทำไมต้องเป็นกรกฎาฯ และทำไมถึงไม่ไปไกลถึงเสียงที เรื่องนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของตัวละครที่คงต้องให้เธอได้เล่าเอง

หลากเรื่องส่วนตัวของตัวละครติดดินในสังคมเกาหลีประกอบกันเข้าเป็น มีในเมษายน ซอลในกรกฎาคม รวมเรื่องสั้นแต่ละเรื่องเป็นตัวต่อที่เข้ามาฉายภาพสังคมโดยรวมของเกาหลีปัจจุบันได้ในภาพใหญ่ ไม่มีพระเอกที่เป็นประธานฯ บริษัท ไม่มีนางเอกที่เปิ่นเป๋อและจิตใจดีผิดมนุษย์ ไม่มี(แค่)ตัวร้ายที่โลภมากและเห็นแก่ตัว ไม่มีพลังวิเศษหรือความเก่งฟ้าประทาน ไม่มีเรื่องปาฏิหาริย์ มีแค่ความฝันที่ค้างเติ่งอยู่ในความทรงจำ

มีแค่ชายที่จะเป็นจะตายกับการหาห้องน้ำในศูนย์การค้าและค้นพบปรัชญาชีวิตจากเกิลเจเนอเรชัน

มีเพียงหญิงสาวเปลี่ยวเหงาที่เดินเข้าร้านสะดวกซื้อเหมือนเข้าไปทำพิธีในโบสถ์วิหาร วัตรปฏิบัติในสังคมแห่งการบริโภคที่ช่วยบรรเทาความไร้ตัวตนของปัจเจกฯ

มีชายนักศึกษาที่เงี่ยหูฟังเสียงพูดภาษาญี่ปุ่นในหูโทรศัพท์ของโรงแรมหรู เพียงเพราะไม่อยากอยู่เหงาๆ ในเมืองหลวง ทั้งที่ฟังอะไรไม่ออกสักคำ

Photo by James Lucian on Pexels.com

มันเป็นเรื่องส่วนตัว ที่เหมือนโยนตัวละครสีส้มของกูเกิลแมพลงไปในแผนที่โซล แล้วเราจะเห็นทุกอย่างที่อยู่รายรอบนั้น หากการมองเส้นกริดถนนจากมุมบนคือการศึกษาหาทางไป การอ่านเรื่องสั้นนี้ก็คือมุมมองสตรีทวิวที่ทำให้เราเสมือนได้ลงไปท่องเที่ยวในโซลแต่ละมุม หย่อนเราไปที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ หน้าตาของโซลไม่คล้ายจุดถ่ายรูปยอดฮิตในอินสตาแกรมของเพื่อนๆ ส่วนเราจะชอบมุมนั้นหรือไม่ คงต้องลองอ่านดู

ก็จริงอยู่ว่าเรื่องสั้นร่วมสมัยไม่ค่อยมีคำตอบหรือคำสอนใจสำเร็จรูปอะไรให้เรา (เพราะอาจจะกลัวเด๋อ) แต่บางทีอาจมีเรื่องน่าฉงนที่เราไม่เคยรู้ว่าคนในโซลนั้นคิดอยู่ และเราก็อาจช่วยเขาตอบในใจได้

“ถ้าพวกเราอายุมากขึ้น เราจะเป็นเหมือนคนพวกนั้นไหมนะ คนที่สุดท้ายลงเอยกลายเป็นเพียงผู้ชมที่ได้แต่มองมาอย่างนิ่งๆ แล้วพูดว่า ฉันเองก็เคยเข้าร่วมประท้วงเมื่อสมัยก่อน ตอนที่ยังไม่รู้ประสีประสา” 

จากเรื่อง ‘โรงแรมพลาซ่า’

รวมเรื่องสั้นเรื่องนี้คงจะยิ่งสนุก หากอ่านผ่านมุมของคนที่มีพื้นความรู้ประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมเกาหลี หรืออย่างน้อยที่สุดก็อยากจะศึกษาเรื่องเหล่านี้ต่อไป

มีในเมษายน ซอลในกรกฎาคม
ได้รับการสนับสนุนจัดพิมพ์จาก Korea Foundation
แปลโดย อิสริยา พาที ผู้แปลเดียวกับ โบลโน้ต
ออกแบบปกโดย มานิตา ส่งเสริม
อ่านตัวอย่างได้ที่นี่

ภาพหน้าแรก: Photo by Thierry Chabot on Unsplash

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.