หลายคนที่ไทยส่งข้อความมาหา ถามไถ่ว่าเป็นยังไงบ้าง สถานการณ์ที่เกาหลีดูน่ากลัว เราเลยจะมาเล่าว่าหนึ่งเดือนที่อยู่ที่นี่ระหว่าง covid-19 ระบาด ที่นี่มีมาตรการอะไรบ้างที่ทำให้เราอุ่นใจ แม้จะกลัวโรค
หลังจากเรากลับมาจากไทย (1 กุมภาฯ) ตอนนั้นเกาหลีก็นับว่าเริ่มๆ มีผู้ติดเชื้อ และเขาก็กลัวมาตั้งแต่เริ่มมีข่าวว่ามีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ระบาดในจีนแล้ว ทางการได้ปล่อย Emergency Alert ส่งมาให้ทางมือถือตั้งแต่วันแรกๆ ที่เริ่มมีการระบาด ชี้แจงว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มที่ไหน ต้องทำตัวยังไงบ้าง หากป่วยต้องติดต่อที่สายด่วนเบอร์ 1339 ฯลฯ หรือหากมีผู้ติดเชื้อบริเวณใกล้เคียง ก็จะส่งมาเตือนว่าหากใครไปเยี่ยมเยือนสถานที่เดียวกับผู้ติดเชื้อในช่วงเวลาดังกล่าว ให้มารายงานตัวเพื่อตรวจโรคด่วนๆ

ตอนที่มาถึงสนามบินอินชอน จะเห็นป้ายประชาสัมพันธ์ติดอยู่แทบทุกที่ แม้แต่ในร้านเบอร์เกอร์คิง ว่าด้วยข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคระบาด เช่น ไอ-จามให้ถูกสุขลักษณะ ล้างมือบ่อยๆ ฯลฯ และมีประกาศว่าใครที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและมีอาการเข้าข่ายว่าติดเชื้อ covid-19 ถ้าตรวจแล้วพบว่าเป็นจะได้รับการรักษาฟรี ไม่ต้องห่วง รัฐบาลจะดูแลเอง

ช่วงแรกๆ ทางมหาวิทยาลัยอีฮวาก็ป้องกันตัวเองเบื้องต้น เพียงแค่ปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้า (จากที่เป็นจุดถ่ายรูปยอดฮิต) เปิดให้บุคลากรเข้าประตูเดียว เอารั้วมากั้นเหลือแค่ทางเข้าแคบๆ ที่หน้าประตูใหญ่ มีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยยืนสังเกตการณ์และตรวจบัตรนักศึกษา
เราว่านโยบายนี้ช่วยได้มาก เพราะพอมหาวิทยาลัยไม่เปิดให้เข้าแล้ว นักท่องเที่ยวก็ไม่มีกิจกรรมอะไรที่ต้องมาทำแถวๆ นี้ ลดโอกาสเสี่ยงที่จะมีเชื้ออยู่ตามร้านอาหารต่างๆ
นอกจากนี้ หลายมหาวิทยาลัยก็ประกาศเลื่อนเปิดเทอมไป 2 สัปดาห์ เพราะอาจมีนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะนักศึกษาจีนที่มีอยู่ราว 70,000 คนในเกาหลีใต้ กลับเข้ามาช่วงเปิดเทอม ก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะติดเชื้อเข้ามาด้วย
ชินชอนจี และตัวการแพร่เชื้อครั้งใหญ่
จากที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ทำ ดูๆ ไปแล้วก็รัดกุมดี ในโทรทัศน์ก็มีข่าวความคืบหน้าและสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่และแพทย์ตลอดเพื่อให้ประชาชนอยู่กลางๆ ระหว่างตื่นตระหนกเกินไปกับไม่ระมัดระวังตัว
แต่เรื่องก็มาบานปลายจากกรณีที่บรรดาสาวกลัทธิชินชอนจี เมินเฉยต่อคำเตือนของทางการ และยังมารวมตัวกันที่โบสถ์ตามปกติ ซึ่งโบสถ์ของลัทธินี้มีความเฉพาะตัวตรงที่ต้องนั่งกันบนพื้นแบบเบียดๆ กัน ไม่สวมหน้ากากอนามัย เพราะลัทธินี้สอนให้ไม่เชื่อเรื่องโรคภัย หรือเรื่องทางโลกต่างๆ นิวยอร์กไทมส์ระบุว่าต้นตอของการระบาดแบบพุ่งพรวดนี้มีจุดเริ่มต้นจากโบสถ์ชินชอนจินี่เอง จากกรณีที่หญิงวัย 61 ปีคนหนึ่งเริ่มป่วย แต่แทนที่จะแจ้งทางการและเข้ารับการรักษาตามที่รัฐบาลเขาประกาศกันปาวๆ ก็กลับไปงานสังคมและเข้าโบสถ์ตามปกติ ราวกับไม่มีอะไรร้ายแรงในโลกข้างนอกนั้น
ตอนนี้ตัวเลขของเกาหลีใต้ที่พุ่งๆ อยู่เป็นพันๆ คน ส่วนใหญ่ก็มาจากพื้นที่ในแทกู ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นหายนะ ส่วนในโซลก็เพิ่มขึ้นตามปกติ ในหลักสิบคน และตอนนี้เจ้าหน้าที่ก็ดูแลแทกูอย่างเข้มข้น
หน้ากากอนามัย
แม้จะยังถกเถียงกันทั่วโลกว่าสรุปแล้วต้องสวมหน้ากากอนามัยไหม แต่ที่เกาหลี หนึ่งในมาตรการป้องกันตัวเองตามคำแนะนำของทางการก็คือการสวมหน้ากาก เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้น คนก็แห่ไปซื้อกันใหญ่ ทำให้ตอนนี้ร้านค้าหลายแห่งของหมด
ล่าสุด ประธานาธิบดีมุนแจอินออกมาขอโทษที่หน้ากากอนามัยขาดตลาด และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการส่งออก ผลิตเองเพื่อส่งให้ร้านต่างๆ ตามโควตาที่กำหนดไว้ ผลักดันให้โรงงานผลิตเพิ่ม ปรับปรุงการกระจายสินค้าเพื่อไม่ให้เสียเวลาเข้าคิว และควบคุมราคาให้เป็นธรรม ฯลฯ
กักกันตัวเองในบ้าน
สำหรับคนที่ต้องกักตัวเองอยู่ในบ้าน 14 วัน ทางสภากาชาดของเกาหลีก็ได้มีการจัดเตรียมเสบียงอาหารสำหรับยังชีพในช่วง 14 วันนั้นด้วย เพราะเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะขังตัวเองไว้เฉยๆ ไม่ต้องกินอาหาร

แต่สำหรับเราเองที่ไม่ได้เป็นผู้ที่เข้าข่ายต้องกักกันตัวเอง แต่ก็ลดความเสี่ยงด้วยการออกไปข้างนอกให้น้อยที่สุด โดยการซื้อของในมาร์ทใกล้ๆ บ้านมาเก็บเอาไว้ให้อยู่ได้นานสองสัปดาห์ ช่วงนี้ร้านอาหารไทยแถวหน้ามหาวิทยาลัยคงขาดลูกค้าไปเยอะ
นโยบายตรวจ ‘ผีน้อย’
สำหรับอีกหนึ่งประเด็นร้อน คือเรื่องคนที่เข้ามาทำงานในเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมาย หรือ ‘ผีน้อย’
เราอ่านหลายๆ คอมเมนต์ที่บอกว่าผีน้อยยังไงก็ต้องกลับบ้าน เพราะป่วยก็ไปโรงพยาบาลไม่ได้ เรื่องนี้มีข้อมูลแย้ง
เนื่อจากสถานทูตไทยในเกาหลีได้ประกาศตั้งแต่โรคเริ่มระบาดในช่วงแรกๆ ว่าทางการเกาหลีใต้ออกนโยบายให้ผีน้อยไปตรวจในโรงพยาบาลได้ฟรี จะไม่มีการรายงานประวัติไปให้ทางการมาจับแต่อย่างใด
ตอนนี้การป้องกันโรคสำคัญกว่าการมานั่งจับผิดว่าใครเข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมาย ถ้าเอาแต่ขู่กันก็จะยิ่งวิกฤตกันเข้าไปใหญ่ เพราะตอนนี้สำคัญที่สุดคือทุกคนเป็นมนุษย์ที่เป็นพาหะของ covid-19 ได้
ความโปร่งใสของข้อมูล
เรื่องหนึ่งที่เราสบายใจ คือการที่ KCDC หรือกรมควบคุมโรคของเกาหลีออก press release รายงานสถานการณ์ทุกวัน ว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ จำนวนที่เพิ่มมาจากจังหวัดไหนบ้าง ติดมาจากสถานที่ใดมากเป็นพิเศษ
เราจะเห็นว่า ถึงตัวเลขจะเพิ่มขึ้นๆ แต่ถ้าเห็นภาพว่าระบาดในวงที่จำกัด เราอยู่ทางนี้ก็สบายใจกว่า จะได้ระวังว่าต้องหลีกเลี่ยงที่ไหนเป็นพิเศษ ดีกว่าไม่รู้อะไรเลย เดินไปไหนมาไหนก็วิตกกังวลไปหมด

ส่วนที่เขียนว่า Others คือกำลังตรวจสอบ (ข้อมูลจาก kcdc.go.kr)
ไม่ใช่แค่คนที่มีอาการแล้วกระเสือกกระสนมาโรงพยาบาลเท่านั้นที่จะได้รับการตรวจ ที่นี่มีการเรียกบุคคลที่อยู่ในสถานที่เสี่ยงจากที่ที่ผู้ติดเชื้อเคยไปเยือนก่อนหน้านี้มาร่วมตรวจด้วยฟรี อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เจอผู้ติดเชื้อมากขึ้นๆ

ข้อมูลจาก kcdc.go.kr
นอกจากข้อมูลภาครัฐ ตอนนี้มีเว็บแอพที่ประชาชนสร้างขึ้นเอง คือ coronamap ที่อ้างอิงข้อมูลทางการ ระบุสถานที่ที่ผู้ติดเชื้อเคยไปเยือน (สีเขียว = ไปมาแล้วเกิน 4 วันแต่ยังไม่ถึง 9 วัน; สีเหลือง = เกิน 24 ชั่วโมง แต่ยังไม่ถึง 4 วัน; สีแดง = ยังไม่เกิน 24 ชั่วโมง)

แคมเปญหยุดอยู่บ้าน
ล่าสุด รัฐบาลตระหนักแล้วว่าการระบาดนี้มีร้ายแรงสูงสุด เลยรณรงค์ให้ทุกคนงดเว้นการเข้าสังคมต่างๆ เช่น ไม่ออกไปข้างนอก ไม่พบปะผู้คนแบบซึ่งๆ หน้า ติดต่อกันผ่านโซเชียลมีเดียแทน
ตอนนี้ที่ทำงานหลายแห่งให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้าน ส่วนมหาลัยของเรา จากเดิมที่เลื่อนเปิดเทอมไปสองสัปดาห์อยู่แล้ว ก็บอกให้เรียนออนไลน์ในช่วงสองสัปดาห์แรกอีกด้วย

ทั้งหมดที่เล่ามาก็คือ เรากลัว covid-19 แต่ก็ค่อนข้างสบายใจเมื่อเห็นข้อมูลชัดๆ รู้ว่าจะต้องทำอะไร ใช้ชีวิตยังไงในช่วงที่ยังมีการระบาด ไม่ต้องคอยระแวงว่าตัวเลขนี้จริงหรือเปล่า (เพราะมันพุ่งแบบ ยอมแล้วจ้าาา)
ทั้งนี้ถ้าใครบอกว่าเกาหลีระบาดหนักเพราะลักษณะการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกสุขอนามัยของคนเกาหลี อันนี้เราตอบไม่ได้ เพราะเราก็ไม่คิดว่าเขาสกปรกกว่าคนไทยบางกลุ่มตรงไหน หรือบางทีเราอาจจะมาจากคนละซับเซตสังคมคนไทยอีกที