ชายเป็นใหญ่ แปลกใหม่หรือดั้งเดิมในสังคมเกาหลี

ที่มาภาพหน้าแรก: Photo by Random Institute on Unsplash

เร็วๆ นี้มีข่าวลือเรื่องการเสียชีวิตของคิมจองอึน (ซึ่งขณะที่เขียนนี้เราก็ยังไม่รู้ข่าวยืนยันแน่ชัดว่าจริงแค่ไหน) แต่สำนักข่าวต่างๆ ก็เริ่มตีพิมพ์บทความวิเคราะห์กันว่าใครจะเป็นผู้นำเกาหลีเหนือคนต่อไป ถ้าหากจองอึนไปแล้วจริงๆ ตัวเก็งคนเแรกๆ คือ คิมยอจ็อง น้องสาวของคิมจ็องอึน ที่ช่วยงานเขาอย่างขันแข็ง มีบทบาทในทางการเมืองเคียงข้างคิมจ็องอึนมานาน มีสายเลือดของตระกูลคิม ที่เทียบไปแล้วก็ไม่ต่างกับเชื้อกษัตริย์ในแผ่นดินเกาหลีเหนือ (แม้จะไม่เรียกว่าเป็นคิงก็เหอะ)

แต่ประเด็นหนึ่งที่พูดกันขึ้นมาว่าไม่น่าเป็นไปได้หรอก คือเรื่องลักษณะสังคมชายเป็นใหญ่ในเกาหลีเหนือ หากให้ผู้นำผู้หญิงขึ้นมาจริงๆ คงมีแรงทัดทานเยอะ ก็เลยต้องดูกันว่าในกรณีอย่างนี้ สายเลือด หรือ เพศ จะเป็นระบบคุณค่าที่ยิ่งใหญ่กว่ากัน

เรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงเรื่องที่เรียนไปเมื่อเร็วๆ นี้ เกี่ยวกับการซึมซับแนวคิดขงจื่อในสังคมเกาหลี ว่าจริงๆ เป็นการถ่ายทอดจากชนชั้นนำไปสู่ชนชั้นล่าง และก็มีหลายๆ อย่างจากวัฒนธรรมจีนที่ขัดกับคุณค่าดั้งเดิมของสังคมเกาหลี

โดยเฉพาะเรื่องชายเป็นใหญ่ ที่เรียกได้ว่ายุคนั้นแปลกปลอมกับสังคมเกาหลียุคเก่าที่ผู้หญิงมีบทบาทมากพอๆ กับผู้ชาย ผิดกันกับที่เรารับรู้จากสื่อและสถานการณ์ทุกวันนี้ว่าเกาหลีนั้น ชายเป็นใหญ่จนเป็นพิษ เลยแอบเหมารวมไปว่ามันคงเป็นมาแบบนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

ในบทความ “The Confucianization of Korean Society” โดย Jahyun Kim Haboush ในหนังสือ Confucian Heritage and Its Modern Adaptation บอกว่าสังคงโบราณของเกาหลี เริ่มปะทะเข้ากับแนวคิดขงจื่อเมื่อสองปีก่อนคริสตกาล แต่แทนที่จะรับมาในเชิงปรัชญาการดำรงชีวิต กลับเป็นชนชั้นนำที่รับเอาแนวคิดทางการเมืองมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบรวมอาณาจักรชนเผ่าที่กระจายในคาบสมุทรเกาหลี ที่สุดท้ายคลี่คลายมาเป็นสามราชอาณาจักร: โคกูรยอ แพ็กเจ (รับมาราวศตวรรษที่ 4) และชิลลา (เพิ่งรับมาในศตวรรษที่ 7)

อิทธิพลของแนวคิดขงจื่อจึงจำกัดในการทางการเมืองการปกครองและระบบการสอบเข้ารับราชการ (แบบจีน) ในขณะที่ศาสนาที่เป็นคุณค่าหลักของสังคมนั้นยังได้รับอิทธิพลหลักๆ จากพุทธศาสนา (ซึ่งเราจะทำไฟนอลเปเปอร์เจาะเรื่องนี้ในชิลลาด้วย!)

นั่นหมายความว่า การเมืองก็ส่วนการเมือง การมุ้งหรือเรื่องในครอบครัวในเกาหลีนั้นยังไม่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดขงจื่อจีนมากนัก ซึ่งบางแนวคิดก็ไม่ได้ออริจินัลขงจื่อซะทีเดียว แต่เป็นการผสานรวมวัฒนธรรมจีน เช่นประเพณีการแบ่งสมบัติให้ลูกชายอย่างเท่าๆ กัน (ขงจื่อไม่ได้กล่าว แต่คนจีนเหมาเอาเป็นวัฒนธรรมที่ผสานกันพอดีกับหลักปฏิบัติของตัว)

ในยุคชิลลา แม้แต่ราชวงศ์เองก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์เข้มงวดเกี่ยวกับการใช้ระบบนามสกุลฝั่งพ่อ หรือกำหนดว่าการสืบทอดราชบัลลังก์จะต้องเป็นลูกชายเท่านั้น คือจะเป็นลูกสาว สามีของลูกสาว (ลูกเขย) หรือหลานๆ จากทั้งลูกชายและลูกสาวก็ได้ มองอย่างนี้ก็คือเน้นไปที่ระบบสายเลือดมากกว่า

ราชินีซ็อนด็อก
Matt and Nayoung Wilson from Atlanta and surrounding, US / CC BY (https://creativecommons.org/licenses/by/2.0)

หรือในยุคโครยอ แม้ในวังจะเริ่มกำหนดว่าการสืบทอดบัลลังก์จะต้องเป็นลูกชายเท่านั้น แต่สังคมทั่วไปนอกจากสถาบันกษัตริย์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูงหรือชนชั้นล่าง ก็ยังไม่ได้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติในการโอนถ่ายสมบัติและอำนาจหัวหน้าครอบครัวให้เฉพาะลูกชาย ลูกๆ ทุกคนจะได้รับมรดกเท่าๆ กันโดยไม่เกี่ยงเพศ การแต่งงานเข้าบ้านฝ่ายหญิงก็เป็นเรื่องที่ทำกันโดยทั่วไป ไม่ว่าจะชายหรือหญิง หรือกระทั่งลูกเขย ก็สามารถมีบทบาทในครอบครัวได้ไม่ต่างกัน (หน้า 99)

กระทั่งปี 1391 หรือปลายยุคโครยอ ที่ทางการเริ่มมีการทำสำมะโน ระบบการลงทะเบียนที่ยึดตามสายตระกูลฝั่งพ่อซึ่งได้รับอิทธิพลนีโอขงจื่อนี่เองก็เริ่มมาแทรกซอนในระบบความคิดของคนเกาหลี กล่าวคือในโครยอยุคแรก การจดลำดับสายตระกูลนั้นจะรวมเอาบรรพบุรุษฝ่ายชาย-หญิง ที่มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง (เช่น มีชื่อปู่-ย่า) แต่พอยุคหลัง ชื่อคุณย่า คุณยาย หรือฝั่งแม่ๆ นี้ก็หายไป เพราะถือว่าไม่สำคัญ

หรือกรณีที่บ้านนั้นมีแต่แม่หม้าย พวกเธอไม่สามารถถูกบันทึกว่าเป็นหัวหน้าครอบครัวได้ แต่จะเป็นชื่อผู้ชายในครอบครัวแทน

และระบบการบันทึกนี้ก็กลายเป็นมาตรฐานของยุคโชซ็อน

ถึงระบบลำดับสายตระกูลจะสั่นคลอน ค่อนไปทางชายเป็นใหญ่ แต่การใช้ชีวิตแต่งงานก็ยังรักษารูปแบบคล้ายเดิม เดิมที่ฝ่ายชายแต่งงานเข้าบ้านครอบครัวฝ่ายหญิง แต่ต่อมาก็เป็นประเพณีว่า จะอยู่บ้านฝ่ายหญิงจนกว่าทั้งคู่จะอายุเข้า 30 แล้วย้ายออกไปพร้อมกับลูกๆ ยกเว้นลูกสาวคนโตและสามีที่จะยังยืนหยัดอยู่บ้านเดิมต่อไป

หรือระบบการแบ่งทรัพย์สมบัติ ในขณะที่ครอบครัวจีนยึดมั่นกับการที่สมบัติเป็นกรรมสิทธิ์ฝ่ายชายเท่านั้น หญิงในครอบครัวเกาหลียังมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตัวเองก่อนแต่งงาน และเมื่อแต่งงานใหม่ก็ยังพาเอาสมบัติเหล่านั้นติดไปได้ ไม่ได้ตกเป็นของชายแต่อย่างเดียว กระทั่งสมัยโชซ็อนยุคแรก ก็ยังมีบันทึกว่าผู้หญิงบางคนทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัว

แต่ก็ในช่วงต้นโชซ็อนนี้เอง ที่ทางการเริ่มพยายามสั่งห้ามผู้หญิงแต่งงานใหม่ เชิดชูแม่หม้ายที่ยอมครองโสดไม่แต่งงานอีก ฯลฯ หนำซ้ำบรรดาลูกชายที่เกิดจากการแต่งงานใหม่ จะถูกแบนจากการเข้ารับราชการด้วย! ช่วงศตวรรษที่ 13-14 รัฐเริ่มออกคำสั่งให้หญิงชนชั้นสูง (ชนชั้นยังบัน) ห้ามข้องแวะกับชายที่ไม่ได้เป็นญาติ หรือออกไปข้างนอกโดยไม่ปิดหน้า ห้ามขี่ม้า และเพิ่งจะมาปลายศตวรรษที่ 15 ที่มีการตีพิมพ์หนังสือสอนหญิงที่สอนให้เป็นเมียที่เคารพนบนอบ ไม่หือไม่อือ ออกมาอย่างแพร่หลาย

เรียกได้ว่า พอเข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ 17-18 แนวคิดชายเป็นใหญ่ก็หยั่งรากแน่นหนาในสังคมเกาหลี หลายครอบครัวที่ตีพิมพ์สมุดบันทึกสายตระกูล (jokbo) ก็เริ่มละชื่อของผู้หญิงออกไปเกลี้ยง

แต่วัฒนธรรมดั้งเดิมก็ยังคงยืนอยู่เงียบๆ ในซอกมุมเล็กๆ เช่นพิธีแต่งงานที่แม้จะผสานนีโอขงจื่อเข้ามา แต่ก็ยังหยวนๆ ให้ธรรมเนียมเก่า ไม่ได้ยึดตามคู่มือ Family Rituals ที่ฝ่ายหญิงต้องย้ายจากบ้านไปทันทีแล้วค่อยจัดพิธีแต่งงาน เพราะในเกาหลี พิธีเริ่มจัดที่บ้านฝ่ายหญิง และเธอจะอยู่ที่บ้านตัวเองไปอีกสักพัก จนกว่าจะเริ่มตั้งท้อง แล้วจึงย้ายไปที่บ้านฝ่ายชาย (หน้า 108) แต่สุดท้ายก็จะกลับมาคลอดลูกที่บ้านตัวเอง เหล่านี้เป็นสิ่งที่ยังหลงเหลือหรือเคยชินมาตั้งแต่สมัยโบราณที่ฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายแต่งงานเข้าบ้านฝ่ายหญิงมากกว่า

Isaac Crumm at English Wikipedia / Public domain

เล่ามาซะยาว หลักๆ คือจะชวนคุยเรื่องแนวคิดชายเป็นใหญ่ในเกาหลี (และในหลายๆ ที่ทั่วโลก) ว่ามันเป็นสิ่งที่ยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เอกลักษณ์อะไรที่ต้องยึดมั่นรักษาไว้ไม่ปล่อย และในกระบวนการรับมาผสมผสานกับวิถีชีวิต มันมีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกการมุ้งเสมอ

กรณีผู้นำเกาหลีเหนือคนใหม่ ก็ไม่แน่เหมือนกัน การเมืองภายในอาจไม่สู้แนวคิดชายเป็นใหญ่ที่ว่ากันว่าเหนียวแน่นมานาน

อื่นๆ

เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Jokbo http://koreatimes.co.kr/www/opinion/2019/11/739_261434.html

Haboush, JaHyun Kim. “THE CONFUCIANIZATION OF KOREAN SOCIETY.” The East Asian Region: Confucian Heritage and Its Modern Adaptation, edited by Gilbert Rozman, Princeton University Press, PRINCETON, NEW JERSEY, 1991, pp. 84–110. JSTOR, http://www.jstor.org/stable/j.ctt7ztk0h.7. Accessed 27 Apr. 2020.

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.