หนังสือ Why International Cooperation is Failing โฟกัสที่ปัญหาความล้มเหลวของ G20 ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1999 และขยับอัพเกรดตัวเองสู่ระดับเวทีผู้นำในปี 2008 หลังเกิดวิกฤตการเงินโลก
เอเชียรู้ อเมริการู้ ยุโรปรู้ ว่าโอกาสจะเกิดวิกฤตใหญ่ในสภาวะที่โลกาภิวัตน์พันพัวเศรษฐกิจทุกประเทศเข้าด้วยกันจะเกิดขึ้นอีกแน่ และจะยิ่งร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะความเปราะบางที่มาพร้อมกับการเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งขึ้น
แต่ทำไม เวที G20 ที่ถูกวาดหวังเอาไว้ให้เป็นที่ที่สร้างสถาบันและกฎเกณฑ์ป้องกันวิกฤติรวมกันจึงล้มเหลว และยังเฟลอยู่ (“is failing” ตามชื่อหนังสือ)
ไม่ใช่แค่เรื่องการแย่งชิงอำนาจของประเทศต่างๆ (แบบที่ Realist จะรีบฟันธง) หรือความโง่เขลาที่มองไม่เห็นผลประโยชน์ร่วมกัน (แบบที่ Neo-Liberals จะพยักหน้าว่าใช่ๆ)
แต่มันซับซ้อนกว่านั้น แทนที่จะมองแบบมุมมองนกอินทรีย์ ผู้เขียนบอกว่า ต้องมองลึกเข้าไปสู่โครงสร้างและการสอดรับกันของสถาบันต่างๆ ในประเทศ เช่น สถาบันการเงิน สหภาพแรงงาน กลุ่มธุรกิจต่างๆ ในระบบทุนนิยมของแต่ละประเทศ คือมองจากจุดตั้งต้นในประเทศที่มันเป็น ‘defect’ มาแต่แรก และประสานกันไม่ลงตัวในระดับนานาชาติ
สิ่งเหล่านี้ทำให้พอตั้งโต๊ะเจรจาหากฎเกณฑ์ร่วมกันทีไร ก็ไปต่อไม่ได้ทุกที เพราะกฎที่เสนอกันมามันดันไปขัดขาโมเดลทุนนิยมที่ประเทศบางประเทศมีอยู่ ซึ่งดันเป็นโครงสร้างโอบอุ้มการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศมายาวนานและยากที่จะถอนรากหรือปฏิรูปใหม่ได้ในทันที

มองอย่างงี้ ใครก็อาจสรุปง่ายๆ ว่า “อ่าว เหมือนกับที่บอกไง แค่ประเทศขัดผลประโยชน์กันเอง”
อาจารย์โทมัส คาลินาวสกี้ บอกว่า ที่เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ก็เพื่อให้เกิดการท้าทายตั้งคำถามว่า “ผลประโยชน์ของประเทศ” จริงๆ แล้วใครกันที่เป็นคนนิยามว่ามันคืออะไร หรือเป็นแค่คำที่ถูกอวดอ้างขึ้นมาโดยผู้มีอำนาจ? ทั้งที่ผลประโยชน์นั้นอาจตอบสนองแค่คนบางกลุ่มที่แฝงฝังอยู่ใน ‘สถาบัน’ ต่างๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะสถาบันทางเศรษฐกิจหรือสถาบันทางการเมือง
ยกตัวอย่างเช่น ประโยชน์ของภาคธุรกิจหนึ่ง ก็อาจเป็นผลเสียกับสวัสดิภาพของแรงงานในประเทศก็ได้ อย่างนี้ ผลประโยชน์ของประเทศ ก็ไม่ได้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม
เพราะฉะนั้น กว่าเราจะรู้ว่าคำคำนี้มันกลั่นมามีความหมายอะไรและเพื่อใครกันแน่ ก็ต้องเดินเข้าไปสำรวจอาณาจักรระบบทุนนิยมในประเทศนั้นก่อน ว่ามันวางโครงสร้างทางอำนาจเอาไว้ยังไงบ้าง
ก่อนอื่น หนังสือเล่มนี้ตั้งอยู่บนหลักคิดว่า ‘ทุนนิยม’ ไม่ได้เหมือนกันทั้งโลก (Varieties of Capitalism : VoC) ซึ่งสำหรับเล่มนี้ ผู้เขียนแบ่งเป็นสามโมเดลใหญ่ๆ คือ ทุนนิยมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยภาคการเงินเป็นหลัก (US/UK) การรวมตัวกันทางเศรษฐกิจเป็นหลัก (EU) หรือการส่งออกเป็นหลัก (East Asia)
สมมติฐานนี้ถูกนำมาร่างเป็นแผนภาพ ‘modified Mundell-Flemming Trilemma Triangle’ ที่ทำให้เห็นว่าแต่ละโมเดลสามารถเลือกได้แค่สองในสามตัวเลือกเท่านั้น ในด้านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน การไหลเวียนของเงินทุน และนโยบายการเงิน-การคลัง (นำไปสู่สามเหลี่ยม Bretton Woods, Neoliberal, Activist state) แม้ว่าโมเดลทั้งสามนี้จะเลือกองค์ประกอบบางด้านที่เหมือนกัน แต่ด้วยโครงสร้างที่ทุนนิยมขับเคลื่อนด้วยสิ่งที่ต่างกันไป ก็ทำให้กฎเกณฑ์ระดับโลกที่ทุกคนอยากได้ไว้ตรงกลางเพื่อป้องกันวิกฤตร่วมกันในอนาคต ออกมาหน้าตาไม่เหมือนกัน

อเมริกาขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านภาคการเงินเป็นหลัก เน้นการไหลเวียนของเงินทุนอย่างเสรี (เพราะตัวเองได้ประโยชน์จาก transactions ต่างๆ) และโอกาสจากอัตราค่าเงินที่ผันผวนทำให้ดอลลาร์สหรัฐฯ ยังจำเป็นในระดับโลก ความเสรีนี้แม้จะทำให้ภายในประเทศ ภาคแรงงานอ่อนแอ เกิดการแข่งกันกดค่าแรงต่ำ แต่ระบบเครดิตที่เฟื่องฟูก็ยังทำให้คนยังใช้จ่ายกันต่อไปได้ (ด้วยหนี้) แม้ในระยะยาวจะทำให้เกิดความเสี่ยงวิกฤตแทรกอยู่ข้างใน ผู้เขียนบอกว่า การไหลเวียนของเงินทุนอย่างเสรี ผ่านตลาดการเงินเป็นหลัก ทำให้ธุรกิจเล็กๆ ในอเมริการะดมทุนสร้างนวัตกรรมล้ำๆ ขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมโมเดลทางธุรกิจ (แม้ว่าจะสำเร็จเพียงจำนวนน้อยของธุรกิจที่ผุดใหม่ทั้งหมด) ต่างจากนวัตกรรมแบบค่อยเป็นค่อยไปในยุโรป ที่เกิดมาจากความเชี่ยวชาญของแรงงาน ที่เติบโตและหล่อเลี้ยงได้ด้วยเสถียรภาพในการจ้างงาน ซึ่งเกิดจากภาคแรงงานที่แข็งแกร่งควบคู่ไปกับกลุ่มธุรกิจที่ร่วมมือกันโต และธุรกิจเหล่านี้ยืนหยัดได้ ไม่แข่งกันเอาเป็นเอาตาย เพราะมีสายสัมพันธ์ระยะยาวกับธนาคารซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนหลัก ไม่ใช่นายทุนที่โผล่มาแบบแวบๆ ในตลาดแบบอเมริกา เห็นผลกำไรน้อยหน่อยก็รีบเผ่นแนบ

แน่นอนว่าระบบการจ้างงานที่แข็งแกร่ง หล่อเลี้ยงธุรกิจที่เน้นนวัตกรรมต่อเนื่อง จะเป็นอย่างงั้นได้ ก็ต้องจำกัดความ ‘เสรี’ ของนายจ้าง ที่จะจ้างหรือไล่ใครออกเมื่อไหร่ก็ได้ และนายจ้างจะทำอย่างงั้นได้ ก็ต้องมีสถาบันการเงินที่ให้เงินทุนหนุนอยู่ข้างหลัง เป็นมิตรแท้ยาวนาน คือไม่ว่าจะเกิดความผันผวนชั่วคราวใดๆ ในตลาด บริษัทก็ไม่ต้องลุกลี้ลุกลนรีบลดต้นทุนด้วยการเอาคนงานออกเพื่อเอาใจนายทุน
เหล่านี้เรียกว่า institutional complementarity สถาบันหนึ่งส่งผลและประคับประคองอีกสถาบันหนึ่งในทางเศรษฐกิจในประเทศให้ ‘เป็นไปได้’ เพราะฉะนั้นการจะเปลี่ยนด้านหนึ่งให้กลายเป็นอีกแบบในทันทีจึงเป็นไปได้ยาก เพราะมันกำลังค้ำยันสถาบันอีกด้านที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต ไม่ใช่แค่วันพรุ่งนี้รัฐบาลอยากเปลี่ยนนโยบายก็ทำได้เลย (ผู้เขียนเล่มนี้จึงไม่ค่อยเชื่อว่าทรัมป์จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริงอย่างที่โม้ไว้)
นี่จึงเป็นเหตุผลที่เมื่อมานั่งคุยกันใน G20 อเมริกาอยากได้นโยบายที่ไปบังคับเอากับสถาบันการเงินอย่างธนาคาร (ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนหลักในยุโรป) แต่ยุโรปเสนอให้มี Transaction Tax มาจำกัดการไหลเวียนของเงินทุน ซึ่งดันไปขัดกับแหล่งรายได้สำคัญของอเมริกาที่เกิดจากการไหลเวียนเหล่านี้ และเป็นแหล่งรายได้ที่ทำให้สถาบันทางเศรษฐกิจอื่นๆ ของอเมริกาดำรงอยู่ต่อไปได้ (เช่น เครดิตกระตุ้นการบริโภคต่างๆ)
อาจารย์โทมัสตั้งใจว่าจะเขียนเล่มนี้ให้เป็นหนังสือเรียนของนักศึกษาปริญญาโท ก็เลยเปิดโอกาสให้พวกเราที่เรียนวิชา Comperative Political Economy ได้แนะนำติชมจากฉบับปกแข็ง เป็นครั้งแรก! ก่อนจะนำไปแก้ไขเพื่อตีพิมพ์ฉบับปกอ่อนต่อไป
ตอนนี้เท่าที่เห็นคือ ยังมีพิมพ์ผิดเยอะหน่อย และพาร์ทที่อธิบายเรื่อง Trilemma ก็ทำเอาเด็กอักษรฯ อย่างเรางงงวย ตีลังกาอ่านอยู่พักใหญ่ๆ (ถ้าเป็นคนที่มีพื้นฐานเศรษฐศาสตร์ก็คงสบายบรื๋อ)

หนังสือ Why International Cooperation is Failing : How the Clash of Capitalisms Undermines the Regulation of Finance
ผู้เขียน Thomas Kalinowski, Professor at the Graduate School of International Studies, Ewha Womans University, Seoul
1 คิดบน “รีวิวหนังสือ Why International Cooperation is Failing”