เกาหลีใต้เป็นสังคมหลากวัฒนธรรมแล้วหรือยัง

วันก่อนคุยกับอาจารย์และเพื่อนในคลาส East Asian Thought and Culture ว่าด้วยเรื่อง Multiculturalism ในเกาหลีใต้ เนื่องจากเกาหลีขึ้นชื่อว่าเป็นสังคมที่คน ‘เชื่อกัน’ ว่าตัวเองเป็นประเทศที่ประกอบด้วยพลเมืองสายเลือดเดียวกัน และนิยามความเป็นพลเมืองก็ผูกติดกับความเป็นชาติและสายเลือดนี้ด้วย

เพราะฉะนั้นการที่อยู่ๆ จะบอกว่าเกาหลีใต้เข้าสู่ยุคสังคมหลากวัฒนธรรม หรือกลมกลืนกับความเป็นพลเมืองโลกแล้ว จึงดูเหลือเชื่อ

Nora Hui-Jung Kim1 ตั้งข้อสังเกตว่าคำว่า Multi-ethnic/ Multiculturalism เพิ่งจะปรากฏในสื่อภาษาเกาหลีเพิ่มมากขึ้นก็ช่วงหลังจากปี 2006 เป็นต้นมา แถม Kim ยังแบ่งทัศนคติในการใช้คำคำนี้ในสื่อออกมาได้เป็นสามแบบ

แบบแรกคือ ความคิดที่ว่า เกาหลีเป็นสายเลือดเดียวมาตลอด และการที่มีคนหลายเชื้อชาติเข้ามา (เช่น แรงงานหรือเจ้าสาวต่างชาติ) จะก่อให้เกิดปัญหาน่ากังวล

แบบที่สองคือ เกาหลีเป็นสายเลือดเดียวกันมาตลอด แต่กำลังเปลี่ยนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ควรทำคือเปิดใจรับสภาวะใหม่นี้ให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสังคมในภายหลัง

แบบที่สาม ยืนกรานหนักแน่น สวนกระแสเลยว่า เกาหลีไม่เคยมีสายเลือดเดียว เพราะในประวัติศาสตร์มีการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดพันธุกรรมระหว่างคนเชื้อชาติจีน ญี่ปุ่น มองโกล หรือแม้แต่ยุโรปมาโดยตลอด ก่อนที่จะเกิดรัฐ-ชาติบนคาบสมุทรเกาหลีด้วยซ้ำ

Photo by JAMIE DIAZ on Pexels.com

ส่วน Timothy C. Lim วิเคราะห์ไปถึงสาเหตุของการที่รัฐเกาหลีกำลังโอบรับและใช้วาทกรรม Multiculturalism นี้อย่างแข็งขัน เปิดตัวว่าจะเป็นหัวหอกเตรียมประเทศให้พร้อมกับความท้าทายใหม่นี้ สาเหตุสำคัญที่เรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็น ก็เพราะเกาหลีใต้มีอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำมา (1.15 ในปี 2009) น้อยกว่าอัตราการทดแทนประชากรด้วยซ้ำ ซึ่งสวนทางกับทิศทางของประเทศที่พัฒนาโดยพึ่งพิงการส่งออกมากและต้องการแรงงานประเภทค่าแรงถูก งานไม่ซับซ้อน และอาจจะเป็นงานประเภท 3D (Dirty, Difficult, Dangerous) แต่กลับขาดแคลนแรงงานเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ส่วนอีกด้านก็คือความไม่สมดุลกันระหว่างปริมาณผู้ชายที่พร้อมและอยากแต่งงานกับผู้หญิงเกาหลีที่อยากแต่งงานด้วย เลยต้องมีการหาภรรยาต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่อัตราการเกิดและการสมรสที่น้อยลง อาจไม่ได้เป็นสาเหตุหลักๆ ของการขาดแคลนแรงงานก็ได้ หนึ่งในเปเปอร์ที่วิชานี้ให้เราอ่าน คืองานของ Andrew Eungi Kim2 ที่ชี้ให้เห็นว่าคนเกาหลีเอง แม้ว่าจะว่างงานแต่ยังไงพวกเขาก็เลือกที่จะหลีกเลี่ยงงานประเภทนี้ ทำให้ช่องว่างตรงนี้ต้องถูกเติมเต็มด้วยคนต่างชาติในประเทศ ‘กำลังพัฒนา’ ไม่เกี่ยงว่าในอนาคตคนเกาหลีจะมีลูกได้มากกว่านี้หรือไม่

สิ่งที่ Lim เสนอนั้นน่าสนใจมากตรงที่ว่า ที่รัฐบาลรณรงค์ปาวๆ ว่าเกาหลีใต้จะเป็นประเทศพหุวัฒนธรรมนั้น จริงๆ มันคือการนำคำนี้มาห่อคลุมนโยบายกลืนกินวัฒนธรรม (assimilation) ของคนชนชาติอื่นที่เข้ามาอยู่ร่วมในสังคมเกาหลีต่างหาก สังเกตได้ว่านิยามของคำคำนี้ที่ควรจะกว้าง (พหุ + วัฒนธรรม) กลับกลายเป็นเจาะจงไปที่กลุ่มคนต่างชาติกลุ่มเล็กๆ อย่างสะใภ้เกาหลี มากกว่าที่จะมองให้ครอบคลุมไปถึงการมีอยู่ของแรงงานต่างชาติ

เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะว่าสะใภ้เกาหลีถูกคาดหวังให้อยู่กับครอบครัวเกาหลีไปตลอดชีวิต ในขณะที่แรงงานทักษะไม่สูงนั้นเข้ามาด้วยความตกลงระยะสั้น ประมาณ 3 ปี เพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งถิ่นฐานถาวร

แล้วนโยบายเหล่านี้ เมื่อมองในตัวเนื้อหาแล้วกลับเต็มไปด้วยการปรับเปลี่ยนตัวสะใภ้ต่างชาตินั้นให้กลายเป็นคนเกาหลี มากกว่าที่จะเสนอพื้นที่ให้ชุมชนต่างวัฒนธรรมเหล่านี้ได้มีโอกาสส่งเสียงและตัวตนของพวกเขาออกมา

Lim ไม่ได้บอกว่ามันแย่หรือไม่ควรทำ แต่ชี้ให้เห็นว่าการที่รัฐบาลเกาหลีนำคำว่า Multiculturalism มาใช้ นั้นอาจจะเป็นความหมายที่แคบเกินไป แต่ต้องทำเพราะเป็น “ราคาที่ต้องจ่ายในการมีตัวตนอยู่ในสังคมโลก” อย่างน้อยๆ ก็เพื่อบอกว่าสังคมประชาธิปไตยแห่งนี้เคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการสากล

เขายังได้แจกแจงความแตกต่างของคำว่า assimilation, integration และ multiculturalism ซึ่งเป็นระดับความเปิดกว้างต่อการมีอยู่ของวัฒนธรรมอื่นๆ ตั้งแต่ กลืนกลาย รวมเข้ามาแต่ยังแบ่งแยกพื้นที่ กับผสานเข้ามาอยู่ด้วยกันเป็นหนึ่ง ‘เส้นใย’ ของสังคม

Photo by BERK OZDEMIR on Pexels.com

ไม่เฉพาะในด้านนโยบายรัฐ สำหรับสื่อมวลชน Nora Kim เองก็ท้วงว่าแนวคิดแบบที่สองที่บอกว่า ยอมรับการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมพหุวัฒนธรรมของเกาหลี และเป็นแนวคิดยอดนิยมที่สุดในขณะนี้ ก็ยังถูกจำกัดกรอบว่าเป็นข้อแลกเปลี่ยนเพื่อผลประโยชน์ของรัฐ-ชาติ ประมาณว่า ยอมรับพวกคนต่างชาติเหล่านี้เข้ามาเถอะ เพราะพวกเขามีประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคม

สำหรับเธอ เกาหลีอาจเริ่มกลายเป็นสังคมหลากหลายชาติพันธุ์ (Multiethnic) แล้วก็จริง แต่การที่บอกว่าเป็นสังคมหลากหลายวัฒนธรรม Multiculturalism นั้น น่าจะยังไม่ใช่ และเช่นเดียวกับ Lim เธอคิดว่าการใช้คำในสื่อ ปะปนมาจากการใช้คำอย่างสับสนในภาษาเกาหลีที่มักเอาคำสองคำนี้มาใช้ร่วมกัน (“다문화 다인종 사회”)

ความท้าทายอีกอย่างที่ Lim มองว่าจะเป็นปัญหาน่ากระอักกระอ่วนในอนาคต คือการที่คนเกาหลีจะต้องกลับมาทบทวนจุดยืนของตัวเอง ผ่านคนกลุ่ม Amerasian หรือลูกผสมเกาหลีและชายอเมริกัน ที่ถูกเหมารวมกับเด็กๆ ที่เกิดจากทหาร จี.ไอ. ซึ่งมามีเมียเช่าหรือมีลูกกับหญิงขายบริการ กลุ่มคนเหล่านี้แม้จะเกิดมาจากหลากชาติพันธุ์ก็จริง แต่วัฒนธรรมเดียวที่พวกเขารู้จักคือวัฒนธรรมเกาหลี (หรืออย่างน้อยก็คลุกคลีกับวัฒนธรรมอเมริกันที่อยู่ในสังคมเกาหลีอีกทีอยู่ดี) ด้วยสายเลือดผสม ก็มักถูกมองว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองเกาหลี ยิ่งมีพ่อเป็นคนผิวดำก็ยิ่งถูกหยามเหยียดเข้าไปใหญ่ ทำให้พลาดโอกาสทางสังคมหลายๆ อย่าง

สังคมเกาหลีก็คงเหมือนกับอีกหลายๆ ที่ในโลก ที่เมื่อเราจะแสดงจุดยืนเพื่อสิทธิมนุษยชนในด้านไหน (เช่น #BlackLivesMatter) ท้ายที่สุดก็ต้องกลับมาทบทวนจุดยืนดั้งเดิมของตน แม้จะชวนกระอักกระอ่วน เพื่ออย่างน้อยที่สุดจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสะเทือนไปถึงรากทัศนคติ

**หมายเหตุ: เปเปอร์เหล่านี้เขียนขึ้นก่อนปี 2014 อาจมีบางประเด็นที่เปลี่ยนไปแล้วในปัจจุบัน ถ้าใครอยากแลกเปลี่ยน เชิญส่งข้อมูลมาได้เลยจ้า**

เครดิตภาพ cover : Photo by Oğuz Şerbetci on Unsplash

ที่มา:

1 John Lie, ed, (2014) Multiethnic Korea? : multiculturalism, migration, and peoplehood diversity in contemporary South Korea, Berkeley: University of California Press.

2 Andrew Eungi Kim (2009), “Global Migration and South Korea: Foreign Workers, Foreign Brides and the Making of a Multicultural Society,” Ethnic and Racial Studies Vol 32 Issue 1, pp. 70-92.

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.