รุกตะวันออกฯ : บุญคุณสยาม? หรือกระดานการเมืองสองรัฐใหญ่

เราอ่านเล่มนี้ระหว่างโดยสารรถไฟ KTX ไป-กลับ โซล-ปูซาน อ่านจบทั้งเล่มก็ใช้เวลาราวๆ 5-6 ชั่วโมงกว่า

เป็นหนังสือวิชาการอาเซียนที่อ่านเพลินพอสมควร ด้วยสำนวนการเขียนแบบสารคดีที่เรียบเรียงมาจากวิทยานิพนธ์ คือมีทั้งข้อมูลที่หนักแต่ลีลาการใช้ถ้อยคำที่เบาสลับกันไปให้ได้หายใจหายคอ แต่ก็ต้องยอมรับว่าชื่อบุคคลสำคัญหรือดินแดนต่างๆ ที่บางครั้งเรียกสลับกันไปตามหลักฐานแต่ละแห่งหรือแต่ละยุคก็ทำให้มึนและหลุดบ้างเหมือนกัน (อันนี้เป็นเรื่องสมาธิของเราเอง)

เราหยิบเล่มนี้ขึ้นมาเพราะจำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยต้องเขียนสารคดีเรื่องพิธีวูลานของชาวเวียดนามในย่านตลาดน้อย และอาจารย์ที่สอนภาษาเวียดนามได้เคยให้ข้อมูลว่าป้ายของ กทม. ที่ระบุประวัติของวัดแห่งนั้นเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ควรนำไปอ้างอิงในบทความ

ตั้งแต่วันนั้น เราก็สงสัยว่าชาวเวียดนามรับรู้เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเราไว้ยังไงบ้าง และหนังสือเล่มนี้ก็ตอบโจทย์ โดยเฉพาะเมื่อผู้เขียนไม่ได้มุ่งเอาเป็นเอาตายกับการบอกว่าหลักฐานของใครจริงกว่า แต่ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจความคิดจากอีกฟาก ในเมื่อประวัติศาสตร์ก็เป็นเพียงเรื่องเล่า

รุกตะวันออก : ความสัมพันธ์ “สยาม-เวียดนาม” ก่อนอานามสยามยุทธ ของสุเจน กรรพฤทธิ์ เล่าความสัมพันธ์กึ่งมิตร-ศัตรูระหว่างสยามกับอ๋องตระกูลเหงวียนที่มีอิทธิพลปกครองเวียดนามตอนใต้ในช่วงธนบุรี-ต้นรัตนโกสินทร์ ความพิเศษของเนื้อหาเล่มนี้คือการศึกษาข้อมูลผ่านหลักฐานเวียดนาม บางส่วนเทียบเคียงกับเนื้อหาฝั่งไทย เพื่อทำให้เห็นชัดว่า ในขณะที่หลักฐานประวัติศาสตร์ไทยมักเน้นหนักว่าอ๋องตระกูลเหงวียนอย่าง องเชียงชุน และ องเชียงสือ (ซึ่งภายหลังกลายเป็นจักรพรรดิซาลองแห่งเวียดนาม) ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จึงรอดชีวิตมาได้ แต่อาจละเลยไม่ได้ฉายภาพให้เห็นเหตุและผลทางการเมืองระหว่างรัฐที่ทำให้สยามต้องดึงตัวละครสำคัญเหล่านี้เข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของตัวเอง

แทนที่จะมองเป็นความเมตตาที่ไม่มีเงื่อนไขของ ‘กษัตริย์พุทธ’ เราไม่ควรละเลยข้อเท็จจริงว่าทุกๆ การกระทำของผู้นำรัฐมีเหตุผลทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะการเมืองที่ระส่ำระสายระหว่างสยาม-ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม ที่ต่างฝ่ายต่างสลับกันมีอิทธิพลเหนือดินแดนระหว่างกลาง หรือไม่ก็ตกอยู่ในสภาวะที่ไร้อำนาจนำในช่วงที่ต่างฝ่ายต่างอ่อนแอจากภายใน

เพื่อให้ผู้อ่านตามทัน หนังสือเล่มนี้เน้นย้ำว่าจุดศูนย์กลางการเล่าเรื่องอยู่ที่ฮาเตียน เมืองท่าของชาวกวางตุ้งบริเวณตอนใต้ของเวียดนามที่สยาม กัมพูชา และเวียดนาม สลับกันมีอิทธิพลเหนือหรือเข้าไปแทรกแซงกันคนละนิดละหน่อย แล้วแต่จังหวะหรือความอ่อนอิทธิพลโดยเปรียบเทียบของอีกฝั่ง

ทว่า หนังสือชี้ให้เห็นแง่มุมสำคัญว่า เจ้าเมืองฮาเตียนไม่ใช่แค่ตัวละครแบบ passive ที่รอการครอบงำจากทั้งสามรัฐ แต่กลับเป็นตัวละครสำคัญที่เข้าไปขัดขาพระเจ้าตากสินในทางการทูต โดยการส่งข้อความไปหาจักรพรรดิจีนตัดหน้าทูตสยาม ว่าไม่ควรรับรองกษัตริย์สยามองค์ใหม่นี้ เพราะเป็นเพียงลูกจีนธรรมดาๆ ที่เข้าไปทรยศราชบัลลังก์สยาม อีกทั้งฮาเตียนยังให้ที่หลบภัยแก่กษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงที่ล่มสลายไปตามอาณาจักรอยุธยาด้วย เพื่อหวังว่าวันหนึ่งหากกษัตริราชวงศ์นี้ได้กลับเข้าไปมีอำนาจในสยาม ตนจะได้ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองบ้าง (อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะปฏิเสธการรับรองพระเจ้าตากสินอย่างแข็งกร้าวตามคำแนะนำของเจ้าเมืองฮาเตียนในช่วงแรก แต่สุดท้ายก็ยอมโอนอ่อนด้วยเหตุผลทางทหารในเวลาต่อมา เมื่อต้องการทัพพระเจ้าตากให้สนับสนุนการต่อสู้กับอังวะ)

หรือข้อมูลจากฝั่งเวียดนามที่แสดงให้เห็นว่าสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรีสามารถกลับไปปราบดาภิเษกพระเจ้าตากได้ถูกจังหวะแล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์สยามได้ในที่สุด ก็เพราะข้อตกลงสงบศึกกับทางเวียดนามที่ตนเองกำลังติดพันอยู่ในขณะนั้น และสุดท้ายทั้งสองต่างรู้น้ำใจกันและมีการตอบแทนกันในเวลาต่อมา

ในทางกลับกัน เมื่อคราวที่องเชียงสือต้องหลบภัยจากการรุกรานจากศัตรูภายในรัฐของตน (อ๋องตระกูลจิ่งห์ทางตอนเหนือที่รุกมาทางตอนใต้) เข้ามาพึ่งพิงสยาม รัชกาลที่ 1 จึงต้อนรับอย่างดี หากพิจารณาหลักฐานทางเวียดนามประกอบ แทนที่จะมองว่าเป็นการเข้ามา ‘พึ่งบารมี’ อย่างไม่มีเงื่อนไข เราอาจมองว่าเป็นการกระทำแบบต่างตอบแทนในทางการเมืองมากกว่า แม้เอกสารของไทยบางแห่งจะระบุว่าองเชียงสือได้สัญญา (?) จะให้เวียดนามเป็นประเทศราชสยามสืบไป หากตนได้กลับไปครองบัลลังก์

แน่นอนว่าในเมื่อเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องการเมือง การเป็นพันธมิตรหรือศัตรูเลยไม่ได้เป็นแค่เรื่องน้ำใสใจจริง แต่เป็นยุทธศาสตร์ว่าควรเป็นมิตรหรือศัตรูกับใครในเวลาไหน เมื่อกำลังของตนเองยังไม่กล้าแข็งพอ

เราจึงได้เห็นว่าในเวลาต่อมา สยามและเวียดนามกลับระหองระแหงและทำศึกกัน แล้วเราจะมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการไม่รู้บุญคุณหรือไม่?

หนังสือสนุกดีเพราะมีข้อมูลที่ไม่เคยรู้เต็มไปหมด ในฐานะคนที่สนใจประเทศเวียดนามแบบผิวๆ อย่างเราซึ่งไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์เจาะลึกมาก่อน ได้เห็น ‘ข้อเท็จจริง’ จากฝั่งเวียดนาม ซึ่งเราจะมองว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ถ่ายทอดผ่านโลกทัศน์ของเขาก็ได้ และผู้เขียนซึ่งเป็นนักเขียนสารคดีได้นำงานวิชาการที่ตนเขียนขึ้นมาเป็นวิทยานิพนธ์นี้มาปรับปรุงให้อ่านง่ายขึ้นในระดับที่ผู้อ่านทั่วไปก็สามารถอ่านเป็นเรื่องสนุกได้

แต่ในเมื่อเป็นงานวิชาการ ผู้อ่านอาจพบความหนืดหน่วงช่วงต้นของหนังสือที่ผู้เขียนแจกแจงว่าหลักฐานเวียดนามแต่ละแหล่งที่นำมาศึกษานั้นคืออะไรบ้าง เขียนโดยใคร ด้วยจุดประสงค์อะไร ซึ่งถือเป็นเนื้อหาเกริ่นนำที่ยังไม่ได้เข้าไปในส่วนเนื้อเรื่องที่มีการเชื่อมร้อยลำดับเหตุการณ์ หรือแสดงเหตุและผลของการกระทำของตัวละครอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงวิชาการ เพราะทำให้เราระมัดระวังในการเลือกจะเชื่อข้อมูลชุดนั้นๆ ตระหนักถึงจุดประสงค์ของการบันทึกเอกสารดังกล่าว หรือสามารถไปค้นต่อได้ (หากมีความรู้ภาษาเวียดนาม)

แม้จะหนืดหน่วงในช่วงต้น แต่คิดว่าใครจะข้ามส่วนนี้ไปอ่านตัวเนื้อหาหลักก่อนก็ไม่น่าเสียหายอะไร

หนังสือ รุกตะวันออก : ความสัมพันธ์ “สยาม-เวียดนาม” ก่อนอานามสยามยุทธ
ผู้เขียน สุเจน กรรพฤทธิ์
สำนักพิมพ์ มติชน
เรียบเรียงจากวิทยานิพนธ์ชื่อ ความสัมพันธ์เวียดนาม-สยามในเอกสารยุคต้นราชวงศ์เหงวียน ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.