Paju Book City เป็นทั้งบ้านของนักอ่านและคนทำหนังสือ

หนึ่งในความฝันของเราเมื่อมาเรียนต่อที่เกาหลีคือ ต้องมีสักครั้งที่ได้ไปเยือน Paju Book City

แม้ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่าเป็นเมืองหนังสือ แต่ในภาษาเกาหลี ที่นี่คือเมืองสิ่งพิมพ์แห่งพาจู เมืองนี้ซึ่งเป็นซับเซตของเมืองพาจูอีกที ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นธีมพาร์กให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเล่นถ่ายรูปโดยเฉพาะ แต่เป็นเมืองที่ออกแบบมาเพื่อให้คนวงการสิ่งพิมพ์ทั้งหลายมารวมตัวกันทำงานอยู่ใกล้ๆ กัน ทั้งเพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพื่อความใกล้ชิดในการสร้างสรรค์วงการไปด้วยกัน

โมเดลจำลองผังเมือง Paju Book City

แต่ความพิเศษที่ทำให้เมืองอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์นี้น่ามาเดินเที่ยว ก็คือการที่ผู้ออกแบบโครงการใส่ใจภาพรวมของทัศนียภาพและการเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการทำสิ่งพิมพ์ ที่นี่เลยมีทั้งอาคารสำนักงานของสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่เฉียบด้วยงานสถาปัตยกรรมแบบคิดมาให้เข้ากัน แต่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่ได้ถอดแบบเหมือนกันแบบใช้แม่พิมพ์เดียว! และยังมีพิพิธภัณฑ์และสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงหนังสือ อย่างสถาบันการออกแบบตัวอักษร (Typography ซึ่งอาจรวมทั้งการจัดวางด้วย) โครงการโรงเรียนบรรณาธิการ แกลเลอรี่กระดาษ ศูนย์เรียนรู้กระบวนการทำหนังสือ ฯลฯ

จะสังเกตว่ากิจกรรมเหล่านี้ถ้าไม่เน้นไปที่คนทำหนังสือโดยเฉพาะ ก็จะเป็นการสอนเด็กๆ ชาวเกาหลีให้ได้เรียนรู้วิชาชีพด้านนี้ต่อไป กิจกรรมแทบทั้งหมดเลยใช้ภาษาเกาหลีในการสื่อสาร กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับระดับนานาชาติจะมีเพียงครั้งสองครั้งต่อปีเท่านั้น

การเดินทางจากโซลมาเมืองหนังสือนี้ ต้องนั่งสาย 2200 จากสถานีรถไฟใต้ดินฮับจอง ออกมาประมาณ 30-40 นาที (หรือนานกว่านั้นถ้ารถติด) เรามาถึงในหน้าร้อนวันธรรมดาที่ไม่มีเทศกาลใดๆ บรรยากาศเลยสงบอย่างที่เห็น

หากเพื่อนๆ คนทำหนังสือในไทยได้มาเห็นเมืองนี้ก็อาจจะร้องว้าวไปกับเรา เพราะมันคือบ้านสำนักพิมพ์ที่มีวิวป่าไม้และภูเขาอยู่ใกล้ๆ บรรยากาศเงียบสงบทั้งที่อยู่จากเมืองหลวงแค่ไม่กี่กิโลเมตร

Hesse Coffee

นึกถึงคนทำหนังสือ ก็ต้องนึกถึงร้านกาแฟ ที่นี่มี Book Cafe และ Cafe อื่นๆ เยอะมากกกกก แต่เราไม่ได้อยากดื่มอะไรเยอะขนาดนั้น เลยเลือกมาที่ร้านนี้ร้านเดียว คือ Hesse Coffee แค่ชื่อก็เนิร์ดหนังสือสุดๆ แล้ว เพราะเป็นชื่อของ แฮร์มัน คาร์ล เฮ็สเซอ (หรือเฮสเส ที่เราคุ้นเคย) บันไดทางขึ้นชั้นสองจะเป็นสวนดอกไม้แบบนี้ ซึ่งดอกไม้บานสดใสพอดีในหน้าร้อนที่เรามาเยือน

เครื่องดื่มแนะนำในร้านคือ Milk Tea ซึ่งเราสั่งเอิร์ลเกรย์กับยอร์กเชอร์มิลค์ที รสชาติกำลังดี หอม และไม่หวานเกินไป สำหรับรูปอื่นๆ ของร้านนี้ เราจะลงในเพจ Sa Su Seoul เพราะบล็อกตอนนี้มีรูปเยอะมากอยู่แล้ว สำหรับคนที่อยากลองร้านอื่นๆ ไม่ต้องกลัวเคว้ง เพราะในแผ่นพับแผนที่ Book City นั้นรวบรวมข้อมูลร้านเหล่านี้ไว้แล้ว ทั้งหน้าตาและพิกัดร้าน

Forest of Wisdom

แล้วเราก็มาถึงแลนด์มาร์กของที่นี่ นั่นก็คือห้องสมุดยักษ์แห่ง Paju Book City ที่ชื่อ Forest of Wisdom ซึ่งเป็นฉากถ่ายซีรีส์ดังหลายๆ เรื่อง เช่น It’s Okay to Not Be Okay (2020), The King: Eternal Monarch (2020), The World of The Married (2020), Search: WWW (2019), Romance is a Bonus Book (2019) และ What’s Wrong with Secretary Kim (2018) หลายเรื่องจริงๆ !!! สามารถเข้าไปดูตัวอย่างฉากในซีรีส์ได้ที่นี่

ด้านหน้าของอาคารยังมีมุมถ่ายรูปหลายๆ มุม ทั้งผนังแขวนตัวอักษรภาษาต่างๆ ที่เล่นกับแสงเงา ตุ๊กตาตัวละครจากนิทาน ตำนาน หรือนิยายเรื่องดัง รวมทั้งแท่นพิมพ์โบราณที่นำมาทำเป็นงานศิลปะ เหมือนกลืนและคายโลหะตัวอักษรฮันกึลออกมาเป็นสายน้ำตกจากแท่น

เครื่องพิมพ์โบราณ

ระหว่างที่เราเดินเล่นถ่ายรูปกันไป ก็จะเห็นบรรดาคนทำงานสำนักพิมพ์ออกมาเดินพักผ่อนหรือออกไปกินข้าวกันตอนพักเที่ยง ทำให้บรรยากาศวันธรรมดานี้ไม่เหงาเกินไป แต่ก็ไม่พลุกพล่าน ไม่ต้องแย่งมุมกันถ่ายรูป

Forest of Wisdom ห้องสมุดยักษ์ใน Paju Book City

ในมุมของคนทำสำนักพิมพ์ เรารู้สึกว้าวกับที่นี่มากตรงที่การจัดหมวดหมู่หนังสือมีทั้งจัดตามผลงานของนักวิชาการชื่อดัง จัดตามผลงานจากสถาบันต่างๆ และตามชื่อสำนักพิมพ์ ซึ่งรวบรวมไว้ในชั้นวางเดียวกัน แฟนคลับสำนักพิมพ์สามารถไปตามดูได้ทั้งหมดเลย

คงคล้ายๆ กับหอสมุดแห่งชาติ แต่มีความผ่อนคลายคล้ายบุ๊คคาเฟ่ใหญ่ๆ ที่มีที่นั่งมากมายให้คนที่มาใช้งานห้องสมุด เคล้ากลิ่นกาแฟจากคาเฟ่ที่อยู่ข้างในด้วย

ถามถ้าสังเกตให้ดี สีของชั้นวางยังทำเป็นรูปตัวอักษรฮันกึลอีกด้วย

Letterpress Museum

ชั้นใต้ดินของอาคารเดียวกันคือ Book City Letterpress Museum ซึ่งรวบรวมตัวเรียงพิมพ์ของอักษรเกาหลีจำนวนมากเอาไว้ รวมทั้งเครื่องพิมพ์และพิมพ์ดีดเก่าๆ ให้เข้าไปชมของจริงแบบใกล้ชิด

น่าเสียดายว่าช่วงนี้มีเรื่องการระบาดของ COVID-19 ที่นี่เลยจะปิดไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม เราเลยถ่ายจากด้านนอกมาให้ดู

PaTI : Typography Institute

อีกองค์ประกอบหนึ่งของการทำหนังสือที่สำคัญมากแต่ผู้อ่านอาจไม่ค่อยได้สังเกตคือการออกแบบและจัดวางตัวอักษร ที่นี่มีสถาบัน Typography ชื่อ PaTI ย่อมาจาก Paju Typography Institute และบริษัทดีไซน์ตั้งอยู่ด้วย อาคารเท่มากๆ เพราะเป็นปูนที่มีต้นไม้ขึ้นเต็มผนัง แต่ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรที่เราจะเข้าไปชมได้

ใกล้กับอาคารหลักของ Book City คือบ้านเก่าสไตล์เกาหลีที่ตั้งอยู่ที่นี่มานานและได้รับการรักษาเอาไว้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางจิตใจของเมืองหนังสือ วัฒนธรรมที่ร้อยเรียงผ่านตัวอักษรและกระดาษ ใกล้ๆ กันมีคาเฟ่ที่นั่งดื่มเครื่องดื่มในบรรยากาศร่มรื่นใกล้ชิดตัวบ้านได้

Book Makers

ในเมื่อที่นี่เป็นเหมือนเขตอุตสาหกรรมพิเศษของบริษัทในวงการสิ่งพิมพ์ เราจึงเห็นอาคารที่เป็นสำนักงานของสำนักพิมพ์มากมาย เรียงกันอยู่ในถนนสายเล็กๆ กระจายอยู่ทั่ว Book City ซึ่งบอกเลยว่ายากที่จะเดินดูหมดในวันเดียว มีทั้งสำนักพิมพ์ บริษัทกระดาษ โรงพิมพ์ และบริษัทสายส่งกระจายสินค้า คงนึกภาพอออกว่า ถ้าสำนักพิมพ์ต้องไปเลือกกระดาษมาทำปกหรือเนื้อใน ดีไซเนอร์ไปเช็กสีหน้าแท่นพิมพ์ หรือโรงพิมพ์ส่งหนังสือให้สายส่งไปกระจายของ เดินทางไปหากันแป๊บเดียวก็ถึงแล้ว

สำหรับผู้เยี่ยมชม สำนักพิมพ์บางแห่งอาจมีร้านขายหนังสือหรือคาเฟ่อยู่ในตัว ทำให้คนภายนอกสามารถเดินเข้าไปซึมซัมบรรยากาศได้ แต่หลายๆ แห่งก็เป็นเพียงสำนักงานที่เราได้แต่เพียงยืนชื่นชมอยู่ด้านนอก

สำนักพิมพ์ดังๆ อย่าง Dong-A, Darakwon, Jimoondang, Changbi ก็อยู่ที่นี่ ดูไปก็จินตนาการไปว่าถ้าไจไจบุ๊คส์ได้มีสำนักงานอยู่ที่นี่บ้าง อาคารจะหน้าตาเป็นยังไงนะ แล้วตอนพักเที่ยงจะกินข้าวร้านไหนดี

Bookshops

ที่นี่ยังมีร้านหนังสือใหม่ หนังสือมือสอง หรือร้านรับซื้อหนังสือเก่าแซมอยู่ตามอาคารต่างๆ ด้วย แต่ไม่ได้หาเจอได้ง่ายนัก แนะนำว่าถ้าใครอยากซื้อหนังสือออกใหม่หลากหลายสำนักพิมพ์ สามารถหาได้ที่ร้านหนังสือใน Forest of Wisdom

In The Paper Gallery

เดินฝ่าแดดหน้าร้อนกันมาจนตัวเปียก เราก็มาถึงแกลเลอรี่กระดาษของบริษัททูซอง (Doosung Paper หรือ 두성종이) แต่มาถึงหน้าประตูแล้วแปลกใจ เพราะเป็นเหมือนประตูบ้านที่มีเครื่องล็อกอัตโนมัติ ที่เราสามารถผลักเข้าไปได้เลย ผลักไปแล้วก็…เจอแต่ความมืด ไร้คน เหมือนเป็นโกดังร้างๆ

พี่เก้าเลยโทรหาเบอร์ที่อยู่ในแผ่นพับ คนในสายบอกว่าสงสัยคนดูแลออกไปข้างนอกพอดี สักพัก คนดูแลแกลเลอรีก็กลับมา เปิดไฟให้ แล้วเราก็เดินเข้าไปดู

ก็เลยได้บทเรียนว่า อ๋อ ที่นี่เขาคงไม่ค่อยเปิดให้คนมาเที่ยวเท่าไร คนที่มาดูก็คงเป็นสำนักพิมพ์หรือดีไซเนอร์ที่นัดบริษัทมาลองดูและสัมผัสเนื้อผิวกระดาษแบบต่างๆ แทนที่จะต้องพกแคตตาล็อกไว้ที่สำนักพิมพ์เยอะๆ

In The Paper

สุดท้าย ลาโพสต์ตอนนี้ไปด้วยข้อความที่ฉายบนฝาผนังอาคารหลักใน Book City เขียนไว้ว่า

“หนังสือไม่ได้เป็นเพียงการเก็บรักษาความทรงจำเอาไว้ แต่คือการสร้างสรรค์อนาคตด้วย”

ที่ตั้งของ Paju Book City

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.