ความรัก ‘อัปลักษณ์’ ในลานจอดรถ : รีวิว Pavane for a Dead Princess

เรายืม Pavane for a Dead Princess ของ Park Min-gyu มาจากห้องสมุดมหาวิทยาลัย หน้าปกหน้าตาเรียบๆ เหมือนหน้าปกหนังสือเรียนคณิตศาสตร์ เห็นแวบแรกก็อดตำหนิภาพลักษณ์ไม่ได้ หนังสือเล่มนี้มาพร้อมกับเซตหนังสือวรรณกรรมเกาหลีของ Library of Korean Literature อีกสิบกว่าเล่ม ที่ทั้งหมดดีไซน์ด้วยเรขาคณิตแบบเดียวกัน ต่างแค่สีและหมายเลขกำกับ

ใน Pavane for a Dead Princess เล่าเรื่องโลกของหนุ่มสาววัยย่างเข้า 20 ทั้งสามคน ต่างคนต่างมีปมปัญหาในอดีตซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นสามเส้าอันแสนขมุกมัว

แม้ไม่ได้หม่นหมองแบบสีเทา แต่เป็นโลกที่คำพูดปลุกใจของบรรดาไลฟ์โค้ชไม่มีความหมายใด เสมือนการผายลมอ่อนๆ ในวันพายุแรง

ไม่ต้องมาสอนว่าจะทำให้ชีวิตดีกว่าเดิมได้ยังไง ในเมื่อตัวชีวิตเองไม่ได้มีความหมายน่าหวงแหนแต่แรกสำหรับพวกเขา

ความอัปลักษณ์ ความรัก ความร่ำรวย ความสำเร็จ

พวกเขามองทะลุถ้อยคำไปพินิจความหมายเบื้องหลังนิยามเหล่านั้น พยายามรู้เท่าทันว่าคุณค่าเหล่านี้ให้ประโยชน์กับใครกันแน่ในท้ายที่สุด

เรานึกถึงที่เพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อเพื่อนเก่าคนหนึ่งเสนอตัวโทรเข้ามาแนะนำเส้นทางที่จะทำให้ชีวิตสบาย (ห่อหุ้มความต้องการขายอะไรบางอย่างไว้เสมอ) เธอเพียงพูดตัดรำคาญไปว่า “ไม่เป็นไร พอดีชอบใช้ชีวิตลำบากๆ แบบนี้” 

แน่นอน ไม่มีใครอยากลำบาก แต่การไว้ใจว่าใครคนหนึ่งจะเข้ามาทำให้ชีวิตเราดีขึ้นเฉยๆ โดยไม่หวังผลตอบแทน คงเป็นเรื่องเพ้อเจ้อเกินไปในโลกที่ไว้ใจอะไรก็ไม่ได้ โดยเฉพาะเพื่อนที่ไม่ได้ติดต่อกันนานแล้ว จู่ๆ ทักมาถามไถ่สุขภาพของพ่อแม่ด้วยความเป็นห่วงไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

ฉากหลักของเรื่องคือห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในโซลในช่วงทศวรรษ 1980 ยุคสมัยที่เกาหลีใต้กำลังกลืนกลายและดิ้นรนกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ก่อนจะป่าวประกาศความสำเร็จด้วยการเป็นเจ้าภาพโอลิปิกในปี 1988

ตู้โทรศัพท์ โทรศัพท์บ้าน การรอคอยจดหมายในกล่องไปรษณีย์ คือการสื่อสารหลักที่ทำให้พวกเขาได้มีโอกาสใช้ห้วงเวลาว่างเปล่าของการรอคอยเป็นเหตุผลในการหายใจต่อไป

ในนวนิยายนี้ ตัวละครสามคนเดินเหม่อลอยในชีวิตและความสัมพันธ์ ทำงานในห้างสรรพสินค้าที่จำลองภาพกลไกการกระตุ้นให้บริโภค ยิ้มเยาะไปกับการสยบยอมกับเจ้าขุนมูลนายสมัยใหม่ที่มากับฟ่อนเงิน พยักหน้าแบบขอไปทีเมื่อใครบางคนพูดถึงการสร้างหนี้แบบที่ถูกประดิษฐ์ถ้อยคำว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต

เสียงนกหวีดในลานจอดรถคอยจัดระเบียบความต้องการจับจ่ายของผู้คนที่วนมาตามซีซั่น ดังจนแสบแก้วหู

พนักงานโบกรถสองคน และพนักงานสาวคนหนึ่งของห้างฯ มองวัฏจักรเหล่านี้ด้วยความเฉยชา หลายๆ ครั้งพวกเขาสาธยายถึงมันออกมาราวกับพระพุทธเจ้ากำลังเทศนาเรื่องสังสารวัฏ

ในกลุ่มนี้ประกอบด้วย ชายคนหนึ่งมีพ่อที่ทอดทิ้งแม่ผู้หน้าตาไม่ดีเอาไว้ เขาตั้งคำถามกับความงาม ยืนนิ่งมองดูชีวิตผู้หญิงวัยกลางคนคนหนึ่งที่กำลังรวดร้าวเสียศูนย์ ในขณะที่ผู้ชายออกไปไขว่คว้าสิ่งที่ “ดีกว่า” เมื่อตนเองประสบความสำเร็จมากพอในวงการบันเทิง

ความเห็นในอดีตของคนรอบข้างสำทับความชอบธรรมนี้เข้าไปอีก เมื่อพวกเขาพูดซุบซิบมาตลอดว่าทั้งสองช่างเป็นคู่ที่ไม่เข้ากัน เพราะคนหนึ่งหน้าตาดีเกินไป

หญิงสาวคนหนึ่งที่อยู่กับความอัปลักษณ์มาทั้งชีวิต ไม่ใช่เพียงเพราะใบหน้าเธอ ‘อัปลักษณ์’ แต่ตำแหน่งของตัวละครส่วนเกินที่สังคมยัดเยียดให้เธอตั้งแต่แรก ว่าคนอัปลักษณ์ก็เป็นได้แค่นั้นในสังคมเกาหลี ต่อให้พยายามเป็นคนที่ “ดีกว่าเดิม”​ สักแค่ไหน

ชายอีกคนจงใจเลือกชีวิตเป็นคนโบกรถในอาคารจอดรถห้างสรรพสินค้าชั้นใต้ดินลึกที่สุด ที่เดียวที่เขาจะพบความสงบในความคิดอันว้าวุ่นของตัวเอง หลังจากแม่ผู้งดงามของเขาเสีย ‘ประกายเปล่งปลั่ง’ เมื่อเศรษฐีเจ้าของห้างฯ เริ่มคบหากับเมียน้อยคนใหม่ เธอปลิดชีวิตตัวเองจากไป ทิ้งข้อความไว้เพียงจำนวนเงินและชื่อของคนที่เธอติดหนี้อยู่ในกระดาษใบเล็กๆ ราวกับกระดาษทด ไร้ข้อความถึงตัวเขาผู้เป็นลูก

ในชีวิตที่ทั้งสามคนคงถามคำถามเป็นล้านๆ อย่างว้าเหว่ในหัวตัวเอง สุดท้ายอาจกลั่นเป็นคำถามเดียวกันกับเรา และศาสดาอีกมากมาย

คือเราเกิดกันมาทำไมนะ

แต่ความว้าเหว่ที่มีบทเพลงคลอและหนังสือเล่มโปรดยับยู่อยู่ข้างตัว คงไม่ว่างเปล่าจนเกินไป

ตอนแต่ละตอนใน Pavane for a Dead Princess ตั้งชื่อล้อกับชื่อบทเพลงของศิลปินดังๆ เช่น เดอะบีทเทิลส์, บ็อบ ดีแลน, ไมเคิล แจ็กสัน ฯลฯ ผสานเนื้อเรื่องวัยค้นหาความหมายชีวิตไปกับความหมายของบทเพลง

บางทีคำถามในบทเพลงหรือนวนิยายที่พวกเขาอ่านนั่นเองที่เติมความว่างโหวงในหัวใจที่ว่างอยู่ก่อนแล้ว

น่าสนใจว่าพวกเขาไม่ได้ถามคำถามประเภทว่า ความฝันของฉันคืออะไรกันนะ โตขึ้นอยากเป็นอะไร แต่พวกเขาเดินไปอยู่ริมขอบมุมของสังคมโลก แล้วหันกลับมามองว่าชีวิตที่เหลือกำลังเล่นเกมไร้สาระอะไรกันอยู่

พวกเราเป็นทาสสมัยใหม่ที่นอกจากทำงานแล้วยังต้องแข่งกันบริโภคด้วย

สำหรับ Park Min-gyu สังคมเกาหลีในทศวรรษ 1990 มาพร้อมกับความอึดอัดของหญิงสาวที่ไม่สามารถไปให้ถึงมาตรฐานความงาม กระนั้นการเป็นคนสวยก็ยังไม่ใช่จุดสูงสุด การเป็นเมียผู้ชายที่ประสบความสำเร็จต่างหากเล่าที่พวกเธอมองว่าเติมเต็มชีวิต

มันเป็นนิยายจิกกัดสังคมที่มีน้ำเสียงแสนเศร้า แม้พยายามจะหยอกล้อความจริง แต่ทำได้เพียงยิ้มแห้งๆ ระหว่างเล่าเรื่องเสียดสีโลก มองหาแง่มุมน่าขันของมันเพื่อผ่านวันแย่ๆ ไป พยักหน้ายอมรับว่าชีวิตก็เป็นเช่นนั้นเอง คนที่อยู่ในระดับกลางๆ พอเอาตัวรอดได้ก็อาจเริ่มปลีกตัวออกมาจากการชังโลก เหยียบซ้ำและหันหน้าไปขำเยาะคนที่ต่อให้สู้แทบตายก็โงหัวขึ้นมาจากปัญหาไม่ได้ หรือคนที่อาจอยู่ในสถานะเลือกได้แต่ไม่ยอมเล่นไปตามเกมที่สังคมตั้งกระดานขึ้นมา

คนที่เกิดมาก็ผิดแล้ว เพราะหน้าตาไม่ดี

คนที่ต้องเห็นภาพความไม่สมดุลของความรัก ระหว่างฝ่ายที่ทุ่มเทมากกว่าและฝ่ายที่รับประโยชน์นั้นไปแบบได้เปล่า

คนที่แม่ตัวเองจากไปไร้คำบอกลา เสมือนว่าเขาไม่มีความหมายใดบนโลกนี้

พวกเขาได้แต่เพียงใช้เสียงเพลงและหนังสือซึ่งเป็นเรื่องเล่าจากที่แสนไกล มากลบฝังความรู้สึกไร้ค่า กลบเกลื่อนความด้านชาระหว่างการเต้นรำแกนๆ ไปตามจังหวะชีวิต

แต่นี่เองคือเสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้

“มนุษย์นี่แปลกนัก” ในเรื่องนี้ ใครบางคนรักใครอีกคนเพราะหน้าตาอีกฝ่ายอัปลักษณ์จนหยุดมองไม่ได้ ส่วนใครอีกคนที่ดูแคลนความรักมาตลอด กลับต้องมาลงเอยเสียน้ำตาให้ความรักของคนอื่น

มันอาจมีพล็อตที่เหมาะนำไปทำซีรีส์ในเน็ตฟลิกซ์ แต่หากทำเช่นนั้น ถ้อยคำและห้วงความคิดของตัวละครคงถูกตัดทอนจนใจความสูญหาย พวกเขาคงโดนประเมินคุณค่าคำพูด การกระทำเท่านั้นที่เด่นชัดในจอภาพ

สิ่งนี้จำเป็นต่อเรื่อง สิ่งนี้คมคาย สิ่งนี้เพ้อเจ้อ สิ่งนี้ชวนจิ้นหวานแหวว หรือฉากนี้ทำให้คนดูหดหู่เกินไป ฯลฯ

แต่สำหรับเรา ทุกย่อหน้าในหนังสือเล่มนี้มีความหมายให้เข้าใจความว้าวุ่นที่ค่อยๆ ตกตะกอนของตัวละคร

อาจแตกต่างจากซีรีส์เกาหลีทั่วไป ตรงที่ไม่มีฉากนางเอกอัปลักษณ์ลดความอ้วนสำเร็จ ไปศัลยกรรม หรือต้องไปงานเลี้ยงหรูเลยถอดแว่นแล้วใส่ชุดเดรสที่ทำให้พระเอกตาค้าง มีเพลงขึ้นพร้อมสายลมลู่เส้นผม เกิดเป็นความรัก

มีเพียงนางเอกที่จิตใจเปลี่ยนแปลงทีละน้อย จากคนที่ต้องทนก้มหน้าเพื่อช่วยลดมลพิษทางสายตาต่อมนุษย์คนอื่นมากที่สุด กลายเป็นคนแบบที่เราไม่แน่ใจว่าพระเอกจะยังรักอยู่ได้ไหม

เมื่อใครคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงเนื้อหาด้านในไปขนาดนั้น

*รูปประกอบบทความ : อิสริยา พาที

TitlePavane for a Dead Princess: A Novel
Volume 11 of Library of Korean literature
AuthorMin-gyu Pak
Translated byAmber Hyun Jung Kim
PublisherDalkey Archive Press, 2014
ISBN9781628970661

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.