คุยซ้ำเพื่อย้ำบทบาทในโลก เกาหลีกับอนาคตหลังวิกฤตโควิด

กระทรวงต่างประเทศเกาหลีร่วมกับช่อง tvN จัดเวทีพูดคุยเพื่ออนาคต หลังผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตโควิด (ที่บอกว่าผ่านจุดต่ำสุด ก็เพราะเศรษฐกิจเกาหลีเริ่มฟื้น และน่าจะกระทบน้อยสุดใน OECD) ธีมของวันนี้คือ Corona Divide, finding cultural cooperation measures to overcome hatred and division intensified by COVID-19

ในช่วงแรก เป็นการสัมภาษณ์จาเร็ด ไดมอน ผู้เขียน Guns, Germs, and Steel สัมภาษณ์โดยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเกาหลี คังกย็องฮวา ว่าด้วยเรื่องการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติเมื่อเกิดโรคระบาด

เราดูเฉพาะช่วงแรกนี้เพราะมีธุระต้องไปข้างนอก แต่คิดว่าน่าสนใจ ทั้งในแง่มุมของนโยบาย Public Diplomacy ที่ตอนนี้เกาหลีกำลังโหมกระพืออย่างหนัก และเราคาดว่าเป็นเบื้องหลังของการจัดเวทีนี้ขึ้นมา

ที่บอกว่าเป็นเบื้องหลังก็เพราะนี่คือการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสอันชาญฉลาดของเกาหลีใต้ จากเดิมที่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นรวดเร็วมากที่แทกู แต่เมื่อหน่วยงานรัฐทำงานอย่างขันแข็งบวกกับภาคประชาชนที่ร่วมมือปฏิบัติตามรัฐ แม้จะมีส่วนน้อยที่ฝ่าฝืนและยังทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มยังขึ้นๆ ลงๆ แต่โดยรวมก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งมิราเคิลที่ทั่วโลกต้องปรบมือให้ ทั้งในแง่การคุมโรคระบาด ระบบการดูแลผู้กักตัว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

แต่แค่ให้ความสำเร็จพูดมันไม่พอ หลังจากที่รัฐบาลทำสำเร็จ หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงต่างประเทศซึ่งช่วงนี้ขับเคลื่อนเรื่องการทูตสาธารณะกันอย่างคึกคัก ก็หยิบเอาประเด็นเรื่องการจัดการโควิดมาเป็นจุดขายประจำปี 2020

จากจุดเริ่มต้นของการมี Korea Foundation เมื่อต้นทศวรรษ 1990s และการเริ่มนำคำว่าการทูตสาธารณะมาเป็นนโยบายของกระทรวงต่างประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2010 ปีนี้ถือว่าเป็นปีรุ่งโรจน์ที่น้ำขึ้นให้รีบตัก มีทั้งโครงการประกวดบทความต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการโควิดของเกาหลี การแต่งตั้งชาวต่างชาติที่อาศัยในเกาหลีช่วยถ่ายทอดเรื่องราวการใช้ชีวิตในช่วงวิกฤตเพื่อให้เสียงนี้สะท้อนออกไปยังโลก ฯลฯ

และงานนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงเอคโค่ที่ย้ำเราอีกครั้งว่าเกาหลีพร้อมที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดและเป็นผู้นำหรือตัวแสดงหลักในการจัดการวิกฤตระดับโลก ตามเป้าหมายที่เกาหลีใต้ ประเทศเล็กจิ๋วที่ไม่อาจเอื้อมตำแหน่ง super power แต่ขอแสดงนำในบทบาท middle power ที่แม้จะพ่วงมากับคำว่า “กลาง” แต่เป็นบทบาทที่ขาดไม่ได้ในโลกที่ขั้วอำนาจมีหลากหลายจนไม่อาจประสานไปในทิศทางเดียวกันเมื่อต้องรับมือกับเรื่องใหญ่ๆ ระดับโลก บทบาทกลางๆ ก็อาจพ่วงมากับ “มหา” อำนาจบางอย่างที่ไม่ได้สะท้อนแค่ในทางวัตถุอย่างความร่ำรวยหรือกองกำลังทางทหาร

“ผมหวังว่าโควิดจะกระตุ้นเตือนให้คนทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของการมีผู้นำโลกท่ามกลางวิกฤต” ไดมอนสรุปความตอนหนึ่งในการให้สัมภาษณ์

แม้จะเป็นแขกผู้ให้สัมภาษณ์ ในตอนท้ายรายการ เขากลับถามกลับรัฐมนตรีคังกย็องฮวาว่า จากประสบการณ์ของคุณ เกาหลีจัดการเรื่องนี้สำเร็จได้อย่างไร

คังกย็องฮวา ตอบโดยเน้นเรื่องความเชื่อมั่น (trust) ในตัวผู้นำ ความโปร่งใส และประชาธิปไตย

“ถ้าประชาชนเชื่อมั่นในตัวผู้นำ เมื่อผู้นำบอกว่าให้ใส่มาส์ก พวกเขาก็จะปฏิบัติตาม”

สิ่งที่เราสังเกตเห็นและชอบก็คือลักษณะการสนทนาในเวทีที่ชื่อหัวข้อดูเป็นงานวิชาการ แต่บรรยากาศผสมคละเคล้ากับความเป็นรายการวาไรตี้ มีแขกรับเชิญหลากหลาย และมีการสนทนาไป-กลับจริงๆ แขกสามารถถามเรื่องแผลที่มือของรัฐมนตรีได้ว่าไปโดนอะไรมา ทำให้เห็นแง่มุมชีวิตส่วนตัวของรัฐมนตรีที่ยังต้องจัดบ้านจนได้แผล หรือตอนที่รัฐมนตรีพูดถึง BTS ที่แม้จะปล่อยเพลงใหม่ในช่วงโควิดแต่ก็ได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลามจนขึ้นอันดับหนึ่งชาร์ตบิลล์บอร์ด และแขกรับเชิญที่เป็นชาวต่างชาติก็พูดแลกเปลี่ยนกับรัฐมนตรีได้เลยโดยไม่ต้องรอให้อนุญาต

“ฉันคงพูดไม่ได้ว่าฉันเป็น Army แต่ฉันชื่นชอบและติดตามพวกเขา”

คังกย็องฮวาแสดงให้เห็นทักษะการเชื่อมโยงบทสนทนากับคนรุ่นใหม่ ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศยุคใหม่ การสนทนากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศอื่นๆ นั้นไม่พอ และยิ่งเมื่อพ่วงกับนโยบายการทูตสาธารณะ คำว่าสาธารณะในที่นี่ก็รวมทั้งภาคประชาชนในและนอกบ้านของตัวเอง หากไม่สามารถรู้ว่าคนเหล่านั้นกำลังพูดหรือสนใจอยากฟังเรื่องอะไร ด้วยท่าทีแบบไหน ก็คงเข้าไป “เอาชนะจิตและใจ” ตามเป้าประสงค์ของการทูตสาธารณะไม่ได้ ที่ต้องนับถือเลยก็คือรัฐมนตรีเป็นคนเดียวที่ยืนพูดตลอดเซสชั่น เห็นแล้วเหนื่อยและเมื่อยแทน

น่าสังเกตว่าแคมเปญ Public Diplomacy ของเกาหลี ไม่ใช่แค่การสื่อสารกับคนต่างชาติ แต่สื่อสารกับคนในประเทศตัวเอง หลายๆ โปรแกรมสื่อสารด้วยภาษาเกาหลี เวทีนี้ก็เช่นกัน คงเพราะว่าก่อนจะให้คนในประเทศอื่นรู้สึกดีกับประเทศเกาหลี ที่ขาดไม่ได้คือการให้ข้อมูลคนเกาหลีอยู่เสมอๆ ว่าประเทศตัวเองดีอย่างไร เจ๋งอย่างไร กลายเป็นตัวแทนไปถ่ายทอดความภูมิใจได้ (แต่ต้องระวังไม่ให้กลายเป็นเมสเสจเหยียดชาติอื่น)

การต่างประเทศเข้าสู่ยุคใหม่มาสักพักแล้วว่าการทูตไม่ใช่แค่เรื่องของคนใส่สูท ร่วมโต๊ะอาหารหรู แล้วคุยกันเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ต้องรวมเอาเรื่องทัศนคติและความรู้สึกประชาชนกับประชาชนในสองประเทศมารวมในสมการด้วย

ในรายการ เราจะสังเกตเห็นการเลือกผู้ร่วมรายการรับเชิญมานั่งสนทนา ทั้งชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเกาหลีและตัวแทนดารา LGBTQ เพื่อมาร่วมส่งเสียงว่า ท่ามกลางวิกฤติโควิด พวกเขากลับไม่พบการเลือกปฏิบัติที่รุนแรง ทั้งที่เกาหลีขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็น homogenous society แน่นอนว่าเราต้องพิจารณาดูข้อมูลอื่นๆ ประกอบอีกที แต่การเลือกคนเหล่านี้ที่ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองมาร่วมรายการ ก็เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือหรือ ความ “บริสุทธิ์” ของความคิดเห็นภาคประชาชน และสร้าง norm ใหม่ๆ ให้กับประชาชนในประเทศตัวเอง (เช่น นอร์มว่าการเหยียดเพศเหยียดชาติเป็นสิ่งที่ล้าหลังและไม่ควรทำ)

คังกย็องฮวามีทั้งประสบการณ์การศึกษาด้านรัฐศาสตร์ นานาชาติศึกษา และการสื่อสาร และประสบการณ์การทำงานด้านสื่อสารมวลชน (เป็นโปรดิวเซอร์รายการวิทยุ) และโฆษก เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวละครที่เหมาะเจาะกับยุคสมัยแห่งการทูตสาธารณะ และเราอาจจะเห็นเทรนด์แบบนี้เรื่อยๆ ในอนาคต คนที่ฟังมวลชนและอ่านเกมออกว่าควรสื่อสารกลับไปอย่างไรให้คนฟัง และบอกต่อความดีงามน่าชมของเกาหลีต่อๆ ไป

“ฉันเชื่อว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีพลัง และหน้าที่ของรัฐบาลคือการสนับสนุนพวกคุณให้สร้างสรรค์งานทางวัฒนธรรมต่อไป” เธอพูดไว้ในท่อนหนึ่งของบทสนทนา

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.