วันนี้เราไปเดินทัวร์ Modern Architecture and Contemporary Art จัดโดย Unboxing Korea ที่ Dongdaemun Design Plaza (DDP) ที่เขาเชิญไปร่วมในฐานะ Korea Allimi แต่นอกจากเราแล้วก็มีชาวต่างชาติที่มาจากโครงการอื่นๆ ของ Unboxing Korea อย่างเช่นโครงการเรียนเทควันโด
ปกติเราก็เห็นรูป DDP ในอินสตาแกรมบ่อยๆ เวลามีคนมายืนโพสต์ท่ากับตึกหน้าตาแปลกๆ ที่พี่ข้าวเรียกว่า “ยานแม่” แม้จะออกแบบโดยดีไซเนอร์ชาวต่างชาติ Zaha Hadid จากการส่งประกวดแบบ แต่ทงแดมุนดีไซน์พลาซาแห่งนี้ก็กลายเป็นแลนด์มาร์กของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในเกาหลี

ระหว่างการเดินทัวร์ นอกจากไกด์จะชี้จุดที่คนชอบมาถ่ายรูปบ่อยๆ หรือบอกเราว่า “รู้ไหมครับ ว่า BTS ซ้อมคิวอยู่ในนี้ เป็นความลับนะ” (ไม่รู้พูดจริงหรืออำ) เขายังได้อธิบายความเจ๋งของอาคารหน้าตาประหลาดโค้งมนนี้ไปด้วย ว่าทำออกมาด้วยแผ่นอลูมิเนียม 45,133 แผ่นที่ไม่เหมือนกันเลยทั้งขนาดและรูปร่างซึ่งสุดท้ายก็หาทางผลิตได้ในเกาหลีนี่เอง ถ้าเอาหน้าเข้าไปใกล้ๆ จะยังเห็นรอยเลเซอร์ระบุหมายเลขประจำแต่ละแผ่นเอาไว้ และการสร้างอาคารที่รูปร่างไม่เหมือนใครให้ออกมาสมบูรณ์ได้ก็ต้องอาศัยเทคนิคการออกแบบสามมิติ BIM (Building Information Modeling)
ความน่าประทับใจที่แสนจะสะท้อนความเป็นเกาหลีสมัยใหม่คือการออกแบบอย่างใส่ใจคนเดินเท้า เพราะที่นี่ได้รับการออกแบบมาอย่างระมัดระวังไม่ให้กีดขวางโฟลว์ของคนเดินเท้าจากขนส่งมวลชนไปยังย่านการค้า ฮาดิดจงใจสร้างพื้นที่ที่ปล่อยให้เกิดการไหลเวียนสัญจรอย่างไร้ขอบเขต ตอบสนองกับคาแรกเตอร์ของพื้นที่ย่านการค้านี้ที่ไม่เคยหลับใหล เราในฐานะผู้เดินทัวร์จะรู้สึกได้เลยว่าตั้งแต่ออกจากรถไฟใต้ดินขึ้นมาถึงตัวลานกว้างและอาคาร DDP เราเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นอิสระ จะเลือกออกไปทางไหนก็ได้ และเมื่อเดินสำรวจพื้นที่ภายใน จากชั้นใต้ดินเดินไปๆ มาๆ ก็มาถึงชั้นสี่ได้แบบไม่ทันรู้ตัว (จริงๆ ทำให้นึกถึงสยามวัน แต่ที่นี่มีลักษณะเป็นมิวเซียมให้เดินเพลินๆ มากกว่าทำหน้าที่เป็นห้างสรรพสินค้า)

สิ่งนึงที่เราชอบคือการที่เขายังเก็บสถาปัตยกรรมเก่าๆ สมัยโชซ็อนเอาไว้ ทำนุบำรุงและจัดวางพื้นที่เฉพาะให้พวกมันได้อยู่เคียงข้างโครงสร้างที่ดูล้ำยุค
ส่วนจะกลมกลืนหรือไม่ก็คงแล้วแต่รสนิยมของผู้มอง
ยกตัวอย่างเช่น แนวกำแพงเมืองเก่าที่มีระบบระบายน้ำหลงเหลือมาจากสมัยโชซ็อน หากขึ้นไปยืนบนดาดฟ้าของอาคาร DDP จะมองเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของแนวกำแพงที่ทอดยาวมาจากนักซานและเชื่อมไปถึงนัมซาน ที่เราชอบก็ไม่ใช่เพราะเราหลงใหลโบราณสถานเป็นพิเศษ แต่ชอบวิธีการที่เขาเลือก ‘เก็บ’ บางสิ่งเพื่อจดจำความเป็นตัวเองเอาไว้และ ‘ทิ้ง’ บางส่วนเพื่อฟังก์ชันการใช้งานในปัจจุบัน อย่างกรณีนี้คือการเก็บรั้วไม้กันข้าศึกของประตูด้านหนึ่งเอาไว้เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ แต่อีกด้านกลับเลือกที่จะเอาออกเพื่อให้ผู้คนในปัจจุบันด้านผ่านสัญจรได้จริง
จะเรียกว่าเป็นการปฏิรูปเพื่อไปต่อก็อาจเป็นได้

ประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เก่าถึงขั้นสมัยโชซ็อน แต่ควรค่าแก่ความทรงจำของคนกลุ่มหนึ่งในอดีตอันใกล้ก็ยังได้รับการประนีประนอมและเก็บเอาไว้ อย่างเสาไฟส่องสปอตไลต์ในสเตเดียมกีฬาเก่าที่ถูกรื้อออกไปเพื่อสร้าง DDP ก็ยังได้รับการเก็บรักษาเอาไว้หนึ่งเสา และยังใช้งานในโอกาสสำคัญ

ท้ายที่สุดเราเข้าไปดูนิทรรศการของ teamLab ที่มาจัดแสดงในหัวข้อ Life ที่ที่เราจะได้เล่นกับเหล่าสัตว์ ดอกไม้ และต้นไม้กราฟฟิกบนจออินเตอร์แอคทีฟ แต่ความดาร์กก็คือ เมื่อไรก็ตามที่มนุษย์อย่างเราเอามือไปแตะต้อง สัตว์ก็จะค่อยๆ สลายตายไป ดอกไม้ที่เคยบานสะพรั่งก็ร่วงโรย
มาถึงตรงนี้แล้ว อาจจะมีคนถามว่าอาคารนี้มันมีความเป็นเกาหลีตรงไหน? เพราะคนออกแบบยังเป็นชาวต่างชาติเลย เราว่าเรื่องนี้น่าสนใจ ความเป็นเกาหลีสมัยใหม่ สำหรับเราคือ(การพยายาม)เป็นพื้นที่เปิดรับวัฒนธรรมผสมผสาน ไม่อิงกับเชื้อชาติ ต้นกำเนิดความคิด แต่คือหลักคิดที่นำสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่อาจไม่ได้มีเชื้อสายเกาหลีเข้ามากลมกลืนอยู่ท่ามกลางสิ่งก่อสร้างจากเกาหลีสมัยเก่า
นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ Korea Allimi คนต่างชาติที่อาศัยในเกาหลีอย่างพวกเราได้รับเชิญจาก Unboxing Korea ให้มาเรียนรู้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเกาหลี และบอกให้โลกรู้ว่าไม่มีอะไรหรอกที่แปลกปลอมจากความเป็นเรา
