ภาพ cover : Photo by Daniel Bernard on Unsplash
เราเคยเล่าไว้ว่าเมื่อปีที่แล้วว่าเรามีโอกาสได้ลงเรียนวิชาผู้พลัดถิ่นเกาหลีในงานวรรณกรรมที่ Ewha GSIS เป็นวิชาเลือก ตอนนั้นเราได้อ่านวรรณกรรมหลายชิ้นทั้งที่เขียนขึ้นมาด้วยภาษาอังกฤษ หรือแปลมาจากภาษาญี่ปุ่น จีน หรือเกาหลีอีกที ตั้งแต่นั้นมาเราก็เริ่มสนใจวรรณกรรมเกาหลีจริงจังจนถึงขั้นไปซื้อหนังสือประวัติศาสตร์วรรณกรรมเกาหลีเล่มหนามาอ่าน
แต่สิ่งที่ยากก็คือ เมื่อเริ่มต้นบทแรกๆ ที่ว่าด้วยบทกวีซึ่งเป็นประเภทวรรณกรรมในยุคต้นๆ ของเกาหลี การจะเข้าถึงทั้งความหมายหรือความงดงามทางวรรณศิลป์ผ่านตัวบทภาษาอังกฤษอีกทีก็เป็นสิ่งที่ยากเหลือเกิน จนเราแทบจะยอมแพ้ตั้งแต่บทแรกๆ
“มันลีชิม” อาจารย์ Wayne De Fremery แห่งมหาวิทยาลัยซอกังกล่าวว่าเขาจะใช้คำคำนี้ ที่แปลว่า “หัวใจหมื่นลี้” ในภาษาเกาหลี ซึ่งเป็นคำที่ดึงมาจากบทกลอนอันโด่งดังของกวีและปราชญ์ ชเว-ชีวอน (최치원) มาใช้เป็นธีมหลักในการบรรยายหัวข้อ “A Brief History of Korean Poetry” ในโครงการ Unboxing Korea เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2020 เพราะหมื่นลี้ยังสื่อถึงการทำสิ่งที่ยากลำบาก
นั่นก็เพราะว่า หนึ่ง การพูดถึงบทกวีเกาหลีผ่านภาษาอังกฤษนั้นเป็นเรื่องยากเหลือเกิน
สอง ความยากลำบากมักเป็นประเด็นหลักในวัฒนธรรมเอเชียตะวันออก
ก่อนอื่น เขาแยกความแตกต่างระหว่างความหมายของบทกวีในโลกตะวันตก ซึ่ง Poetry มาจากคำว่า Poiesis ซึ่งหมายถึงการสร้างขึ้น สร้างสรรค์ขึ้นมา (make or craft) แต่สำหรับเกาหลีซึ่งได้รับอิทธิพลจากกวีนิพนธ์จีน บทกวีคือการสื่อ “สิ่งที่มีอยู่ในใจ” ออกมา ไม่ใช่สิ่งที่บรรจงสร้างขึ้น
บทกวีคือสิ่งที่พุ่งออกมาจากใจ ใจที่ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม คือความคิดคำนึงและความรู้สึกที่แปลงไปสู่ภาษา
หัวใจหมื่นลี้ในบทกลอน 秋夜雨中 ของชเว-ชีวอน (นามปากกา โกอุน) ก็เช่นกัน บรรยากาศแสนเหงาในยามค่ำคืนฤดูใบไม้ร่วงกระทบใจให้กวีคิดถึงบ้านเกิด ขณะที่ตนต้องไปศึกษาเล่าเรียนไกลถึงแผ่นดินจีน ค่ำคืนนั้น หัวใจของตนเดินทางหมื่นลี้ไปยังเกาหลี
추 풍 유 고 음
세 로 소 지 음
창 외 삼 경 우
등 전 만 리 심
Fremery เน้นให้เห็นความสวยงามของจังหวะคำสัมผัสในบทกลอน ในสมัยที่บทกวีเกาหลียังถ่ายทอดผ่านอักษรตัวจีนในสมัยชิลลาตอนปลาย จนกระทั่งยุคสมัยกษัตริย์เซจง จึงได้มีการประดิษฐ์อักษรฮันกึลออกมาถ่ายทอดเสียงภาษาเกาหลีโดยเฉพาะ ลักษณะขีดที่สะท้อนรูปปากและลิ้น กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเขียนบทกวีเกาหลี

Fremery เล่าเรื่องขยับมาสู่พัฒนาการในยุคโชซ็อนที่วัฒนธรรมระดับชาวบ้านผสมผสานเข้ากันกับวัฒนธรรมชาววังหรือชนชั้นสูง ซึ่งมีความพยายามบันทึกบทกลอนที่เป็นมุขปาฐะให้กลายมาเป็นตัวเขียนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เช่น บทเพลงแบบ Sijo ที่แต่เดิมขับร้องโดยกิแซ็งหรือนางบำเรอในยุคโบราณ เพื่อขับกล่อมให้ความบันเทิงกับเหล่าชนชั้นสูง โดดเด่นด้วยท่วงทำนองที่สงบ นุ่มนวล กดข่มอารมณ์เอาไว้ ซึ่งเป็นจุดเด่นของบทกวีเกาหลีในสมัยก่อน ก็ถูกนำมาบันทึกเป็นตัวเขียนไว้ศึกษาต่อไป
จนกระทั่งในสมัยที่เกาหลีถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น บางท่วงทำนองบทกวีที่เคยนุ่มนวลก็เปลี่ยนไป เช่น บทกลอน “From the Sea to the Boys” (해에게서 소년에게) ที่เขียนในปี 1908 โดยชเว-นัมซ็อน (นามปากกา หยุกตัง) เปลี่ยนเป็นเสียงตะโกน และเริ่มมีการใช้บุคลาธิษฐาน (personification) ให้ทะเลกลายมาเป็นผู้พูด ท้าทายขนบดั้งเดิมที่ว่าบทกวีคือการถ่ายทอดความรู้สึกของผู้แต่ง (ซึ่งก็ต้องเป็นมนุษย์) เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก คือเปลี่ยนทั้งลักษณะสุ้มเสียงและแนวคิดของการแต่งบทกวี
ในยุคต่อมา กวีอย่าง อีซัง (이상) ก็ผลิตผลงานแบบล้ำสมัย ก้าวเข้าสู่ยุคโมเดิร์น เขามองว่านอกจากจะใช้บทกวีถ่ายทอดความรู้สึกแล้ว ยังต้องแสดงการครุ่นคิดทางปรัชญาด้วย

ไม่ใช่แค่การใช้บุคลาธิษฐานที่สั่นคลอนวงการแต่งกลอนเกาหลี ในทศวรรษที่ 1940 ยังมีการท้าทายขนบที่ว่าบทกวีในยุคโชซ็อนจะต้องเขียนโดยชนชั้นสูง (ยังบัน) กลายมาเป็นบทกวีแนวทดลองที่พูดผ่านเสียงของชนชั้นแรงงาน ชนชั้นรากหญ้า หรือแม้แต่สุนัข
จะเห็นได้ว่า จากเดิมที่บทกวีแบบเกาหลีคือกระบวนการสะท้อนสิ่งที่อยู่ในจิตใจ กลายมาเป็นงานสร้างสรรค์
มีทั้งที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปในสังคมและเพื่อการต่อสู้ทางความคิด เขายกตัวอย่างบทกลอน “Grass” ของ คิม-ซูย็อง ที่ใช้ “หญ้า” เป็นอุปมาของมวลชนที่ต่อต้านรัฐเผด็จการเกาหลีในสมัยนั้น หญ้าที่เคยราบไปกับพื้นได้ชูใบตั้งขึ้นมาใหม่ เหมือนมวลชนที่ลุกฮือขึ้นมาอีกครั้ง หรือผลงานของ Ko Un ที่ตั้งใจใช้บทกวีของเขาบันทึกชีวิตคนธรรมดา 10,000 คน บทกวีกลายมาเป็นภารกิจ มากกว่าสะท้อนห้วงอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งหรือความเชื่อทางศาสนาอย่างในสมัยก่อน
Fremery ยังทิ้งท้ายถึงกวีสตรีอย่างคิม-ฮเยซุน (김혜순) ที่โดดเด่นขึ้นมาในทศวรรษ 1990s-2000s ท่ามกลางวงการกวีเกาหลีที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย และจุดเด่นของเธอคือการจับสิ่งที่ดูไม่เข้ากันให้มาอยู่ด้วยกันในบทกวี และพูดถึงร่างกายของตนในฐานะสตรีผ่านบทกลอน
สุดท้ายที่เราประทับใจที่สุดก็คือการแนะนำให้รู้จักบทกวีสื่อผสมผสานของ ชัง-ย็องฮเย (장영혜) ที่สร้างสรรค์ผลงานภายใต้ชื่อ Young-Hae Chang Heavy Industries ออกมาเป็นงานศิลปะที่จะเรียกว่าบทกวีก็ไม่เชิง เพราะคงจะเป็นนิยามที่แคบไป ถือว่าเป็นการส่งท้ายที่เปิดหูเปิดตามาก
ตัวอย่างผลงาน “ALL UNHAPPY FAMILIES ARE ALIKE” ทั้งเวอร์ชันอังกฤษและเกาหลี
- https://www.yhchang.com/ALL_UNHAPPY_FAMILIES_ARE_ALIKE_V.html
- https://www.yhchang.com/ALL_UNHAPPY_FAMILIES_ARE_ALIKE_K_V.html

Wayne De Fremery เป็นอาจารย์ด้านวรรณกรรมที่มหาวิทยาลัยซอกัง ดูสื่อการสอนและผลงานของเขาเพิ่มเติมได้ที่ http://www.pwdef.info/