นอกจากทุน SUN ที่เป็นทุนอุดหนุนค่าเทอมของ Ewha GSIS ที่นี่ยังมีทุนประเภทอื่นๆ อีก
พอเราเข้ามาเรียน และได้ทำงานในออฟฟิศ Ewha GSIS เลยได้รู้ว่าเพื่อนหลายๆ คน ก็รับทุนเหล่านี้ แลกกับการทำงานตามจำนวนชั่วโมงใน Ewha GSIS เอง อาจจะเป็นที่ออฟฟิศ ในศูนย์วิจัยย่อยในคณะ หรือเป็นผู้ช่วยวิจัยของอาจารย์ในคณะเอง
คนที่ทำงานในออฟฟิศเกือบทั้งหมดเข้ามาทำงานผ่านการสมัครทุน EWHA Scholarship on a Working Basis และ GSIS KOICA-Sun พวกนี้จะมีตำแหน่งเรียกว่า TA (Teacher Assitant) แต่ไม่ใช่ว่า TA ทุกคนต้องอยู่ในออฟฟิศ อาจจะไปเป็น TA หรือผู้ช่วยสอนจริงๆ แบบช่วยกรอกเกรด จัดการอัพไฟล์ในระบบหลังบ้านต่างๆ ซึ่งเราไม่ค่อยรู้รายละเอียดตรงนี้ เนื่องจาก TA ที่เราเห็นและรู้จักคือพวกที่อยู่ในออฟฟิศ ทำงานเรื่องการแปลเอกสาร ตอบอีเมลนักศึกษา ไปส่งไปรษณีย์ให้วิทยากรที่รับเชิญมาบรรยาย ฯลฯ
เรียกได้ว่ามีให้ทำงานสารพัด สมัครมาแล้วก็ลุ้นกันเอาเองว่าจะได้ไปหย่อนอยู่ที่งานประเภทไหน แล้วก็จะได้ทุนการศึกษาตามระดับของชั่วโมงทำงานตามประเภทที่สมัคร
อีกทุนหนึ่งที่เราเพิ่งมารู้จักก็หลังจากที่เข้ามาเรียนแล้วก็คือทุน Research Assistant แต่เราไม่ได้คิดว่าใครอยากจะเป็นก็เป็นได้ เพราะชื่อมันฟังดูยากๆ
กลายเป็นว่าอยู่ๆ หลังจากที่เราไปลงเรียนวิชาหนึ่งของอาจารย์ที่ปรึกษา (Prof.Thomas Kalinowski) ชื่อ Comparative Political Economy เมื่อเทอมที่สอง อาจารย์ก็จำได้และติดต่อมาให้เป็น Research Assistant หรือผู้ช่วยวิจัยในเทอมถัดมา
วิชานั้นมีคนลงเรียนน้อย คือมีกันอยู่แค่ 5 คน (จีน ไทย ลาว เกาหลี และอเมริกัน) ก่อนลงเรียนเราก็ได้ยินมาจากเพื่อนอีกคนว่าวิชาของอาจารย์คนนี้ยากมากๆ เพราะเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง ไม่แปลกที่หลายคนจะหลีกเลี่ยงแล้วไปลงวิชาอื่นแทน

แต่การที่มีนักเรียนน้อยกลับกลายเป็นข้อดีในเวลาต่อมา เพราะนั่นเป็นเทอมแรกที่มีการเรียนแบบออนไลน์ (เจอโควิดเข้ามาพอดี) และเราได้พูดคุยกันเหมือนเป็นมีตติ้งเล็กๆ ใกล้ชิดกันในสไกป์ แม้ว่าเนื้อหามันจะยากจริงๆ ทำเอาเราเครียดทุกครั้งที่ต้องอ่านเอกสารและเปเปอร์และเขียนความคิดเห็นลงใน Cybercampus ก่อนเข้าเรียน เพราะไม่รู้ว่าตัวเองอ่านเข้าใจถูกต้องครบถ้วนไหม บางบทความเป็นนักวิชาการฝรั่งเศสเขียนภาษาอังกฤษ เป็นความยากไปอีกขั้น
แต่สุดท้ายอาจารย์ก็ให้ทำอะไรยากๆ เพื่อดูว่าเราจะรับได้แค่ไหน (ไม่ใช่เพราะรู้สึกสะใจ 555) แล้วผลตอบรับก็ออกมาโอเค อาจารย์เอาความซับซ้อนนั้นมาอธิบายเป็นความเรียบง่ายงดงามให้ฟังอีกทีในชั้นเรียนออนไลน์
จริงๆ แล้วตอนอาจารย์ส่งเมลมาถามว่าสนใจเป็น RA ไหม เราทั้งอึ้งทั้งดีใจ อึ้งเพราะคิดว่าตัวเองต้องทำไม่ได้แน่ๆ ตั้งแต่มาเรียนก็รู้สึกว่าไม่ใช่สายนักวิชาการที่นั่งทำวิจัย กว่าจะเขียนออกมาได้แต่ละเปเปอร์ก็เป๋ๆ ไปเยอะ มันไม่เหมือนเขียนบทความที่ปล่อยไหลไปตามกระแสความคิด (ที่มีโครงสร้างหลวมๆ ประมาณหนึ่ง) ก็เลยเมลไปขอบคุณและบอกความกังวลเรื่องนี้ไปตรงๆ
อาจารย์บอกว่า ไม่เป็นไร ลองทำดูก่อน ทำแล้วเดี๋ยวก็ค่อยแนะนำกันไป เราก็เลยโอเค
แล้วผู้ช่วยวิจัยต้องทำอะไร?
สำหรับกรณีของอาจารย์คาลินาฟสกี ภารกิจหลักสามอย่างของทีมวิจัยเรา ได้แก่ รายงานประจำปี Sustainable Governnance Indicators รายงานประจำปี Bertelsmann Transformation Index และการนำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการโควิดของเกาหลี ใน KISA 12th Annual Convention & APISA 14th Congress

ที่เรียกว่าทีมวิจัยเรา เพราะนอกจากอาจารย์และเราแล้ว ยังมีแนนซี่ คิม เพื่อนอีกคนที่เคยทำงาน NGO และมาลงเรียนวิชาเดียวกันเมื่อเทอมก่อน
เรากับแนนซี่แบ่งประเด็นกันทำรายงาน SGI โดยที่แนนซี่รับผิดชอบเรื่อง Social Policies และ Democracy ส่วนเราทำเรื่อง Economic Policies และ Governance โดยที่ในประเด็นหลักนี้แตกออกเป็นหัวข้อย่อยมากมาย เช่นในหมวด Economic Policies แบ่งออกเป็นอีก 10 กว่าหัวข้อ เพื่อจัดทำออกมาเป็นตัวชี้วัดคุณภาพในแต่ละหมวดในแต่ละมิติ
แต่รายงาน SGI ปีนี้พิเศษตรงที่เป็นปีที่มีเรื่อง COVID-19 สะเทือนไปทั้งโลก ประเด็นของคำถามใน SGI ปีนี้เลยเจาะไปที่การจัดการวิกฤตโควิดของแต่ละประเทศ ในด้านต่างๆ ข้างต้น และทีมวิจัยเราประจำ Ewha GSIS แน่นอนว่าต้องรับผิดชอบบรรดาตัวชี้วัดของ ประเทศเกาหลีใต้
การทำงานจะมีการคุย Zoom กันนานๆ ครั้ง เพื่อดูว่าใครทำอะไร หรือควรทำอย่างไร ที่เหลือเป็นการคุยกันผ่านอีเมลและไฟล์ document ที่แชร์กันมาเติมหัวข้อของตัวเอง สุดท้ายอาจารย์ก็จะมาคอมเมนต์ถ้าเห็นว่ายังตกหล่นประเด็นไหน หรือเห็นว่าข้อความไหนยังน่าสงสัยหรือมีแหล่งอ้างอิงไม่ชัดเจน
จริงๆ แล้วมันก็สนุกน่าตื่นเต้นดี เพราะทำให้เรารู้ว่าคำว่า “ทำไม่ได้” กับคำว่า “ทำได้” ของเรา มันอยู่ใกล้กันแค่นี้ แค่ลองทำไปก่อน แล้วถึงได้รู้ว่าที่คิดว่าทำไม่ได้ มันก็เป็นแค่ความรู้สึกกลัวว่าสิ่งที่ทำออกไป (จนได้) จะไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้หรือดีพอในสายตาคนอื่นๆ
แต่ช่วงเวลาสามสี่เดือนที่ทำรายงานนี้ พร้อมเป็นลูกมือให้อาจารย์กับแนนซี่ซึ่งเป็นนักศึกษา ป.เอก เขียนเปเปอร์ไปลงวารสาร ก็ทำให้เราได้ฟีดแบ็กกลับมาบ้าง ว่ายังขาดอะไรอยู่ ยังต้องการข้อมูลอะไรเพิ่ม บางทีก็ใช้เวลานานมากๆ กับข้อมูลที่จะไปปรากฏในสไลด์เดียว
แต่ก็ยังดีที่ไม่ได้ขาดมากซะจนรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวถ่วงหรือไม่มีประโยชน์ แล้วผลลัพธ์แบบนี้มันก็สร้างความมั่นใจอยู่ลึกๆ ในแวดวงที่ก่อนหน้านี้เราแทบไม่รู้อะไรเลย