ที่มารูปหน้าแรก: Flickr @gfes
เราเริ่มเรียนภาษาที่สถาบันภาษา ม. ซอกังตั้งแต่ยังไม่ปิดเทอมสุดท้ายของ ป.โท ที่ Ewha GSIS หมายความว่าช่วงที่เริ่มเรียน เรายังสอบปลายภาควิชาภาษาเกาหลี ระดับ 2 ที่อีฮวาอยู่เลย
ที่ซอกังจะมีการสอน 4 เทอมต่อปี ตามสี่ฤดู ได้แก่ เทอมฤดูใบไม้ผลิ เทอมฤดูร้อน เทอมฤดูใบไม้ร่วง และเทอมฤดูหนาว แต่ละเทอมเท่ากับการเรียน 1 ระดับ (จากทั้งหมด 7 ระดับ ซึ่งหมายความว่าไม่ได้นับตาม TOPIK ที่มีถึงแค่ระดับ 6) หลักๆ แบ่งเป็นประเภท KGP (เรียนเพื่อจุดประสงค์ใช้งานทั่วไป) และ KAP (เรียนเพื่อใช้สมัครเข้ามหาวิทยาลัยต่อ)
เราปิดเทอมช่วงเข้าหน้าร้อนพอดี เลยเลือกลงคอร์สแรกในฤดูร้อนไปก่อน เป็นคอร์ส KGP เพราะจุดประสงค์ก็คือเรียนเพื่อให้หางานทำได้
ตอนแรกที่สอบวัดระดับในฐานะนักเรียนใหม่ของซอกัง เราก็กังวลอยู่ว่าจะถูกจัดให้อยู่ในห้องเรียนระดับไหน (เดาๆ ไว้ว่า 2 แต่ถ้าแย่มากจริงๆ ก็ 1 เริ่มเรียนใหม่ตั้งแต่ฮันกึล 55) แต่พอสอบเขียนและสอบพูดผ่านทางซูมแล้ว ก็พบว่าโจทย์ไม่ยากนัก และสุดท้ายที่ซอกังก็ให้เราไปเรียนระดับ 3 เลย

การสอบวัดระดับเพื่อจัดให้ไปเรียนในห้องที่เหมาะสมนั้น ข้อสอบเขียนจะมีให้เลือกหัวข้อแค่หนึ่งจากสามข้อ ซึ่งเขาก็แนะนำไว้แล้วว่าถ้าเราคิดว่าตัวเองอยู่ระดับไหนก็ควรเลือกโจทย์ที่เหมาะสมตามที่เขาเขียนระดับกำกับไว้ให้ เราก็เลยเลือกโจทย์ที่ง่ายที่สุด คือ “เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วไปทำอะไรมา” แล้วลองใช้ไวยากรณ์ที่เรียนแล้วให้หลากหลายที่สุด ส่วนข้อสอบพูดนั้น อาจารย์ก็เริ่มถามจากสิ่งที่ง่ายที่สุดอย่างการแนะนำตัวเองไปจนถึงเรื่องที่ซับซ้อนขึ้นๆ เมื่อเราเริ่มคิดไม่ออก เขาก็จะหยุด
การเปลี่ยนมาเรียนภาษาที่ซอกังมีเรื่องต้องปรับตัวเยอะพอควร เริ่มจากสไตล์การสอนที่ต่างกับการเรียนที่อีแดอย่างสิ้นเชิง (หมายเหตุ: เราไม่ได้เรียนภาษาเกาหลีที่สถาบันภาษา ม.อีฮวา แต่เรียนคอร์สที่เปิดให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเรียน จึงอาจจะแตกต่างกัน) ที่อีแดจะมีแพทเทิร์นการสอนแต่ละบทในแต่ละสัปดาห์เหมือนๆ กัน เริ่มจากไวยากรณ์หลัก ฝึกแต่งประโยคกับเพื่อน ซ้อมพูดตามตัวอย่างบทสนทนา จำคำศัพท์สำคัญ ลองฝึกฟังบทสนทนายาวๆ แล้วตอบคำถาม และปิดท้ายด้วยการอ่านบทความสั้น วนไปแบบนี้ทุกบท ถือเป็นการฝึกทักษะอ่าน พูด ฟัง เขียน ไปในรวดเดียว เหมือนเป็นวิชาเดียวกัน

แต่ที่ซอกัง แม้จะใช้หนังสือเซตเดียวกัน แต่อาจารย์วิชาเขียน พูด และอ่าน/ฟัง (แบ่งเป็นสามคาบ 1/2/1 ชั่วโมง ตามลำดับ ทุกวันจันทร์-ศุกร์) จะมีสไตล์การสอนต่างกันไป วิชาเขียนจะใช้เวลาครึ่งหนึ่งไปกับการสอนแพทเทิร์นและอีกครึ่งหนึ่งลองฝึกเขียนเอง
วิชาการพูดจะมีการสอนไวยาการ์หลักแล้วแบ่งห้องให้ฝึกพูดกันเป็นคู่หรือกลุ่มย่อย แต่คราวนี้ไม่ใช่การช่วยกันแต่งประโยคเฉยๆ แต่เป็นการคุยกันจริงๆ เลย โดยพยายามใช้ไวยากรณ์ที่เพิ่งเรียนมาสอดแทรกไปด้วย บางครั้งให้ใบ้คำศัพท์ที่เพิ่งเรียนไปในบทที่แล้วโดยที่ไม่พูดคำนั้น เรียกว่าในคาบวิชาการพูด 2 ชั่วโมงนั้น น่าจะคุยกันเองไปเกินครึ่ง ซึ่งเหมาะสุดๆ สำหรับคนที่ไม่รู้จะไปฝึกพูดภาษาเกาหลีที่ไหน เพราะจะไปฝึกกับคนเกาหลีก็เขินว่าสกิลยังไม่ถึงระดับสื่อสารได้มากนัก

ส่วนคาบสุดท้ายคือการอ่าน/ฟัง จะเป็นการฝึกฟังบทสนทนาจากคลิปเสียง (ซึ่งค่อนข้างเร็ว เทียบกับการพูดช้าๆ ของอาจารย์) แล้วฝึกจดคีย์เวิร์ดไว้ตอบคำถาม ซึ่งไม่ใช่คำถามที่ตอบแค่สั้นๆ อีกต่อไป แต่ต้องตอบเป็นประโยคยาวหลังจากฟังเสร็จแล้ว เหมาะกับการฝึกทำข้อสอบข้อเขียน ต่อด้วยบทอ่าน ซึ่งเราว่าอ่านง่ายกว่าในหนังสือของอีฮวาเยอะ เพราะมีศัพท์ใหม่ไม่มากเกินไปจนงงและท้อ แถมไอเดียยังไม่ซับซ้อน
เนื่องจากช่วงนี้ที่เกาหลียังไม่ได้มีนโยบายฉีดวัคซีนให้คนที่อายุต่ำกว่า 30 ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง สถานการณ์เลยยังไม่น่าไว้วางใจ พวกเราก็เลยยังเรียนออนไลน์ 4 วันกับในห้องแค่ 1 วัน การสื่อสารกับอาจารย์คือการคุยกันผ่าน Kakao Talk open chat ซึ่งอาจารย์จะส่งไฟล์เอกสารเพิ่มเติมและแบบฝึกหัดในนั้น ส่วนเราก็ส่งการบ้านกลับไปในนั้นเหมือนกัน แต่วางใจได้ เพราะดูเหมือนอาจารย์จะฝึกใช้กันจนคล่องแล้วในช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมา จะส่งการบ้านก็ง่ายทั้งอาจารย์ทั้งนักเรียน เพราะไม่ต้องเจอกันตัวต่อตัวก็ส่งได้
สิ่งที่ไม่สะดวกก็คือ หลายครั้งได้แบบฝึกหัดมาทาง Kakao ในคาบเรียนเลย จะเขียนในมือถือหรือคอมก็ไม่ถนัดเท่าเขียนใส่กระดาษ ซึ่งก็ยังไม่ทันจะมีเวลาพิมพ์ออกมา ถ้าเรียนในห้องแล้วแจกมาเป็นแผ่นๆ เลยคงสะดวกกว่า



ตอนนี้เท่าที่เรียนมาแค่ 1 เดือน ข้อดีที่พบก็คือ การเรียนที่ซอกัง แม้จะใช้เวลาตั้ง 4 ชั่วโมงต่อวัน แต่การสอนที่ไม่จำเจของแต่ละวิชาทำให้เวลาผ่านไปเร็วมาก แป๊บๆ ก็บ่ายโมงแล้ว แถมเราสามารถเลือกคอร์สพิเศษเป็นของแถมจากคอร์สหลัก เช่น เราเลือกคลาสไวยากรณ์กับการฝึกออกเสียงเพิ่ม เรียนทุกวันพุธกับพฤหัส วันละ 1 ชั่วโมงตอนบ่าย คอร์สละเจ็ดครั้ง เหมือนได้โบนัสมาเพิ่ม 14 ชั่วโมง ทั้งที่ฟรีแต่กลายเป็นว่ามีคนลงเรียนคอร์สแถมพวกนี้น้อยมาก เราเลยกลายเป็นนักเรียนคนเดียวของคอร์สฝึกออกเสียง เรียนต่อตัวตัวกับอาจารย์ไปเลย ได้ฝึกแบบจุใจ ในขณะที่คาบไวยากรณ์เสริมก็มีนักเรียนแค่สองคน เรียนกันวันละ 3-4 ไวยากรณ์ยากๆ เหมือนติดสปีดที่จากเดิมเรียนแค่ 2 ไวยากรณ์ต่อสัปดาห์ มาเป็น 5-6 ไวยากรณ์ต่อสัปดาห์

แต่ข้อเสียที่พบคือ พอเป็นการเรียนที่เน้นการพูด คุณภาพของเพื่อนร่วมห้องจึงมีความสำคัญมากๆๆๆๆๆ บางทีอาจารย์ตั้งใจสอนมากๆ แล้ว แต่ดันถูกจับคู่หรือจับกลุ่มไปเจอคนไม่ชอบพูด ทำท่าเบื่อหน่ายการฝึก ก็ทำให้เสียอารมณ์ได้เลย ทำให้เราสงสัยว่า อ่าว ถ้าไม่อยากฝึกพูดแล้วมาเรียนที่ซอกังกันทำไม 555 ในทางกลับกัน อยากแนะนำคนที่หาที่เรียนภาษาเกาหลีว่า ถ้าไม่อยากฝึกพูด อย่ามาสมัครที่นี่เลยนะ ไปที่อื่นน่าจะแฮปปี้กว่า
1 คิดบน “เรียนภาษาหน้าร้อนที่ซอกัง”