Read: MY BEST FRIEND IS ME

mybestfriend.jpg

MY BEST FRIEND IS ME

เขียน: พวงสร้อย อักษรสว่าง

สำนักพิมพ์ SALMON

ปกติเวลาเราเห็นหนังสือท่องเที่ยวหรือใช้ชีวิตในต่างประเทศ เราจะรู้สึกเฉยๆ (ไม่ได้ลอกคำนิยมมานะ แต่มันเป็นงั้นจริง)

…เหย ไม่ใช่ว่ามันไม่ดีนะ แต่กลัวเหลือเกินว่าจะอ่านอะไรซ้ำ บางทีนักเขียนคนละคนด้วย แต่พอเขียนทับทางประเทศเดียวกัน เราก็พึมพำๆ ว่า อ๋อ ญี่ปุ่นเหรอ เคยอ่านแล้ว — ซึ่งไม่ยุติธรรมสำหรับนักเขียนเสียเลย

แต่เมื่อชื่อ “พวงสร้อย อักษรสว่าง” ปรากฏในรายชื่อนักเขียนแซลมอนในงานหนังสือปีนี้ เราก็ตาลุกวาว

จากการอ่านบล็อก สู่การแอดเฟรนด์ สู่การติดตามชีวิตการทำหนัง รสนิยมทางศิลปะ และการใช้ชีวิตผ่านไทม์ไลน์ – เรารู้จักกันหรือ? ไม่หรอก แปลกหน้าด้วยซ้ำ แต่เป็นการมองคนแปลกหน้าอย่างชื่นชม

หนังสือของพี่โรส พวงสร้อย ก็คล้ายร่างแยกจากชีวิตออนไลน์ของเธอ แต่มันถูกขยาย จัดวางอย่างประณีต มีการระบุฉากสถานที่ และเวลา

ที่สำคัญคือมันไม่ทิ้งน้ำเสียงของเพื่อนคนหนึ่งที่เล่าเรื่องหม่นๆ หรือสนุกๆ ให้เพื่อนฟังจากระยะทางห่างไกลอีกซีกโลก แถมด้วยรูปถ่ายขาวดำสวยๆ ที่มองผ่านสายตานักเล่าเรื่องคนนี้

 

คิดดูว่า สำหรับเรา… “เยอรมนี” เป็นคำเคร่งขรึม พอถูกถ่ายทอดผ่านสายตาพวงสร้อย มันจะไปไกลได้อีกขนาดไหน

ผ่านเรื่องเล่าแต่ละบทตอนที่ถูกจัดวางตามธีม – อาหาร การเรียน เมือง เพื่อน… เราพบว่าขณะที่พวงสร้อยพยายามทำความรู้จักสถานที่ใหม่ วัฒนธรรมใหม่ เธอก็พยายามทำความรู้จักตัวเอง ชอบมากตอนที่บอกว่า ขณะเขียนจดหมายสมัครเรียน ก็เหมือนได้ทบทวนตัวเองว่าที่ผ่านมาเราทำอะไร และเป้าหมายของเราคืออะไรกันแน่ …จริงๆ แล้ว

แต่คำถามนี้มันมีคำตอบสุดท้ายหรือเปล่า ก็ไม่แน่ใจ สังเกตจากความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในจังหวะชีวิตแต่ละช่วงของเธอ

พวงสร้อยทำความรู้จักตัวเองในฐานะบุคคล — คนไทย เด็กฟิล์ม ศิลปิน ฯลฯ – และพร้อมกันนั้น ก็ทำความรู้จักตัวเองในฐานะซับเซตหนึ่งของมนุษยชาติ — ผู้คนในสวนสาธารณะ ปาร์ตี้ การอยู่ร่วมกันแบบนานาชาติในบ้านพัก ความโหดร้ายของค่ายเอาชวิตซ์ –  แน่นอน บางครั้งผู้อ่านอย่างเราก็ค้างเติ่งอยู่ในห้วงคิดคำนึงเหล่านั้น อาจเพราะพวงสร้อยขวยเขินเกินกว่าจะเขียนประโยคสรุปสุดคมที่ย่อหน้าสุดท้าย แต่เราชอบให้มันเป็นแบบนั้น เหมือนช่วงเวลาที่ดื่มเบียร์กันกรึ่มๆ เต็มที่ และเราก็พูดในสิ่งที่อยากเล่า โดยปล่อยบทสรุปให้ล่องลอยในแก้วเบียร์

ธนชาติ ศิริภัทราชัย เขียนในคำนิยม เรียกพวงสร้อยว่า ‘น้องโรสคนเหงา’

อารมณ์หลักของเรื่องก็เป็นแบบนั้น แต่พวงสร้อยมีอะไรเล่าสู่กันฟังมากกว่าความเหงา มันคือความเหงาที่ทำให้เกิดช่วงเวลาครุ่นคิด

เธอไม่ได้เป็นแก้วว่างเปล่าที่พาตัวเองไปตักเบียร์เยอรมันจนเต็มปรี่ แต่พกพาเรื่องราวที่บ้านไปใช้ชีวิตต่างแดนด้วย (อาจจะเป็นปกติของหนังสือแนวนี้ก็ได้ เราไม่แน่ใจ) นี่คือหนังสือเล่าเรื่องประสบการณ์เรียนต่อนอกที่พรั่งพร้อมด้วยโลกออนไลน์ในฝ่ามือ สังคมประเทศไทยยังอยู่ตรงนั้น รอให้เธอก้มหน้ามองยามเหงา บางครั้งก็เงยหน้ามาเปรียบเทียบกับโลกที่รายล้อม และโมเมนต์แบบนั้น บางทีก็ทำให้เราอมยิ้ม

แปลกจริง ทั้งๆ ที่เรื่องราวในนั้นทำให้เรารู้สึกว่าการไปเรียนต่อเยอรมนีมันเหนื่อยยากแสนเข็ญ ผ่านน้ำตาและเสียงถอนหายใจมากมาย ไม่ใช่เรื่องสนุกหรือตลกโปกฮาอย่างการไปเที่ยวทริปสั้นๆ

แต่พออ่านจบ เรากลับรู้สึกว่า ชีวิตมีอะไรสอนเราอีกเยอะ และหนึ่งในเส้นทางนั้นคือการพาตัวเองไปใช้ชีวิตไกลๆ บ้าน

เอาน่า เป็นทางเลือกที่เกร่อแล้ว แต่มันก็มีเสน่ห์เสมอไม่ใช่หรือ …หาทุนแป๊บ

ป.ล. พวงสร้อยรำพึงในประวัติผู้เขียนท้ายเล่มว่าคิดถึงข้อไก่ทอดบ้างเป็นระยะ อ่านแล้วก็อยากจะชนแก้วสักหน่อย … เออ หนังสือเล่มนี้มันทำให้เรารู้สึกสนิทกับเธอประมาณนั้นแหละ

 

 

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.