เฟร็นเนมี และ ซิซีฟัส

เงินแปดร้อยบาทในบัญชี

เช้าวันหนึ่งในช่วงปลายๆ เดือน เราเผลอบ่นเรื่องเงินกับพ่อ เป็นต้นว่า งานบางชิ้นที่รับมานั้นให้ค่าตอบแทนน่าน้อยใจ

ไม่ใช่ว่าอัตคัด หรือร้อนเงินเร่งด่วน (แม้จะมีเหตุการณ์แบบนั้นบ้าง) แต่เพราะค่าของเงินถูกนำมาแปลงสกุลเป็นคุณค่าชีวิตและความสามารถของตัวเองอย่างไม่ตั้งใจ

พ่อรีบตำหนิด้วยการเล่าเรื่องคนอื่น เล่าถึงเรื่องลูกน้องใหม่สองคนที่เพิ่งรับเข้ามาในบริษัท พ่อเริ่มต้นงานด้วยการสอนวิศวกรหนุ่มอายุรุ่นเดียวกับเราสองคนด้วยคำพูดง่ายๆ ว่า 4 ปีแรกของการทำงาน อย่าเพิ่งคิดเรื่องค่าจ้างเป็นเรื่องหลัก รีบเรียกค่าตัวตัวเองสูงเพราะคิดว่ามีสิทธิ์เรียก เพราะนั่นอาจปิดโอกาสการเรียนรู้หลายสิ่งที่จำเป็นต้องรู้และต้องใช้ทำงานในอนาคต

ก็เพราะไม่คิดว่ากำลังเรียนรู้อะไรเพิ่ม แต่คิดว่าทำงานอะไร ให้ใครอยู่ พวกเราจึงคิดเรื่องเงินเป็นหลัก และยังมาบวกรวมกับพวกความน้อยใจเล็กๆ น้อยๆ ของชีวิตนั่นด้วย

มันยั่วยุให้เราเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน

คนนั้นสามหมื่น คนนี้หนึ่งแสน แล้วเราล่ะ กำลังทำอะไรอยู่หนอ

เข็นหิน

“ช่วงนี้เราคิดเรื่องความโดดเดี่ยว”

รุ่นพี่นักเขียนคนหนึ่งพูดในค่ำคืนเหงา จิ้มเฟรนช์ฟรายส์แห้งๆ ลงซอส เคี้ยวหยับๆ แล้วค่อยกรองความคิดผ่านปากอย่างช้าๆ อย่างที่เขาชอบทำ แทนที่จะเขียน เขากลับอยากถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดให้เราฟัง

เขาบอกว่า มนุษย์เราปิดซ่อนความโดดเดี่ยวด้วยการหาใครสักคนมาเคียงข้างเพื่อ “สะท้อน” ตัวตนของตัวเอง เช่น คนแก่ๆ ที่อยู่ร่วมกันมานานจนอากัปกิริยา บุคลิก ริ้วรอยบนใบหน้าเลียนแบบกัน

แต่เมื่อใครคนหนึ่งตายจากไป ความโดดเดี่ยวที่ขุดหลุมฝังไม่ได้และมีอยู่จริงเสมอจึงผุดโผล่ขึ้นมา

เราโดดเดี่ยว – นั่นคือความจริง – คือถ้อยคำที่แค่คิดก็โหวงเหวง และโหรงเหรง

เราต้องการคนรอบๆ กายก็เพียงเพื่อมาคอยยืนยันคุณค่าชีวิตของเรา เพราะเราไม่สามารถทำอย่างนั้นด้วยตัวเองได้ง่ายๆ ถ้อยคำธรรมะไม่ได้มีความหมายสำหรับทุกคน

“เรานึกไปถึงเรื่องราวของซิซีฟัส ที่ถูกสาปให้เข็นหินขึ้นภูเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

ชีวิตคนเราก็คงเป็นอย่างนั้น ยากมากที่จะเพียงแค่มีความสุขไปกับกระบวนการการเข็นหิน หากรู้ว่าจะต้องทำเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก และปลายทางบริบูรณ์ไม่มีจริง เพราะอีกครั้ง และอีกครั้ง และอีกครั้ง ที่เราต้องวนกลับมาเข็นมันใหม่

ความซ้ำซากคือสิ่งที่ทำให้มันไม่มีความหมาย ใช่ ชีวิตไม่มีความหมาย และความจริงนั้นเศร้า

เขากวาดผักกาดดองกองหนึ่งเข้าปาก ตามด้วยไส้กรอก ระหว่างที่ผู้คนกำลังเก็บกองหนังสือและรื้อบูทในงานหนังสือกันโครมคราม

เพื่อที่จะได้กลับมาค้าขายกันใหม่อีกครั้ง ผ่านกระบวนการทำหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่า และลุ้นว่าจะประสบความสำเร็จกับมันมากน้อยเพียงใด

ใครคนหนึ่งเข็นชักโครกผ่านไป ทิ้งความฉงนไว้ในหัวเราสองคน

000029

friendenemy

“สองคนนั้นเขาเป็นเฟร็นเนมี่กันนะ”

“พอคนหนึ่งดูดีขึ้น อีกคนก็ต้องเลิศตาม เธอก็เห็น”

เพื่อนสาวขาเมาธ์ของเราพวกกันสนุกสนาน นี่คืออีกกลุ่มสนทนาซึ่งเราแทบไม่มีข้อมูลใดมาแลกเปลี่ยน แต่ก็ติดตามเรื่องราวอย่างเกาะติด

พวกเธอกำลังพูดถึงเพื่อนสนิทสองคน (อย่างน้อยก็ในสายตาคนทั่วไป) ว่าลึกๆ แล้ว พวกเขาแข่งกันอยู่ และเป็นศัตรูกันทั้งรอยยิ้ม

แวบแรก เราคิดขึ้นว่า “คนเราจะทำแบบนั้นไปทำไมกันวะ ประหลาด!”

แต่วินาทีต่อมา เราก็คิดว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นทั่วไป

เพียงแต่เราไม่ได้แข่งกันสวย แข่งกันลดหุ่นหรือแต่งหน้า เราแข่งกันด้วยการเปรียบเทียบเสมอๆ กับทั้งเพื่อนสนิทและไม่สนิท ทั้งมิตรที่ทำดีกับเรา และศัตรูผู้แช่งเราอย่างซึ่งๆ หน้า

ไม่ได้ประสงค์ร้ายต่อใคร พวกเราแค่พยายามหามาตรวัดคุณค่าชีวิตตัวเอง โดยเลี่ยงไม่พ้นที่จะมีคนอื่นเป็นไม้บรรทัดนั้น

แต่ไม้บรรทัดก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เราต้องหาคู่แข่งรายใหม่

ยิ่งซ้ำ ยิ่งย้ำ

ว่าการกระทำนี้ไม่มีความหมาย

… หรือว่ามันจะมี?

เมทรอนอม

“แล้วเภาเล่นกีตาร์ ไม่รู้สึกสนุกหรอ” มะลิ ตัวละครใหม่ในฮอร์โมนส์ ซีซัน 3 พูดขึ้น

อาจเป็นคำพูดคลีเช่ก็ได้ แต่คลีเช่ที่มาถูกจังหวะก็อาจช่วยเป็นสารส้มที่เร่งให้ความว้าวุ่นในหัวของเราได้ตกตะกอน

ตอนที่แล้ว เภาเอากีตาร์ไฟฟ้าเก็บเข้าตู้ เพราะเห็นเพื่อนเล่นได้ดีกว่า เก่งกว่า เขาไม่มีทางเป็นแบบนั้น แม้จะพยายามข้ามวันข้ามคืน

ฉากที่เขายืนประลองกีตาร์ลมโดยลำพังในฝั่งหนึ่งประจันหน้ากับเพื่อนซึ่งอยู่บนเวที ทำให้เรารู้สึกขนลุก

เราคงหาใครสักคนใกล้ตัวเป็นไม้บรรทัด แต่โลกเรานั้นใหญ่นัก ถ้าให้วัดกันจริงๆ เราก็ไม่ต้องทำอะไรเลย เป็นซิซีฟัสที่นอนพิงหิน เพื่อไม่ให้เปลืองแรง

แต่ความทุกข์ก็น่าจะเกิด เพราะลมหายใจยังมี แต่การมีชีวิตกลับไม่มีประโยชน์ใดๆ

ไม่ได้สร้างแม้แต่ “วงจรของการเข็นหินและปล่อยให้หินตกลงมา”

บางที คำถามที่ว่า เภาอยากเด่น หรือ เภาชอบเล่นกีตาร์ อาจเป็นคำถามที่ผิดตั้งแต่ต้น เพราะมันอาจเป็นไปได้ทั้งสองอย่างพร้อมๆ กัน เขาชอบเล่นกีตาร์ แต่ก็ไม่ผิดถ้าจะอยากได้รับการยอมรับจากสิ่งที่ตัวเองลงแรงทำลงไป

แม้บทเพลงที่เล่นจะซ้ำๆ แม้คอร์ดที่เกิดขึ้นจะไม่ได้สร้างอะไรใหม่ แม้การเล่นกีตาร์ครั้งนี้จะไม่ได้ทำให้เขาได้ขึ้นไปเฉิดฉายบนเวที แต่มันก็มีความหมาย ถ้าเขาไม่รีบฟูมฟายไปกับไม้บรรทัดที่ผิดสเกลเสียก่อน

ไม้บรรทัดที่ผิดสเกล

เรากำลังอยู่บนเส้นทางการเรียนรู้ที่คนหลายคนในวัยเดียวกันหันหลังให้แล้วไปทำสิ่งอื่น และเขาอาจไม่มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องนี้อีก ส่วนเรากำลังมีความได้เปรียบนั้น

แต่เรากลับวัด “เธอ-ฉัน” ง่ายๆ ด้วยค่าตอบแทนที่ต่างคนต่างได้รับ

ถ้าอย่างนั้นเราคงตั้งตนเป็นเฟร็นเนมีกับทุกคน และแทบไม่ได้พัฒนาอะไรเลย

เราลืมไปว่าเรามาอยู่ตรงนี้ทำไม มันไม่มีไม้บรรทัดสากลซึ่งหาได้ง่ายๆ นอกจากเงิน เราเลยเผลอหยิบมาใช้จนนิสัยเสีย

เราลืมไปว่าเราก็ยังมีความสุขกับการได้ทำในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นะ เพราะดันไปหัวเสียกับเรื่องปกิณกะเสียก่อน

The Rock Not Taken

เรากินซูชิโรลคำสุดท้าย ซดกาแฟ เดินออกมาจากบ้านเพื่อไปขายหนังสือที่งานหนังสือ ทบทวนความคิดของพ่อในหัว

การคิดแค่ว่าตัวเองกำลังโดนเอาเปรียบ กับการคิดว่าเรากำลังมีโอกาสได้ทำสิ่งใหม่ในวัย 20 ต้นๆ แบบนี้ อาจเปลี่ยนให้เราเป็นคนละคนในสองเส้นทางเลยก็ได้

แต่แน่นอน ไม่มีคำสอนสั้นๆ ใดๆ ที่บริบูรณ์ในตัวมันเอง ต้องมีเครื่องหมายดอกจันเล็กๆ กำกับไว้เสมอว่า “ผู้ลงทุนควรหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนลงทุน” และเผอิญ ข้อมูลนั้นก็มากมายในมหาสมุทรแห่งข้อมูล

เราจึงพกวิจารณญาณ (ที่อาจเจือปนอคติ) และความระแวดระวังไปพบปะกับผู้ใหญ่ใจดีหลากหลายรูปแบบนั้นอยู่เสมอ

ที่สำคัญ เลือกก้อนหินที่พร้อมจะเข็นมันซ้ำๆ แล้วไม่กลับมาด่าตัวเองทีหลัง แม้ว่าอาจจะถอนหายใจเหนื่อยหน่ายกับมันซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ก็ตาม

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.