อ่านเรื่องแปล: ฤทธิ์เลือดเสปญ

เรย์มันด์ แชนเดลอร์ เขียน

ประมูล อุณหธูป แปล

สำนักพิมพ์ทับหนังสือ

พิมพ์ปี 2560


ฤทธิ์เลือดเสปญ เป็นเรื่องนักสืบขนาดสั้น (หรือเราอยากจะเรียกว่าเรื่องสั้นขนาดยาว) เรื่องหนึ่งที่แปลมาจากหนังสือ The Simple Art of Muder หนังสือรวมเรื่องของเรย์มันด์ แชนเดลอร์ (Raymond Chandler) ซึ่งนักแปลรุ่นใหญ่อย่างคุณประมูล อุณหธูป แปลเอาไว้ตั้งแต่ปี 2524 ลงในนิตยสาร ลลนา 

ความตื่นตาของเล่มนี้ก็คือ ความเรียง “วรรณศิลป์สามัญของการฆาตกรรม” ซึ่งแชนเดลอร์เขียนเอาไว้ในเล่มต้นฉบับ และได้มีการนำมาบรรจุในเวอร์ชันภาษาไทยนี้ด้วย ในความเรียงนี้ เขาจิกกัดวงการเรื่องสืบสวนอย่างแสบคัน แบบที่นักเขียนสมัยนี้จะเรียกกันว่า “แซะ” แล้วทำปากเบ้ๆ รอดูว่าตานี่จะเขียนเรื่องสืบสวนได้ดีกว่านักเขียนที่โดนวิจารณ์เท่าไหร่กัน หรือจะโดนเหยียบซ้ำเพราะก็ดีแต่พูดนี่หว่า

เช่น

เรื่องสืบสวนคุณภาพกึ่งดิบกึ่งดีก็ไม่ได้แย่ไปกว่านวนิยายทั่วไปที่มีคุณภาพกึ่งดิบกึ่งดีเลย ต่างกันตรงที่ว่านวนิยายทั่วไปคุณภาพกึ่งดิบกึ่งดีเค้าจะไม่ยอมตีพิมพ์กัน แต่ถ้าเป็นเรื่องสืบสวนก็กลับพิมพ์ขายกันเป็นล่ำเป็นสัน บางเล่มขอให้มีภาพหน้าปกหวือหวาเร้าใจก็พอแล้ว

ไม่ใช่แค่วิจารณ์วงการวรรณกรรมสืบสวนโดยรวม แต่แชนเดลอร์ยังกล้าเอ่ยชื่อนักเขียนที่วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา

ยังมีอีกเรื่องของคุณโดโรธี เซย์เยอร์สเขียนถึงชายผู้หนึ่งถูกฆาตกรรมขณะอยู่บ้านคนเดียวด้วยกลไกประหลาดล้ำ … หากยืนผิดตำแหน่งหรือก้มผิดมุมไปไม่กี่องศา กลไกก็อาจทำงานไม่สำเร็จ คือถ้าจะฆ่าคนด้วยวิธีลำบากลำบนขนาดนี้ผมว่านอนอยู่บ้านน่าจะดีกว่า

เราเพลิดเพลินกับความเรียงที่ว่านี้มาก เพราะนอกจากเป็นการแซะที่ชวนพยักหน้าเห็นด้วยแล้ว ในความเรียงยังเอ่ยชื่อเรื่องสืบสวนอื่นๆ ที่น่าไปตามอ่าน เหมือนบทความวรรณกรรมดีๆ ชิ้นหนึ่ง แชนเดลอร์ยังยกย่องเรื่องสืบสวนแบบอังกฤษด้วย ซึ่งใส่ใจกับรายละเอียดแวดล้อมมากกว่ามุ่งผูกปมและคลี่คลายเรื่องตามตรรกะ (หรือในความเรียงคือ นิรนัย) จนเสียอรรถรสด้านอื่นๆ

เนื้อเรื่อง ฤทธิ์เลือดสเปญ เกี่ยวกับนายตำรวจเชื้อสายสเปนชื่อ เดลาเกวร์รา เข้าไปทำคดีของเพื่อนรักสมัยเด็กซึ่งขณะเกิดเหตุเขาเป็นนักการเมืองกำลังจะเข้ารับการเลือกตั้ง แต่ถูกฆ่าตายเสียก่อน ผู้ต้องสงสัยอันดับแรกหนีไม่พ้นผู้ลงแข่งอีกฝ่ายซึ่งมีอิทธิพล (และออกจะดูเถื่อนๆ แบบมาเฟียใต้ดิน) แต่แล้วเดลาเกวร์ราก็โดนหัวหน้าสั่งให้วางมือจากคดีนี้ เหตุเพราะเขามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ตาย แม้เดลาเกวร์ราจะทำตามนาย แต่ไปๆ มาๆ พอเริ่มได้กลิ่นทะแม่งๆ เขาก็อดไม่ได้ที่จะถลำลึกเข้าไปในการต่อสู้และสืบเสาะหาคนร้าย สืบจากปากคนโน้นทีคนนี้ที จนร้อยเรื่องเข้าด้วยกันได้

เดลาเกวร์รามีบุคลิกที่น่าสนใจคือ เขาไม่เคยยิงใครตายหากไม่เข้าตาจนจริงๆ ถึงขนาดโดนปืนจ่อ หมายความว่าแม้จะโดนเข้าปะทะแต่ก็พยายามเลี่ยงใช้วิธีอื่นๆ เพื่อเข้าถึงความจริงก่อน

อีกอย่างก็คือ แม้จะเป็นตำรวจและรักความยุติธรรม แต่เขาก็ยอมรับปรับตัวอยู่ในสังคมอยุติธรรมอย่างแนบเนียน รู้ว่าเกมไหนที่เล่นได้ เกมไหนที่ต้องวางตัวเฉยและเงียบไป ปล่อยให้สังคม (ที่ต่ำทราม) ทำงานในแบบของมัน

ความไม่ใสสะอาดก็ยังมีแม้แต่ภายในตัวเขาเอง หลายต่อหลายครั้งก็บุกเข้าบ้านคนอื่นแบบไม่ต้องง้อหมายจับ และเข้าจับกุมทรมานคนอื่นทั้งๆ ที่โดนยึดตราตำรวจไปแล้ว ทั้งหมดนี้นักศึกษากฎหมายอาจเกาหัวแกรกๆ

เดลาเกวร์รายังพูดเน้นเชื้อชาติของตัวเองและผู้อื่นยังชัดเจน แบบที่เราจะสะดุ้งหน่อยๆ ว่าเอ๊ะนี่ไม่พีซีหรือเปล่านะ ที่สะดุ้งที่สุดคือตอนด่าผู้ร้ายชาวฟิลิปปีโนว่า “ไอ้หน้าเหลือง” หรือ “สปิ๊ก” ซึ่งเป็นคำแสลงไว้เรียกชนชาติอื่น

เท่าที่จำได้ เราไม่เคยอ่านงานแปลของคุณประมูล อุณหธูป มาก่อน นี่จึงเป็นการอ่านที่ทำให้เราอู้หูอ้าหาอยู่พอสมควร เรารู้สึกเอ๊ะตั้งแต่คำว่า “เสปญ” บนหน้าปกแล้ว พอพลิกเนื้อในก็เข้าใจได้ทันที สำนวนแปลให้ความรู้สึกคลับคล้ายการอ่านงานสไตล์คุณ ‘รงค์ แต่ไม่เหมือนซะทีเดียว ทำให้คิดว่านักเขียน-นักแปลสมัยนั้นน่าจะมีความกล้าหาญในการสร้างคำของตัวเองมากกว่าเราๆ ที่ต้องคอยปรึกษาคลังคำเพราะกลัวโดนชี้หน้าว่าทำภาษาวิบัติ

จะมองเป็นข้อดีว่าเปิดมุมมองด้านภาษาก็ได้ เพราะแทบจะไม่เจอประโยคดาดๆ ซ้ำๆ ที่ใช้กันทั่วไปในยุคนี้ แต่สำหรับบางคนอาจจะรู้สึกติดขัด รู้สึกว่ามันไม่ไหลลื่น ต่อเมื่อคุ้นชินแล้วจะพบว่าคำที่เลือกมานั้นสะท้อนอากัปกิริยาและบรรยากาศต่างๆ ได้เห็นภาพชัดในตัวเองโดยไม่ต้องอธิบายเพิ่ม หากแชนเดลอร์มีความตั้งใจจะให้องค์ประกอบด้านภาพและเสียงโดดเด่น เรียกได้ว่าคุณประมูลก็ตอบสนองได้อย่างเต็มไม้เต็มมือ เช่นการใช้กริยา “ปืนโดกเดกขึ้นมา” เป็นต้น

ยกตัวการถอดเสียงในเรื่องนี้ Mister Sam จะถอดออกมาเป็น มิสตะ แซม แต่ที่เหวอกว่านั้นคือ “Mrs” ที่ถอดออกมาตรงๆ ว่า “มรส” ซึ่งอ่านรอบแรกถึงกับมุ่นคิ้วสงสัย

สำหรับเนื้อเรื่อง ในฐานะเรื่องสืบสวนก็ไม่หวือหวาเท่าไร อาจเพราะเป็นงานเขียนรุ่นเก่าที่พล็อตยังไม่ซับซ้อนนัก ในฐานะคนที่มีพ่อชอบดู NCIS ก็อาจจะเฉยๆ อ่านแล้วไม่ติด และแชนเดลอร์ก็ออกตัวว่าจะไม่ได้มาเน้นหลักวิทยาศาสตร์อะไร เพราะนักเขียนที่ดื้อดึงจะเขียนเรื่องซึ่งตัวเองรู้ไม่จริงนั้นจะทำให้เสื่อมเสียเปล่าๆ คือต้องรู้ตั้งแต่ปฏิกิริยาทางเคมีของสสารที่เกี่ยวข้อง การทำงานภายในระบบตำรวจ จิตวิทยาของมนุษย์ ฯลฯ

แม้เนื้อเรื่องจะไม่เร้าใจ แต่เราชอบการบรรยายในเรื่อง อากัปกิริยาต่างๆ เหมือนเป็นตัวฉายภาพความทุกข์ ความเศร้า ความเดือดดาล ฯลฯ ซึ่งละเอียดลออแต่ไม่ยืดยาด (อาจเพราะสำนวนแปลกระชับด้วย) ฉากที่นึกภาพตามในหัวได้แบบมองหมุนไปรอบๆ

สรุปคือหนังสือเล่มนี้บางและรับประกันว่าอ่านจบง่าย ปกก็สวย ออกแบบโดย Ideogram Creative  แต่จะชอบไหมก็เป็นอีกเรื่อง เพราะเป็นงานเก่า เก่าทั้งสไตล์การเล่าเรื่องและสำนวนแปล

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.