คาชีโกกี: พ่อปลาที่มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อเห็นลูกรอด

มองตัวเลขในลิฟต์อาคารหมอบรัดเลย์พาขึ้นไปที่ชั้น 13 แผนกหู คอ จมูก ระหว่างปล่อยหัวให้คิดว่าค่ารักษานัดนี้จะเท่าไรกันนะ จะพอกับเงินในบัญชีบัตรเดบิตที่ใช้ประจำไหม

ไม่อาจคาดคะเนค่ารักษาพยาบาลให้กับโรคที่ไม่เคยเป็นในโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่เคยมาได้ นี่คือช่องว่างความไม่รู้ระหว่างผู้ป่วย (ลูกค้า) กับแพทย์ (ผู้ให้บริการ) ที่ถ่างกว้าง ระหว่างหลายปีที่แพทย์คนหนึ่งตรากตรำเรียนศาสตร์นี้มา กับคนธรรมดาที่เสิร์ชหาข้อมูลคร่าวๆ ในอินเทอร์เน็ต

รัฐสวัสดิการดูจะเป็นความฝันที่ห่างไกล ทุนนิยมเป็นเงื่อนไขที่แลกด้วยความเจ็บใจกับทางเลือกในอดีตที่ทำให้เราต้องยอม แล้วพยายามรักษาสุขภาพตัวเองเท่าที่ทำได้

สำหรับคนคนหนึ่ง จะเป็นโรคร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง ก็อยากกลับเป็นปกติให้เร็วที่สุด ไม่ว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรัฐจะมีความเห็นว่าอย่างไร บางครั้งเมื่อได้ยินเรื่องราวการเข้าคิวอันแสนยาวนาน ทั้งที่ร่างกายไม่ปกติอยู่แล้วเพื่อหวังค่ารักษาที่ไม่โหดร้ายเกินไป ก็ทำให้นึกเห็นใจ ‘พ่อปลาคาชีโกกี’ ในนิยายเล่มที่ถืออยู่

กาซีโกกี

ศักดิ์ศรีในโลกที่ชีวิตยื้อได้ด้วยเงิน

พ่อของทาอุม ในนิยายเกาหลีเรื่อง คาชีโกกี กำลังร้องขอกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของโรงพยาบาล ว่าอย่าเพิ่งระงับการรักษาลูกของเขา หากเขายังไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ที่ค้างโรงพยาบาลไว้ได้ตามเส้นตาย

ชองโฮยอน หรือพ่อของทาอุม เด็กชาย 10 ขวบที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว พยายามทุ่มเททรัพย์สินทั้งชีวิตที่เขามีให้กับการยื้อชีวิตลูกมาต่อเนื่องยาวนาน ดูเหมือนคนเล่นหุ้นที่พยายามถอนทุนคืนท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจอย่างสิ้นหวัง

แต่ทาอุมมีความหมายมากกว่าหุ้น คือเหตุผลที่ทำให้เขายังอยากมีชีวิตอยู่ แม้จะเป็นกวีที่หลงทางมาจากความฝันไกลเกินจะกลับไป เป็นนักเขียนและนักแปลอิสระที่ต้องคอยตามง้อตามทวงเงินค่าต้นฉบับ และต่อรองกับลูกค้าที่ปฏิเสธจะจ่ายตามสัญญา เพียงเพราะงานรับเขียนชีวประวัติที่เขาค้นคว้าข้อมูลมาเขียน ‘ตรงกับความจริงจนเกินไป’ จนทำให้ชีวิตของผู้ว่าจ้างดูไม่น่าสนใจ

เขาไม่เหลือศักดิ์ศรีในวิชาชีพให้เดินตามเท่าไรนัก ยังเหลือแต่หนึ่งชีวิตที่อยากรักษาเอาไว้

คาชีโกกี แทงใจ ทั้งในฐานะผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาล และนักเขียนที่พยายามอย่างยิ่งที่จะใช้ชีวิตทรนง จนกระทั่งวันที่พบว่าศักดิ์ศรีนั้นไร้ความหมายสิ้นดี เมื่อเจอใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลคนที่เขารัก และพบว่า ไม่มีทางเลยที่จะจ่ายได้

“นอกจากผม ยังมีเจ้าหน้าที่อีกหลายคนที่จับตามองเคสคนไข้ที่ค่ารักษาพยาบาลสูง พูดกันตามจริง โรงพยาบาลก็เป็นธุรกิจอย่างหนึ่งนี่ครับ” เจ้าหน้าที่การเงินบอกกับเขาอย่างนั้น

ผู้เขียนนิยายเล่มนี้วางตัวละคร ชองโฮยอน ให้เป็นเหมือนเหยื่อของทุกอย่างที่มีทุนนิยมเป็นฐาน ตั้งแต่สถาบันครอบครัว (พ่อยื่นยาเบื่อหนูให้กินแต่เด็กเพราะไม่มีปัญญาเลี้ยง ภรรยาทิ้งไปเพราะรายได้ต่ำเตี้ยของเขา) การแพทย์ (ค่าปลูกถ่ายไขกระดูกลูก 40 ล้านวอน) และอาชีพนักเขียน (เงินค่าจ้างที่แค่พออยู่ได้ และข้ออ้างว่าวงการสิ่งพิมพ์อยู่ในขาลงเรื่อยไป)

เขาโดนลงโทษซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยมีชีวิตปวกเปียกของเด็กชายทาอุม คอยเล่าเรื่องอีกมุมแบบเด็กฉลาดให้ผู้อ่านบางคนสะเทือนใจตาม

คาชีโกกี

เด็กน้อยทาอุมบอกว่า เขาเคยได้อ่านเรื่อง ปลา ‘คาชีโกกี’ ที่มีวงจรชีวิตแสนประหลาดในสารานุกรมสำหรับเด็ก แม่ปลาจะวางไข่ทิ้งไว้แล้วว่ายหนีไป เหลือแต่พ่อปลาที่คอยดูแลไข่เหล่านั้นจนฟักออกมาเป็นตัว เมื่อภารกิจสำเร็จ พ่อปลาจะฆ่าตัวตาย

มันทำให้เขานึกถึงพ่อของเขา  

คาชีโกกี โดดเด่นในเรื่องการใช้ความเปรียบมาอธิบายความคิดความรู้สึกอันหม่นเศร้าของตัวละคร กลายเป็นหนังสือขายดี ทำยอดขายสองล้านเล่มในเกาหลี นับแต่ปีแรกที่วางจำหน่ายคือปี 2000

ไม่ใช่ความเศร้าแบบที่พระเอก-นางเอกมีความสุขกันมา 3 ส่วน 4 ของเรื่อง แล้วมาหักมุมว่าฝ่ายหนึ่งเป็นโรคร้าย คงไม่รอด ในตอนจบ แต่เปิดฉากมาด้วยการต่อสู้ของชายคนหนึ่งที่ไม่ได้มีต้นทุนทางสังคมมากนัก เหมือนถือไม้จิ้มฟันไปสู้กับรถถัง

ความเป็นกวีของนักเขียนและความเป็นกวีของตัวละครที่เป็นนักเขียน จึงกลั่นออกมาเป็นการบรรยายความเศร้าและปลงในแบบกวี

อย่างไรก็ตาม ตัวละครในหนังสือยังมีจุดที่ขัดใจ ชองโฮยอน พ่อของทาอุมนั้นแสนดีเกินไป ทั้งต่อลูกชายและคนรอบข้างเขา ส่วนตัวละครแม่ของทาอุมก็ร้ายกาจเกินไป เห็นแก่ตัวเกินไป จนทำให้นึกถึงพิไลในละครเรื่อง กรงกรรม ที่ไม่ว่าอย่างไร ผู้เขียนก็ไม่พยายามหาเหตุผลอีกด้านของแม่ทาอุม ว่าอะไรทำให้เธอเป็นแบบนี้ ไม่มีมุมที่จะให้เราได้คิดทบทวนหรือแอบเห็นใจเธอสักหน่อย

เรียกว่าเป็นตัวละครที่ร้ายแบบไม่มีมิติ ร้ายเพื่อให้คนดูเกลียดชังและปาไข่ใส่ความอยุติธรรมในเรื่องอย่างหน้าดำหน้าแดงไปด้วย หรือคอยร้องไห้ไปกับชองโฮยอน เมื่อเขาต้องพ่ายแพ้ให้กับเรื่องทั้งหมดนี้

ระยะห่าง ทางการแพทย์

ที่สะกิดใจยิ่งกว่า คือบทสนทนาระหว่างคนเป็นพ่อกับหมอมิน ซึ่งอาจทำให้เกิดข้อถกเถียงกันระหว่างคนไข้กับหมอในยุคปัจจุบัน

“ผมไม่บังคับคุณอยู่แล้วนี่ครับ ทุกอย่างแล้วแต่การตัดสินใจของเจ้าของไข้”

หมอมิน ไม่ใช่สิ หมอสมัยใหม่ก็เป็นแบบนี้กันเสมอ ตัดสินใจอะไรกันล่ะ ในเมื่อหมอขีดเส้นวงล้อมกรอบผู้ป่วยกับเจ้าของไข้เอาไว้ให้ไปไกลได้เท่าที่หมอกำหนด ถึงหมอมินจะทรงคุณวุฒิด้านการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่เขาก็เป็นแค่หมออยู่ดี หมอที่อยู่ในสังกัดเดียวกับหมอสมัยใหม่ ผลจากการเลือกของเจ้าของไข้จึงอยู่ในขอบเขตจำกัดของวิทยาการการแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ใช่ปัญหาที่หมอมินจะต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด

ชองโฮยอน อาจพาลูกเข้ามาสู่มือแพทย์ด้วยความหวังและศรัทธา แต่เมื่อพบว่าจริงๆ แล้วแพทยศาสตร์ก็เป็นองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่จำกัด ไม่ใช่ยาสารพัดนึก แต่ต้องเดิมพันกับความเจ็บเจียนตายของผู้ป่วยและเงินเป็นล้านๆ วอน โดยที่เขาต้องยอมก้มหน้ารับสภาพแต่ผู้เดียว หากผลที่ออกมาไม่เป็นไปดังใจ

หมอมินบอกตัวเลขเปอร์เซ็นต์รอดชีวิตชัดถ้อยชัดคำทุกครั้ง …นั่นหมายความว่า หากไม่รอด มันก็อยู่ในโอกาสในเปอร์เซ็นต์ที่เหลือ และคนเป็นหมอไม่ผิด

เนื้อความนี้ทำให้นึกถึงหนังสือแนวสารคดีที่ชื่อ ตาย-เป็น: การแพทย์สมัยใหม่ ความตาย และความหมายของปลายทางชีวิต ซึ่งทำให้เราคิดใหม่เกี่ยวกับการรักษาอาการของผู้ป่วยใกล้ตาย เขียนจากมุมมองหมอ ชี้ให้เห็นว่าวิทยาการที่เราเรียกว่า ‘การแพทย์’ อาจเป็นสิ่งที่ซ้ำเติมชีวิตบั้นปลายของใครคนหนึ่งที่เจ็บปวดอยู่แล้วให้ยิ่งทุรนทุราย ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนในที่สุดก็บานปลายไปทำร้ายคนรอบข้าง

ทั้งที่วิธีการในการตายอย่างสงบหรือตามธรรมชาติแบบดั้งเดิม แม้จะดูว่าสะท้อนความสิ้นหวังในมุมมองการแพทย์สมัยใหม่ แต่มันก็มาพร้อมกับชัยชนะในการปล่อยวาง

สังคมสอนให้เราไม่ยอมแพ้ต่อการมีชีวิต กระทั่งไม่สามารถใช้ห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ เพราะมัวแต่ดิ้นรน ขัดขืน ใช้สารพัดเครื่องมือเข้าไปชำแหละ แผดเผา ทะลวง เพื่อหวังเอาลมหายใจกลับมาจากโรคร้าย

แม้จะคิดได้อย่างนั้น แต่ตัวเลขเปอร์เซ็นต์อัตราการอยู่รอดที่ออกจากปากหมอมิน เป็นสิ่งที่พาชองโฮยอนและลูกชายของเขามาไกล ไกลจนรู้สึกว่าน่าเจ็บใจเกินไปถ้าจะต้องยอมแพ้กลางทาง คนอ่านอย่างเราเลยได้แต่ลุ้นตัวโก่งให้เขาพ้นจากความตาย ทั้งที่รู้ว่าตอนจบแบบสุขสันต์นั้นคงไม่ได้มีแค่แบบเดียว

“วันนี้ที่ใครอื่นใช้สูญเปล่า คือชีวิตพรุ่งนี้ของผู้ดับสิ้นคนเมื่อวานเคยปรารถนาจะมีสุดหัวใจ” คือข้อความที่ผู้ป่วยหนักในอดีต เขียนไว้ตรงผนังข้างเตียงทาอุม

แม้จะเป็นวันหนึ่งวันที่คนก่อนหน้าอยากจะมี แต่ใครจะตัดสินได้ว่าการใช้เวลาอย่าง ‘สูญเปล่า’ ของแต่ละคนคืออะไร

การใช้ชีวิตอย่างดื่มด่ำกับปัจจุบัน แต่หมดหวังนั้นกับอนาคตแล้วนั้น สูญเปล่าไหม

การกระเสือกกระสนให้อยู่รอด แต่ผ่านเลยเป็นเพียงภาพพริบตา สูญเปล่าหรือไม่

ไม่รู้ว่าสำหรับพ่อทาอุม การใช้วันเวลาแต่ละวันของเขา ออกไปดั้นด้นหางานหาเงินมาจ่ายค่ารักษาที่แผนกการเงิน แผนกที่ดูช่างแยกส่วนและห่างไกลจากห้องทำงานของหมอมิน ผู้ชอบนั่งดื่มชาเขียวในโลกที่หยุดนิ่ง จะเรียกว่าเป็นชีวิตที่ใช้ไปอย่างสูญเปล่าหรือไม่

เขาอาจตีค่าเวลาชีวิตของตัวเองเป็นเพียงการนับถอยหลังเพื่อได้เห็นลูกรอด แม้ตัวเองจะไม่เหลืออะไรให้ดำเนินชีวิตต่อ เป็นเหมือนดังพ่อปลาคาชีโกกี และนั่นก็เป็นเพียงวงจรชีวิตของคนหนึ่งคน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.