ทดลองไลฟ์ นำสิ่งที่อยู่ในใจไจไจออกมาสดๆ

ทดลองไลฟ์ในนามสำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์เป็นรอบที่สามแล้ว แม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่การเรียนเดือดมากๆ แต่กลับกลายเป็นการไลฟ์ที่เหมือนการพักผ่อน ได้กลับคืนสู่วงคุยภาษา-วรรณกรรมที่สนุก มีมุมมองที่หลากหลายของคนที่แยกย้ายกันไปทำอาชีพที่แตกต่าง

อย่างตอนที่สอง เราคุยกับมายด์-ณัฐชานันท์ กล้าหาญ เรื่องเส้นทางการเขียนงานฟิคชันที่คนเห็นครั้งแรกอาจจะรู้สึกแปลกตา และท้าทายว่าเขาจะก้าวข้ามภาษาและโครงสร้างการเล่าที่ไม่คุ้นเคยนั้นได้ไหม มายด์ทำงานเป็นทั้งนักแปล ช่างภาพ และนักเขียนสารคดีอิสระ กลับมาคุยกับพี่แบงก์ที่ตอนนี้ไปทำงานธนาคารเต็มตัว กับเราที่มาเรียนด้านรัฐศาสตร์ มีบางจุดที่เหมือนต้องจูนกันใหม่อีกรอบบ้าง และมีวลี “นิ่งคิด” แทรกอยู่ในไลฟ์เป็นระยะๆ (555) แต่คิดว่าคนที่สนใจเส้นทางการทำงานอิสระแบบมายด์ในสมัยนี้น่าจะได้มุมมองจากเพื่อนร่วมอาชีพไปบ้าง

ไลฟ์ที่สาม พี่แบงก์เชิญแขกรับเชิญคือพี่ไผ่ อัสนี มาคุยกันเรื่องภาษาไทย บาลี-สันสกฤต การแปลแต่งของคนสมัยก่อนที่ไม่ได้เรียกว่าแปลมา แต่บอกว่าตัวเอง “แต่ง” เรื่องนี้ขึ้น ในลักษณะว่าเติมแต่ง เพิ่มรายละเอียด หรือปรับปรุงกลวิธีการเล่า ฯลฯ คุยกันต่อเรื่องการเรียนวิชาการเขียนภาษาไทยเพื่อวิชาชีพ ซึ่งพี่ไผ่ร่วมสอนอยู่ด้วยที่คณะอักษรฯ จุฬาฯ เราเคยเรียนวิชานี้และได้ลองเขียนงานสารคดีส่งอาจารย์เป็นครั้งแรก แล้วได้นำงานชิ้นนั้นต่อยอดส่งเข้าค่ายสารคดีให้มาทำงานในแวดวงการเขียนอย่างทุกวันนี้ ในส่วนนี้พี่แบงก์ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า การเขียนเพื่อวิชาชีพ ไม่ได้จำกัดแค่การเขียนหนังสือราชการแล้ว แต่อาจจะหมายถึงการเขียนเพื่อลงสื่อออนไลน์ การเขียนเพื่อตอบโจทย์ SEO ฯลฯ พี่ไผ่ก็บอกว่า ใช่ ก็ต้องเริ่มมองออกไป ศึกษาดูว่าข้างนอกเขาทำอะไรกันบ้าง มีการปรับปรุงรายวิชาให้ทันสมัยบางส่วน

ท้ายๆ คลิปคือสนุกมาก เพราะคุยกันเรื่องประวัตินางวิสาขา ซึ่งมาจากหนังสือที่พี่ไผ่หยิบมาอ่านเล่นยามว่างคือ ธรรมบท ต่างจากชาดกที่เป็นเรื่องชาติก่อนๆ ของพระพุทธเจ้า แต่เป็นเรื่องราวอุธทาหรณ์ต่างๆ ที่พระพุทธเจ้า ‘เล่า’ หนึ่งในนั้นคือเรื่องของนางวิสาขา มีบทตอนที่อ่านแวบแรกแล้วจะตกใจนึกว่าเป็นฉาก 18+ ท้าทายศีลธรรม แต่ที่แท้ต้องตีความซ้อนอีกชั้นว่าเป็นการเปรียบเปรย หรือฉากที่นางวิสาขาหยุดช้างด้วยการเอาสองนิ้วคีบงวง เรียกว่าเป็นอภินิหารที่เหวอมากๆ

สุดท้ายความรู้ที่เราได้อีกอย่าง จากการที่พี่แบงก์ตั้งชื่อไลฟ์ตอนนี้มีคำว่า “ข้อมูลมหัต” ล้อกับศัพท์บัญญัติ Big Data ที่เพจราชบัณฑิตเพิ่งเผยแพร่ออกมา เราคุยกันเล่นๆ ว่าทำไมคนถึงรู้สึกต่อต้านศัพท์สมัยใหม่หลายๆ คำที่ราชบัณฑิตคิดขึ้น พี่ไผ่ก็บอกว่า อันที่จริงราชบัณฑิตบอกเสมอว่าสิ่งที่บัญญัติออกมาเป็นเพียงการแนะนำ และความไม่คุ้นเคยในคราวแรก อาจจะต้องผ่านการใช้งานไปสักพัก สุดท้ายคำนี้อาจใช้อย่างแพร่หลาย​(หรือไม่)ก็ได้ เราก็เลยรู้สึกเข้าใจมากขึ้นว่า สุดท้ายแล้วราชบัณฑิตไม่ได้บังคับว่าอะไรผิดหรือถูกขนาดนั้น เป็นเราที่ต้องมาปรับใช้เอาเองเท่าที่เห็นว่าเหมาะสม

ยกตัวอย่างเช่น ตอนปรู๊ฟงานนิตยสาร หลายๆ ที่จะมีคัมภีร์คำศัพท์เอาไว้ หากถอดศัพท์ไม่ตรงตามราชบัณฑิต อย่างน้อยก็ต้องเสมอต้นเสมอปลายกับที่เคยเขียนไว้ในฉบับก่อนๆ หรือแม้แต่ในเล่มเดียวกัน หรืออย่างกรณีไจไจบุ๊คส์ เราก็ใช้การเว้นวรรคไม้ยมกแบบเว้นหลังอย่างเดียว เพื่อความไหลลื่นในการอ่าน ซึ่งพี่แบงก์ก็เห็นว่าไม่ได้ส่งผลต่อความหมายแต่อย่างใด ตรงกันข้าม การเว้นหน้า-หลัง อาจทำให้มีปัญหาในการตัดคำขึ้นบรรทัดใหม่ตอนจัดหน้ามากขึ้น คือปัญหาทางเทคนิคแบบนี้มันทำให้เห็นเหตุผลที่คนเราควรอะลุ่มอล่วยให้กับหลักการต่างๆ โดยที่ไม่ต้องไปชี้กลับว่าราชบัณฑิตน่ะผิด

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.