วันแรกที่โซล ซื้อของเข้าห้องชั้นกึ่งใต้ดิน

วันแรกที่เกาหลี นั่งรถตู้ (ทุนรัฐบาลเกาหลีส่งมาบริการให้พี่ข้าว) จากสนามบินอินชอนเข้าเมือง ซื้อซิมสำหรับต่างชาติแบบ 1 เดือนมาใช้ก่อน ซื้อแบบเล่นเนตได้อย่างเดียว เพราะก่อนจะมีเบอร์มือถือจริงๆ ได้ จะต้องไปลงทะเบียนทำบัตรคนต่างชาติก่อน

มาถึงสถานีรถไฟอีแด (อีแด ก็คือ ม.อีฮวา แบบเรียกย่อสั้น)​ ประมาณ 8 โมง ยังไม่ถึงเวลานัดกับนายหน้าที่ปล่อยเช่าห้อง ซึ่งเขาจะเปิดออฟฟิศประมาณ 10 โมง ก็เลยนั่งรอตรงร้านกาแฟ Cafe Adagio ติดกับทางลงสถานี ดีใจที่มีที่ชาร์จแบตให้ด้วย มีแบบชาร์จไร้สายด้วย ลองใช้ซัมซุง Note 9 ของพี่ข้าวทดสอบแล้วก็ใช้ได้ดี

ที่ชาร์จแบตในร้านกาแฟ

เรื่องระทึกใจแวบหนึ่งคือ พี่ข้าวเจ็บมือเลยเผลอปล่อยกระเป๋าล้อลากไว้บนทางเท้า พื้นที่นี่เรียบแต่ลาดเอียงเล็กน้อยตามสภาพภูมิประเทศ มันก็เลยไถลลื่นวิ่งหนีเราไปเกือบลงถนน (แต่พื้นก็ช่วยเบรกไว้ได้ก่อน)

อาจารย์โอ เพื่อนอาจารย์ของพี่ข้าวที่เคยไปสอนที่จุฬาฯ และเพิ่งกลับมาเกาหลีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขับรถมาจากบ้านซึ่งห่างออกไปหนึ่งชั่วโมง มาช่วยพาไปที่บริษัทนายหน้า และช่วยฟังและอ่านเอกสารตอนที่กำลังจะเซ็นสัญญา

ที่นี่เขาใช้วิธีแปะลายนิ้วโป้งในเอกสารทุกแผ่นในเอกสารสัญญา แทนการลงนาม เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าไปเซ็นก็คงไม่ได้

สำหรับการหาห้องเช่า พวกเราทำกันมาล่วงหน้าตั้งแต่อยู่ที่ไทยแล้ว ดูคลิปพี่ข้าวเล่าเรื่องการหาห้องเพิ่มเติมได้ที่นี่ เราต้องวางค่าจอง 10% ของค่ามัดจำทั้งหมดโดยใช้วิธีโอนเงินต่างประเทศ แล้วเอาค่ามัดจำที่เหลือมาวางที่นี่ตอนทำสัญญา

บริษัทนายหน้าอสังหาในเกาหลี
บริษัทนายหน้าอสังหาฯ ในเกาหลี

เข้าไปดูห้องที่อยู่ชั้นกึ่งใต้ดิน สภาพปรับปรุงใหม่ ดูดีมาก แม้บางส่วนจะเก็บงานไม่เนี้ยบ ยังมีพลาสติกติดบางจุด และเปิดเห็นผนังปูนใต้ซิงก์ แต่มีอุปกรณ์ให้ครบ ทั้งตู้เย็น ไมโครเวฟ เตาไฟฟ้า แถมตอนค่ำๆ เจ้าของตึกยังแบกเครื่องลดความชื้นมาให้ บอกว่าไม่เคยใช้เหมือนกัน ลองทำดูนะ

สาเหตุที่เครื่องลดความชื้นกลายเป็นของจำเป็น เพราะว่าห้องชั้นกึ่งใต้ดินนั้นขึ้นชื่อเรื่องความชื้นสูง หน้าหนาวจะยิ่งหนาวมาก และถ้าชื้นแบบไม่ดูแลห้องให้ดี ก็อาจขึ้นราได้ …อึ๋ยยย

ห้องชั้นกึ่งใต้ดิน
หน้าต่างปิดล็อกอัตโนมัติ มีบังตาให้หนึ่งข้างเผื่ออยากเปิดรับลมแต่ไม่ให้ชาวบ้านเห็น

นายหน้าแนะนำการปรับอุปกรณ์ต่างๆ ในห้อง เช่น อินเตอร์เน็ต แอร์ เครื่องทำความอุ่นซึ่งให้หมุนปุ่มไปตามฤดูกาล หน้าหนาวพื้นจะอุ่น และการตั้งรหัสผ่านประตูล็อกอิเล็กทรอนิกส์ มีการ์ดใบจิ๋วๆ ขนาดที่ห้อยกระเป๋าหรือพวงกุญแจได้ และอีกใบเป็นแผ่นสติกเกอร์ จะเอาไปติดกับมือถือก็ได้

รวมทั้งแนะนำเรื่องแยกขยะอย่างคร่าวๆ ทำให้พี่ข้าวนี่เครียดเลย ตอนอยู่หอไม่เคยต้องแยกละเอียดขนาดนี้ เดี๋ยวถ้าทำถูกแล้วจะมาเขียนเล่าเรื่องนี้บ้าง

แยกขยะ เกาหลี
ถุงขยะที่เขตมาโพ แต่ละสีคือขยะแต่ละประเภท ถุงนี้หน่วยงานรัฐเป็นคนขาย จะเอาถุงอื่นมาใช้ทิ้งขยะไม่ได้นะ (ยกเว้นขยะรีไซเคิล)

สภาพห้องตอนนี้

พอเช็คห้องเรียบร้อยแล้ว อาจารย์โอก็พาไปกินซุนแดกุก ที่ร้านเจ้าประจำของพี่ข้าวสมัยมาเรียน ป.โท เมื่อ 5 ปีที่แล้ว พนักงานยังจำหน้าพี่ข้าวได้ แล้วถามว่ามาเกาหลีเมื่อไหร่เนี่ย ทั้งๆ ที่เราว่าหน้าพี่ข้าวเปลี่ยนไปเยอะมากจากลุคสาวเกาหลีเมื่อสมัยก่อน (ฮ่าๆ)

อิ่มท้องแล้วก็ไป eMart เพื่อซื้อของใช้จำเป็นต่างๆ ถือว่าสะดวกมาก เพราะเมื่อซื้อเสร็จ เราจะขนของขึ้นรถอาจารย์โอได้เลย แต่รถเป็น Kia คันเล็กน่ารัก ตอนใส่ของเข้าไปเลยแน่นรถไปหมด จนพี่ข้าวต้องถามอาจารย์โอว่าแบบนี้อันตรายไหม อาจารย์บอกแค่ว่า “เกว็นชันนาๆๆ อันวีฮอมเฮ”

ส่วนตอนที่เราตื่นเต้นจนร้องว้าวเสียอาการ เหมือนเพิ่งเคยเข้ากรุง ก็คือตอนที่อาจารย์โอไปเข้าที่จอดรถ จานหมุนบนพื้นช่วยหันหัวรถให้ ขับรถเข้าไปในลิฟต์ แล้วก็เดินออกมา รับบัตรจอดรถ แค่นี้ก็เสร็จแล้ว ตอนที่เราถ่ายวิดีโอนี่ คุณลุงที่นั่งเฝ้าอยู่ก็เล่าให้พี่ข้าวฟังใหญ่เลย ว่ามันฟ้าบ เฟิ้บ คว้าก อย่างโน้นอย่างนี้ …ให้นึกถึงหนังเกาหลีที่ตัวละครใส่อารมณ์ในแต่ละประโยค ซึ่งเราฟังไม่ออกหรอก

หมดเงินกับการซื้อที่หลับที่นอนและของใช้จำเป็นไปเป็นหมื่นบาท แต่ก็ยังมีของที่ขาดอีกหลายรายการ วันต่อไปค่อยซื้อมาเพิ่ม

ตอน 1 ทุ่มท้องฟ้ายังสว่างแบบสลัวๆ ออกไปกินอาหารแถวมหา’ ลัยกัน ในร้านมีต่างชาติโต๊ะอื่นๆ อยู่ ทั้งหัวดำ หัวทอง ฯลฯ แต่พูดเกาหลีกันคล่องแคล่ว

วันนี้ไม่เจอคนใจร้าย มีแต่คนใจดีตั้งแต่ชายเกาหลีที่ยกกระเป๋าลงให้บนเครื่องบิน เจ้าของบ้านที่ดูอายุน้อยและเป็นกันเองกว่าที่คิด อาจารย์โอที่มาช่วยขนของให้ ท่าทางเหนื่อยน่าดู

และนี่ก็คือวันแรกของเราที่โซล

1 คิดบน “วันแรกที่โซล ซื้อของเข้าห้องชั้นกึ่งใต้ดิน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.